WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaaB13

โคราชต้องเดินหน้าต่อ...วีรศักดิ์..ดึง กรมพัฒน์ฯ เยียวยาภาคธุรกิจและประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดนครราชสีมา และจะทำต่อเนื่องตลอดทั้งปี...จนกว่าโคราชกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง

     รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ เดินหน้าเยียวยาภาคธุรกิจและประชาชน ดึงกรมพัฒน์ฯ ลงพื้นที่ฟื้นฟูขวัญกำลังใจชาวโคราช พร้อมสร้างบรรยากาศที่ดีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดนครราชสีมา และจะทำต่อเนื่องตลอดทั้งปี...จนกว่าโคราชกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง ประเดิมจัดกิจกรรมใหญ่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ นี้ ที่เทอร์มินอล 21 ...ถึงอย่างไรโคราชก็ต้องเดินหน้าต่อ...โชว์พลังสามัคคี...คนไทยไม่มีวันทิ้งกัน

      นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมาจังหวัดนครราชสีมาเกิดเหตุการณ์สูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งโดยส่วนตัวเป็นห่วงความรู้สึกของชาวโคราชเป็นอย่างมาก จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลในกระทรวงพาณิชย์เร่งฟื้นฟูเยียวยาภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างสุดสรรพกำลัง เพื่อให้ชาวโคราชสามารถเดินต่อไปได้ด้วยความแข็งแกร่ง พร้อมสร้างบรรยากาศที่ดีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดนครราชสีมาให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง"

      เบื้องต้น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ประกอบการ/ประชาชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยจะดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี มาตรการระยะสั้น ได้แก่ 1. มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 ประกอบด้วย 1.1) จัดกิจกรรมออกบูธให้คำปรึกษาแนะนำ/ให้ความช่วยเหลือด้านการจัดทำบัญชีและการวางแผนทางภาษี โดยร่วมมือกับสำนักงานบัญชีคุณภาพในพื้นที่ จำนวน 2 สำนักงาน คือ บริษัท ขจรศรี (การบัญชี) จำกัด และ บริษัท สำนักงานธุรกิจการบัญชี จำกัด 1.2) ให้คำปรึกษาด้านการเงินและการให้เงินกู้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษเพื่อฟื้นฟูกิจการ

      โดยร่วมมือกับสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตรกับกรมฯ ซึ่งกิจกรรมการให้คำปรึกษาฯ ดังกล่าวจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โดยตนจะเป็นประธานเปิดงานและเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประกอบการและประชาชนภายในศูนย์การค้าฯ ด้วย 2) ขยายระยะเวลาการนำส่งงบการเงินให้แก่นิติบุคคลที่มีสถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ ณ จังหวัดนครราชสีมาที่ต้องนำส่งงบการเงินในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2563 โดยขยายระยะเวลาที่ต้องนำส่งงบการเงินออกไปอีก 2 เดือน"

       ". มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและเพิ่มยอดขายให้แก่ผู้ประกอบการ สร้างความเชื่อมั่นและเกิดการใช้จ่ายภายในศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 ซึ่งเป็นมาตรการระยะยาว ได้แก่ 2.1) จัดสัมมนาภายใต้โครงการ "บัญชี...ชี้ช่องรวย" โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตสามารถนับชั่วโมงพัฒนาความรู้ (CPD) ได้ 6 ชั่วโมง เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีและความเข้าใจในงบการเงิน ระบบภาษีอากรที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ การวิเคราะห์งบการเงินและการใช้ข้อมูลทางบัญชี กลุ่มเป้าหมาย

     คือ ผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชี และนิสิตนักศึกษา จำนวน 300 ราย 2.2) จัดกิจกรรม MOU ภายใต้โครงการนักบัญชีคุณภาพรุ่นใหม่ (Young & Smart Accountants) ร่วมกับสถาบันการศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ - ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ศูนย์กลางนครราชสีมา - ม.วงษ์ชวลิตกุล - วิทยาลัยเทคโนโลยีพนมวันท์ รวมถึง การจัดอบรมให้ความรู้การทำการค้าออนไลน์แก่ผู้ประกอบการ นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจ เป็นการขยายช่องทางการตลาดให้กว้างและครอบคลุมกลุ่มลูกค้ามากขึ้น 2.3 ดำเนินกิจกรรม/การอบรมสัมมนาที่กรมฯ กำลังจะจัดทั้งหมดตลอดปี 2563 ในจังหวัดนครราชสีมา ทั้งศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 ศูนย์การค้าใกล้เคียง โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า หรือลานกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจโคราชกลับมาสดใสอีกครั้ง"

      นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าขอความร่วมมือหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนให้ร่วมดำเนินกิจกรรมของแต่ละหน่วยงานภายในจังหวัดนครราชสีมามากขึ้น เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของจังหวัด และสร้างความคึกคักให้แก่เมืองโคราช ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญที่จะทำให้เมืองโคราชสามารถเดินหน้าต่อไปได้ด้วยความแข็งแกร่ง นับเป็นความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ที่แสดงให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเห็นว่า "คนไทยไม่ว่าจะอยู่จังหวัดใดเมื่อเจอเหตุการณ์เดือดร้อน...คนไทยก็พร้อมที่จะรวมพลังช่วยเหลือและไม่มีวันทิ้งกัน" รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย

 

วีรศักดิ์ สั่งกรมพัฒน์ฯ เยียวยาธุรกิจ-ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงในโคราช

      วีรศักดิ์ สั่งการกรมพัฒนาธุรกิจการค้าออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดโคราช ส่งทีมลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการทำบัญชี วางแผนด้านภาษี ช่วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และขยายระยะเวลาส่งงบการเงิน พร้อมเดินหน้าจัดอบรม สัมมนา และกิจกรรมต่างๆ ในโคราชอีกเพียบ หวังช่วยเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ

     นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ประกอบการ ประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดนครราชสีมาแล้ว โดยมาตรการระยะสั้น ที่จะดำเนินการได้ในทันที คือ การช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ในศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โดยได้ร่วมมือกับสำนักงานบัญชีเข้าไปช่วยเหลือด้านการจัดทำบัญชีและการวางแผนทางภาษี ให้คำปรึกษาด้านการเงินและการกู้เงินดอกเบี้ยอัตราพิเศษเพื่อฟื้นฟูกิจการ และยังได้ขยายระยะเวลาในการนำส่งงบการเงินให้แก่นิติบุคคลที่มีสถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา ที่ต้องนำส่งงบการเงินเดือนก.พ.-พ.ค.2563 โดยขยายระยะเวลาให้อีก 2 เดือน

    ส่วนมาตรการระยะยาว ที่จะดำเนินการต่อ จะเข้าไปจัดอบรม สัมมนา และกิจกรรมต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา ทั้งในศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 ศูนย์การค้าใกล้เคียง โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า หรือลานกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัด และยังจะจัดอบรมให้ความรู้การทำการค้าออนไลน์แก่ผู้ประกอบการ นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจ เพื่อเป็นการขยายช่องทางการตลาดให้กว้างและครอบคลุมกลุ่มลูกค้ามากขึ้นด้วย

    นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าขอความร่วมมือหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ร่วมดำเนินกิจกรรมของแต่ละหน่วยงานภายในจังหวัดนครราชสีมาเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของจังหวัด และสร้างความคึกคักให้แก่เมืองโคราช

 

กรมสุขภาพจิต จัดทีมเอ็มแคท เยียวยาใจเหตุกราดยิงที่โคราชเต็มพิกัด

    อธิบดีกรมสุขภาพจิต เยี่ยมให้กำลังใจผู้บาดเจ็บจากเหตุกราดยิงที่จ.นครราชสีมา ที่รพ.มหาราชนครราชสีมา พบกำลังใจดีขึ้น เผยผลการปฏิบัติงานของ 15 ทีมเยียวยาจิตใจหรือเอ็มแคทในรอบ 3 วัน ลงปฏิบัติงาน 12 จุดเต็มพิกัด เช่นที่ห้างสรรพสิค้าเทอร์มินอล 21 วัดป่าศรัทธารวม ขณะนี้ดูแลครอบคลุมกลุ่มเร่งด่วน คือ ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตรวม 88 คน และญาติครบถ้วน ผลการตรวจสุขภาพจิต 247 คน พบเครียดระดับสูง 91 คน ในจำนวนนี้ 9 คนหวาดกลัวรุนแรง วันนี้ลงปฏิบัติการ 7 จุด 8 ทีม

      เช้าวันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2563) ที่รพ.มหาราชนครราชสีมา นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจผู้บาดเจ็บจากเหตุกราดยิงที่จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 ที่พักรักษาตัวอยู่ที่รพ.มหาราชฯ จำนวน 21 คน และเยี่ยมให้กำลังใจทีมเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการดูแลช่วยเหลือประชาชนทั้งทางกายและใจ โดยมีนายแพทย์ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้อำนวยการรพ.มหาราชนครราชสีมา และนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครราชสีมา ให้การต้อนรับ

      นายแพทย์เกียรติภูมิ ให้สัมภาษณ์ว่า จากการพูดคุยกับผู้บาดเจ็บและญาติพบว่า ทุกคนมีขวัญกำลังใจดีขึ้น บางคนยังมีความวิตกกังวลอยู่บ้าง โดยในส่วนของการดูแลผลกระทบทางจิตใจในภาพรวมนั้นขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้ระดมทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาะวิกฤติหรือทีมเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ทั้งในและนอกสังกัดจำนวน 15 ทีม รวม 73 คน มีผู้เชี่ยวชาญทั้งผู้ใหญ่ เด็ก และวัยรุ่น ให้การดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุครั้งนี้ โดยได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการทีมเอ็มแคทฉุกเฉินอยู่ที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ มีนายแพทย์ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นผู้บัญชาการศูนย์ และมีนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ เพื่อให้การทำงานครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มมีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สภาพจิตจิตใจของประชาชนฟื้นคืนกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วและมีความปลอดภัยที่สุด

      ทั้งนี้ ได้จัดแผนการดูแลออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ปฏิบัติงานเต็มพิกัด กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้รอดชีวิต และบาดเจ็บ รวมทั้งหมด 88 คน ประกอบด้วยครอบครัวของผู้เสียชีวิต 30 ราย บาดเจ็บ 58 คน ซึ่งผู้บาดเจ็บขณะนี้ รักษาและกลับบ้านแล้ว 33 คน ยังเหลือนอนพักรักษาตัวที่รพ. 25 คน ทีมเอ็มแคทได้ดูแลจิตใจกลุ่มนี้ทั้งหมดแล้ว ผลการประเมินสภาวะทางจิตใจในรอบ 3 วัน ระหว่าง 8-10 กุมภาพันธ์ 2563 ตรวจทั้งหมด 247 คน พบเครียดในระดับสูง 91 คน ในจำนวนนี้ พบมี 9 คน มีอาการหวาดกลัวรุนแรง นอนไม่หลับ ต้องให้การรักษาเพื่อคลายเครียด อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่และติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่เหลืออีก 156 คนเครียดระดับน้อยถึงปานกลาง ได้ให้การปฐมพยาบาลทางใจและปรึกษาคลายเครียด และจะติดตามประเมินเป็นระยะๆ ตามแผน

      นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับในกลุ่มของผู้เสียชีวิต 30 ราย ซึ่งมีภูมิลำเนาใน 9 จังหวัด ดังนี้ จ.นครราชสีมา 20 ราย กทม. 2 ราย สมุทรปราการ 1 ราย นราธิวาส 1 ราย บุรีรัมย์ 2 ราย ที่ราชบุรี สมุทรสาคร อุดรธานี และสกลนคร จังหวัดละ 1 ราย กรมสุขภาพจิตได้จัดระบบดูแลจิตใจของครอบครัวอย่างต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้รพ.จิตเวชที่ดูแลพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งรพ.ในพื้นที่ให้การดูแลร่วมกัน ไปจนกว่าจะหมดความเสี่ยงและกลับคืนสู่สภาวะปกติ

      อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่ออีกว่า มาตรการดูแลในกลุ่มที่ 2 ได้แก่ ผู้อยู่ในเหตุการณ์และเห็นเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด เช่นผู้ที่ทำงานในห้างเทอร์มินอล 21 นักเรียนที่ไปจัดกิจกรรมในห้าง กลุ่มนี้จะเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจและการตรวจคัดกรองหาผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดผลกระทบเพื่อให้การเยียวยาต่อไป และกลุ่มที่ 3 คือ ประชาชน ที่ถูกช่วยออกมาจากห้างในคืนที่เกิดเหตุ ซึ่งได้จัดจุดให้บริการ 2 แห่ง คือ ในรพ.มหาราชฯและที่รพ.จิตเวชโคราช หรือสามารถขอรับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง หรือปรึกษาที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ หมายเลข 044-233999 ตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน โดยมีผู้มาขอคำปรึกษาด้วยอาการตกใจง่าย หวาดผวา นอนไม่หลับ ที่ รพ.มหาราชฯ และ รพ.จิตเวชฯ รวม 8 คน

      ทางด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ ได้จัดทีมเอ็มแคท จำนวน 8 ทีม ออกปฏิบัติงานเยียวยาที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21, รพ.ป.แพทย์, รพ.ค่ายสุรนารี, รพ.เซนต์แมรี่,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และทีมลงชุมชนต่างๆ ต่อเนื่อง

      สำหรับ การปฏิบัติงานของทีมเอ็มแคทในช่วงวันที่ 8-10 ก.พ. 2563 จำนวน 15 ทีม ปฎิบัติการในพื้นที่ 12 จุด ทั้งในสถานที่ที่เกิดเหตุและใกล้เคียง ได้แก่ ที่รพ.มหาราชจ.นครราชสีมา ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 ชุมชนท่าตะโก ชุมชนโพธิพันธ์ ชุมชนอรุณสามัคคีโชคดี ชุมชนโนนฝรั่ง วัดดอนขวาง วัดป่าศรัทธารวม วัดคลองไผ่ ชุมชนหนองปรุ บ้านพักของผู้ก่อเหตุในโคราช และที่บ้านที่จ.ชัยภูมิด้วย ซึ่งจะมีการประเมินผลการดำเนินงานทุกวัน

กรมสุขภาพจิต ประกาศแผนเยียวยาจิตใจ 4 ระยะ รับมือผลกระทบทางด้านจิตใจจากเหตุกราดยิงที่จ.นครราชสีมา

            กรมสุขภาพจิต ประกาศแผนเยียวยาจิตใจ 4 ระยะ ได้แก่ ระยะฉุกเฉิน ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมทั้งได้ระดมบุคลากรด้านสุขภาพจิตเข้าช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบแล้ว จากเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา ที่เกิดขึ้นวานนี้

      นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวถึง กรณีเหตุกราดยิงที่จ.นครราชสีมา ที่เกิดขึ้นวานนี้ว่า กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีม MCATT (ทีมวิกฤติสุขภาพจิต) เพื่อเข้าดูแลจิตใจประชาชนเป็นการเร่งด่วนตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา และภายในช่วงเช้านี้ ได้มีการจัดทีมบุคลากรด้านสุขภาพจิตเพิ่มเติม ประกอบด้วยทีมจากโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ศูนย์สุขภาพจิตที่ 9 โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมบูรณาการกับทีม MCATT ในพื้นที่ โดยกรมสุขภาพจิตแบ่งหน้าที่การทำงานออกเป็น 3 ส่วน คือ การสนับสนุนด้านวิชาการ การเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงาน และการลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติงาน ซึ่งในกรณีหากมีผู้ได้รับผลกระทบมากขึ้น กรมสุขภาพจิตยังได้ทำการเตรียมทีม MCATT สำรองสำหรับการดูแลผู้ป่วยทั่วไปจำนวน 8 ทีม และดูแลเด็กและเยาวชนจำนวน 3 ทีม

      นพ.เกียรติภูมิ ยังกล่าวต่ออีกว่า กรมสุขภาพจิตจะดำเนินการแผนเยียวยาจิตใจ 4 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะฉุกเฉิน (72 ชั่วโมงแรก) ซึ่งประชาชนที่ได้รับผลกระทบอาจเกิดภาวะเครียด วิตกกังวล สับสน มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีม MCATT เพื่อเข้าประเมินประชาชน คัดกรอง และให้ความช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนเรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับความสูญเสียโดยตรง
  2. ระยะสั้น (2 สัปดาห์แรก) ผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอาจยังได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจอย่างต่อเนื่อง อาจเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นบางประการ เช่น เบื่อหน่าย ซึมเศร้า ท้อแท้ ไม่สามารถปรับตัวได้ ประชาชนอาจมีความวิตกกังวลในการกลับไปใช้ชีวิตประจำวัน กรมสุขภาพจิตโดยทีม MCATT และโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จะให้การบำบัดรักษาในรายที่จำเป็น เริ่มทำกิจกรรมต่างๆกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย เกิดพลังใจทางบวก เกิดความยืดหยุ่นทางจิตใจ พร้อมที่จะกลับไปชีวิตตามปกติหลังจากนี้ และติดตามผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง
  3. ระยะกลาง (6 เดือน) ในกลุ่มที่ยังมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตอยู่จะทำการติดตามต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อติดตามปัญหาด้านสุขภาพจิตที่อาจเกิดตามมาในภายหลังได้ เช่น โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ หรือ PTSD เป็นต้น
  4. ระยะยาว กรมสุขภาพจิตจะยังคงติดตามเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมไปถึงครอบครัวของผู้ได้รับบาดเจ็บและสูญเสีย ที่อาจยังต้องการความช่วยเหลือด้านจิตใจ ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติที่สุด

      ทั้งนี้ หากประชาชนพบความผิดปกติด้านจิตใจของตนเองหรือคนใกล้ชิด ประชาชนในพื้นที่สามารถไปพบจิตแพทย์ได้ที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ หรือติดต่อขอคำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

กรมสุขภาพจิต เตรียมส่งทีมเข้าดูแลจิตใจชาวโคราช พร้อมแนะนำแนวทางการดูแลผลกระทบทางจิตใจของตนเองและคนใกล้ชิด

               กรมสุขภาพจิต เตรียมส่งทีมเข้าดูแลจิตใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา โดยเตรียมส่งทีม MCATT (ทีมวิกฤติสุขภาพจิต) เพื่อเข้าดูแลจิตใจประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยกรมสุขภาพจิตแนะนำแนวทางในการดูแลตัวเองและคนใกล้ชิด เพื่อดูแลผลกระทบทางจิตใจของตนเองและคนใกล้ชิด

      นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวถึง กรณีเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา ที่เกิดขึ้นวานนี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดจากวิกฤติน้ำมือมนุษย์ที่มีความมุ่งหมายเอาชีวิตนั้น จะส่งผลรบกวนความรู้สึกปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่บริเวณรอบพื้นที่ที่เกิดเหตุถึงแม้ว่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์โดยตรงก็ตาม ผลกระทบนี้ ยังสามารถเกิดแก่ประชาชนทั่วไปได้อีกด้วย ซึ่งขณะนี้กรมสุขภาพจิตได้เตรียมการดูแลสภาพจิตใจของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเตรียมส่งทีม MCATT (ทีมวิกฤติสุขภาพจิต) เพื่อเข้าดูแลจิตใจประชาชนอย่างเร่งด่วน

      นพ.เกียรติภูมิ ยังกล่าวต่ออีกว่า นอกจากนั้น เพื่อดูแลผลกระทบทางจิตใจของตนเองและคนใกล้ชิด โดยกรมสุขภาพจิตแนะนำแนวทางในการดูแลตัวเองและคนใกล้ชิด ดังนี้

  1. ดูแลสุขภาพกายและใจของตนเอง เพื่อเตรียมการดูแลจิตใจของคนรอบข้าง ให้พยายามรับประทานอาหาร นอนหลับพักผ่อน ออกกำลัง และพยายามใช้ชีวิตปกติเท่าที่เป็นไปได้
  2. ให้ความสำคัญกับอารมณ์ของตนเองซึ่งอาจเกิดความรู้สึกมากมายในจิตใจ ต้องให้เวลาในการจัดการและช่วยเหลือตนเองและคนรอบข้างให้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้
  3. หมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์และความรู้สึกตัวเอง การมีความเปลี่ยนแปลงด้านการกิน การนอน รู้สึกหมดกำลัง และอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ซึ่งเป็นสัญญานของระดับความเครียดสูง ถ้าเป็นเด็กและเยาวชน จะมีอาการถดถอย เช่น เกาะคนดูแลแน่น ร้องไห้ หรือแสดงอารมณ์รุนแรง
  4. หลีกเลี่ยงการรับข่าวที่มากเกินไปจากสื่อ ภาพความรุนแรงต่างๆ รวมไปถึงข่าวปลอมและข่าวลือ อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะเครียดและปัญหาด้านสุขภาพจิตภายหลังเผชิญภัยพิบัติ
  5. พยายามหาวิธีช่วยให้ติดต่อกับเพื่อนและครอบครัว เพื่อช่วยกันสนับสนุนด้านอารมณ์ให้ผ่านช่วงที่ยากลำบาก
  6. เพิ่มการพูดคุยและติดต่อกับผู้อื่นเท่าที่ทำได้ เพื่อระบายความรู้สึก ช่วยเหลือพูดคุยกับคนรอบข้างโดยเน้นที่ความเข้มแข็งของบุคคลที่สามารถจัดการความยากลำบากไปได้

      ทั้งนี้ หากพบความผิดปกติ ควรรีบพาไปพบจิตแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือติดต่อขอคำปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว

กรมสุขภาพจิต แนะการติดตามดูแลเด็กและเยาวชนที่ประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญ

            กรมสุขภาพจิต แนะวิธีการติดตามดูแลเด็กและเยาวชนที่ประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญและอาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม จากเหตุการณ์กราดยิงที่ จ.นครราชสีมา ที่เกิดขึ้นวานนี้

      นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้กล่าวถึง กรณีเหตุกราดยิงที่จ.นครราชสีมา ที่เกิดขึ้นวานนี้ว่า หลังจากกรมสุขภาพจิตได้ส่งทีม MCATT (ทีมวิกฤติสุขภาพจิต) เพื่อเข้าดูแลจิตใจประชาชนเป็นการเร่งด่วนตั้งแต่ช่วงคืนวานจนถึงบ่ายวันนี้พบว่า มีเด็กและเยาวชนมาเข้ารับการประเมิน 4 ราย โดยทั้ง 4 รายนี้ ได้รับการดูแลด้านจิตใจเบื้องต้นจนเข้าสู่ภาวะปกติ และสามารถกลับบ้านได้ โดยจะมีการติดตามต่อเนื่องเป็นระยะ แต่ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตคาดว่า มีเด็กและครอบครัวอีกจำนวนมากที่อาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้น และได้เดินทางกลับบ้านไปก่อนแล้วระหว่างความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในช่วงคืนวาน ซึ่งกรมสุขภาพจิตกำลังติดตามเพื่อประเมินเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ให้ได้ครอบคลุมมากที่สุด

      นพ.เกียรติภูมิ ยังกล่าวต่ออีกว่า กรมสุขภาพจิตขอเน้นย้ำความสำคัญของผู้ปกครองและครอบครัวในการติดตามอาการของเด็กและเยาวชนที่อยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เนื่องจากเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพจิต เพราะเด็กมักมีความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงน้อย รู้สึกว่าตนเองไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และไม่เคยมีประสบการณ์ในการรับมือกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเด็กได้ 4 ด้าน ได้แก่ (1) ปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ตกใจง่าย ฝันร้าย (2) ปัญหาด้านพัฒนาการ เช่น พัฒนาการหยุดชะงัก ฉี่รดที่นอน (3) ปัญหาด้านการเรียน เช่น สมาธิแย่ลง หนีเรียน การเรียนตก และ (4) ปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น ก้าวร้าว เก็บตัว เซื่องซึม เป็นต้น นอกจากนี้ ในระยะยาวอาจเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมา เช่น โรคซึมเศร้า โรค PTSD และปัญหาพฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรง

      ทั้งนี้ ผู้ปกครองและครอบครัวจะช่วยให้เด็กรับมือกับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงได้โดย

  1. ให้เด็กได้เล่าและพูดถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ถ้าเด็กต้องการเล่าโดยอย่าบังคับ กระตุ้นให้เด็กได้แบ่งปันความคิด และถามคำถามต่างๆ
  2. ให้เด็กได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ปกครอง ครู หรือผู้ใหญ่ที่ไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อให้เด็กรู้สึกปลอดภัย สงบ เชื่อมต่อ และรู้สึกมีความหวัง
  3. ลดการดูสื่อที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น
  4. เมื่อเด็กพร้อมควรกระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วมในการจัดการผลกระทบบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อให้เด็กมีความรู้สึกว่า ตนเองสามารถควบคุมสถานการณ์ได้บ้าง เช่น เป็นอาสาสมัครในการสร้างชุมชนปลอดภัย แต่ควรงดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถานที่เกิดเหตุโดยเด็ดขาด

      โดยหากพบความผิดปกติทางความคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรมในเด็ก ควรรีบพาไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือ โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง  

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!