- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 11 February 2020 23:52
- Hits: 5385
พาณิชย์ ตั้งเป้าส่งออกข้าวปี 63 ปริมาณ 7.5 ล้านตัน พร้อมลุยพัฒนาข้าวพื้นนิ่มขายสู้คู่แข่ง
กรมการค้าต่างประเทศตั้งเป้าส่งออกข้าวไทยปี 63 ปริมาณ 7.5 ล้านตัน หลังปีนี้ ภัยแล้งทำผลผลิตลด บาทแข็งทำข้าวไทยแพง แข่งขันได้ยาก แถมจีนสต๊อกล้น หันส่งออกแย่งตลาดข้าวไทย ชี้ข้าวไทยยังไม่หลากหลาย นัดถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 14 ก.พ.นี้ ดันผลิตข้าวพื้นนิ่ม กข 79 สู้คู่แข่ง พร้อมเดินหน้าปรับปรุงมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยใหม่ และเตรียมลุยโปรโมตข้าวไทยต่อเนื่อง ส่วนปี 62 ไทยส่งออกได้ 7.58 ล้านตัน รั้งอันดับ 2 ของโลกรองอินเดีย
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปี 2563 กรมฯ ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวไว้ที่ปริมาณ 7.5 ล้านตัน ลดลงจากปี 2562 ที่ส่งออกได้ 7.58 ล้านตัน เพราะคาดว่า ผลผลิตข้าวไทยปีนี้จะลดลงมาก จากปัญหาภัยแล้ง รวมถึงค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนาม อินเดีย และต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าคู่แข่ง ทำให้ราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่งมาก และผู้ซื้อหันไปซื้อข้าวจากคู่แข่งแทน อีกทั้งจีน ซึ่งเคยเป็นผู้นำเข้า แต่ปัจจุบันได้กลายมาเป็นผู้ส่งออกและแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในบางประเทศ โดยเฉพาะแอฟริกา เพราะมีสต๊อกข้าวปีนี้มากกว่า 120 ล้านตัน รวมถึงข้าวไทยไม่มีความหลากหลายมากพอ ที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าในหลายกลุ่ม จึงทำให้ตลาดข้าวบางชนิดกลายเป็นของคู่แข่งแทน โดยเฉพาะข้าวพื้นนิ่ม จึงต้องมีการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออกข้าวของไทย
“กระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดแผนงานพัฒนาศักยภาพการแข่งขันข้าวไทย โดยจะเน้นการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด อย่างปัจจุบัน ผู้ซื้อหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ฮ่องกง หรือแม้แต่จีน ต้องการข้าวพื้นนิ่ม ที่มีความนุ่ม ซึ่งข้าวหอมมะลิไทยก็ใช่ แต่มีราคาแพง จึงต้องพัฒนาข้าวพื้นนิ่มสายพันธุ์อื่นเข้ามาทำตลาดแข่งกับข้าวพื้นนิ่มของคู่แข่งที่ราคาถูกกว่า โดยจะมีการประชุมร่วมกันในวันที่ 14 ก.พ.นี้”นายกีรติกล่าว
โดยข้าวพื้นนิ่มของไทยที่จะเร่งพัฒนาเพื่อผลักดันเข้าสู่ตลาดต่างประเทศเพิ่มเติม เช่น ข้าวกข 79 ซึ่งเป็นข้าวขาวสายพันธุ์ใหม่ ที่มีความนุ่มกว่าข้าวขาวสายพันธุ์อื่นของไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน และน่าจะแข่งขันได้กับข้าวพื้นนิ่มของเวียดนาม อย่างข้าวหอมพวงเวียดนาม ที่ตลาดต่างประเทศกำลังนิยมบริโภคได้ เพราะราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิไทย โดยขณะนี้อยู่ในขั้นทดลองปลูก และน่าจะเพาะปลูกเชิงพาณิชย์ได้เร็วๆ นี้ ซึ่งผู้ส่งออกแจ้งว่า ผลิตได้เท่าไรจะรับซื้อทั้งหมด เพื่อนำไปทำตลาดแข่งกับคู่แข่ง
นอกจากนี้ จะมีการทบทวนมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยใหม่ เพื่อให้ตรงกับความต้องการซื้อของลูกค้าให้ได้มากที่สุด และให้สอดคล้องกับบริบทการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จากปัจจุบัน กำหนดเป็นมาตรฐานบังคับสำหรับข้าวหอมมะลิไทย โดยต้องเป็นข้าวพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15 มีเนื้อข้าวหอมมะลิไม่น้อยกว่า 92% อีก 8% เป็นข้าวชนิดอื่นผสม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ จะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเกษตรกร ผู้ส่งออก เพื่อทบทวนมาตรฐานดังกล่าววันที่ 13 ก.พ.นี้
สำหรับ แผนประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในปี 2563 กรมฯ จะเดินหน้าดำเนินการทั้งในรูปแบบการจัดคณะผู้แทนการค้าเดินทางไปประชาสัมพันธ์ในประเทศต่างๆ ทั้งที่เป็นลูกค้าหลัก อย่างมาเลเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และตลาดที่มีศักยภาพที่จะนำเข้าข้าวไทย เช่น แอฟริกา รวมถึงการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและผลักดันการส่งออกข้าวไทย
ทั้งนี้ ในปี 2562 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกข้าวได้เป็นดับ 2 ของโลก ที่ปริมาณ 7.5 ล้านตัน ลดลง 32.50% จากปี 2561 ที่ส่งออกได้ 11.23 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 4,206 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 25% โดยส่งออกไปเบนิน มากที่สุดถึง 1.07 ล้านตัน คิดเป็น 14% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด ตามด้วยแอฟริกาใต้ 0.73 ล้านตัน สัดส่วน 9% สหรัฐฯ 0.56 ล้านตัน สัดส่วน 7.3% ส่วนชนิดข้าวที่ส่งออกมากที่สุด คือ ข้าวขาว 3.17 ล้านตัน สัดส่วน 41% ตามด้วย ขาวนึ่ง 2.23 ล้านตัน สัดส่วน 29% ข้าวหอมมะลิ 1.1 ล้านตัน สำหรับประเทศที่ส่งออกมากที่สุดในโลก คือ อินเดีย 10.6 ล้านตัน ส่วนอันดับ 3 เวียดนาม 6.85 ล้านตัน ปากีสถาน 4.6 ล้านตัน และสหรัฐฯ 3.05 ล้านตัน
ขณะที่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-6 ก.พ.2563 ไทยส่งออกข้าวแล้ว 699,000 ตัน ลดลง 39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 1.1 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 399 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 28% หรือคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 11,963 ล้านบาท ลดลง 33%
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web