- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 06 February 2020 17:58
- Hits: 2862
เงินเฟ้อทั่วไป ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.05% ติดต่อกันในอัตราสูงที่สุดในรอบ 8 เดือน
สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนมกราคม 2563
ภาพรวม
ดัชนี ราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมกราคมเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 1.05 (YoY) เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันในอัตราสูงที่สุดในรอบ 8 เดือน และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของประเทศอีกครั้ง โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของหมวดอาหารสดและการกลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 9 เดือนของหมวดพลังงาน ในขณะที่หมวดอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ เงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.47
ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 0.49 ในเดือนก่อน
การเพิ่มขึ้นของหมวดอาหารสด เป็นไปตามสถานการณ์ทั้งอุปสงค์และอุปทานในประเทศ โดยราคาผักสดลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาผลไม้ ไข่ และเนื้อสัตว์ เพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในช่วงเทศกาลตรุษจีน (ในปีนี้เร็วขึ้นและตรงกับปลายเดือนมกราคม) ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของหมวดพลังงาน เป็นไปตามสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่เริ่มทรงตัวและอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน การขยายตัวของเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องและเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนในเดือนนี้นั้น ส่วนหนึ่งมาจากผลของมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (เพิ่มรายได้) และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (เพิ่มการบริโภค) ในช่วงที่ผ่านมา
สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญเมื่อเทียบกับปีก่อน (โดยเฉพาะข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กุ้ง ปศุสัตว์) การขยายตัวของรายได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เก็บจากการบริโภคในประเทศต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งการกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 6 เดือนของดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศ ชี้ว่าแรงขับเคลื่อนเงินเฟ้อในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านอุปสงค์ของประเทศ ซึ่งเป็นสัญญานที่ดีต่อการบริหารและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดด้านอุปสงค์การลงทุน อาทิ การจำหน่ายปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก รถยนต์เชิงพาณิชย์ รถจักรยานยนต์ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง และมูลค่าธุรกรรมอสังหาฯ ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งน่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับสถานการณ์โรคระบาดไวรัสสายพันธุ์ใหม่น่าจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในช่วง 2 ไตรมาสแรก แต่คาดว่าปัจจัยเหล่านี้น่าจะปรับตัวได้ดีขึ้นในระยะต่อไป โดยภาครัฐน่าจะสามารถลงทุนและเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างเต็มที่ตามแผน และหากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากขึ้นก็น่าจะสนับสนุนให้การลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ดีอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนมกราคม 2563
ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป)
ดัชนี ราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมกราคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 1.05 (YoY) ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.82 จากข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 8.31 โดยเฉพาะข้าวสารเหนียวที่มีปริมาณผลผลิตน้อย ขณะที่ความต้องการยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 3.53 ผลไม้ (ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง กล้วยน้ำว้า) สูงขึ้นร้อยละ 3.50 จากความต้องการที่มีมากในช่วงเทศกาลตรุษจีน ไข่และผลิตภัณฑ์นม (ไข่ไก่ นมสด ไข่เป็ด) สูงขึ้นร้อยละ 1.52 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มรสช็อกโกแลต) สูงขึ้นร้อยละ 1.95 จากการปรับภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสมเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา เครื่องประกอบอาหาร (มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) น้ำปลา เกลือป่น) สูงขึ้นร้อยละ 0.80 อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.65 และ 0.24 ตามลำดับ
ขณะที่ผักสด (ผักกาดขาว ผักชี มะนาว มะเขือเทศ พริกสด) ลดลงร้อยละ 5.42 เนื่องจากผลผลิตมากขึ้นตามสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.62 ตามการสูงขึ้นของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 1.26 จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 2.37 และค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 5.89
รวมทั้งค่าบริการบำรุงรักษายานยนต์ สูงขึ้นร้อยละ 1.01 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (กางเกงขายาวสตรี เสื้อเชิ้ต รองเท้าหุ้มส้นหนังบุรุษ) สูงขึ้นร้อยละ 0.16 หมวดเคหสถาน (ค่าเช่าบ้าน ไม้กวาด น้ำยาล้างจาน) สูงขึ้นร้อยละ 0.15 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (โฟมล้างหน้า ค่าแต่งผมชาย น้ำยาระงับกลิ่นกาย) สูงขึ้นร้อยละ 0.21 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ (ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา) สูงขึ้นร้อยละ 0.76 ขณะที่หมวดการสื่อสาร (เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) ลดลงร้อยละ 0.05 หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (เบียร์ ไวน์) ลดลงร้อยละ 0.02
ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.16 (MoM)
ดัชนีราคาผู้ผลิต
ดัชนี ราคาผู้ผลิต เดือนมกราคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.8 (YoY) กลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ตามการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของหมวดผลผลิตเกษตรกรรมที่ร้อยละ 7.2 ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 0.4 โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ และแร่ (ตะกั่ว สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม) โดยมีเหตุผลสำคัญจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สำหรับหมวดผลผลิตอุตสาหกรรม ดัชนีราคาเฉลี่ยไม่มีการเปลี่ยนแปลง สินค้าสำคัญที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ทองคำ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว รวมทั้งผลปาล์มสดที่ปรับตัวสูงขึ้นตามมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (บี 7 บี 10 และบี 20) กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่สด สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ สายไฟ สายเคเบิล และแบตเตอรี่ จากราคาวัตถุดิบที่ลดลง และอุปทานมีปริมาณมาก กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กฉาก ลดลงตามราคาตลาดโลกและมีการแข่งขันสูงจากเหล็กนำเข้า
ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 (MoM)
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนมกราคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.7 (YoY) จากการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 8.5 ที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 โดยเฉพาะเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดผูกเหล็ก เหล็กแผ่นเรียบดำ ปรับลดลงตามราคาวัตถุดิบ (เศษเหล็ก) ประกอบกับมีการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศมาจำหน่ายปริมาณมาก หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลดลงร้อยละ 0.7 ได้แก่ เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง คอนกรีตบล็อกปูพื้น และซีทไพล์คอนกรีต เนื่องจากภาวะการค้าชะลอตัว
ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลให้ต้นทุนในการนำเข้าวัตถุดิบมีราคาลดลง หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.3 จากการลดลงของยางมะตอย หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.1 ตามการลดลงของปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือน 11 หมวดวัสดุฉาบผิว สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากการสูงขึ้นของสีเคลือบน้ำมัน สีรองพื้นปูนและสีรองพื้นโลหะ หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี และถังเก็บน้ำสแตนเลส เนื่องจากราคาสแตนเลสปรับราคาสูงขึ้น หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ สูงขึ้นร้อยละ 4.3 ได้แก่ ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน ไม้โครงคร่าว ไม้แบบ วงกบประตู-หน้าต่าง บานประตู
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 (MoM)
ดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภค
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม ลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ 44.1 (เทียบกับ 44.5 ในเดือนก่อน) ดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบัน ลดลงอยู่ที่ 38.9 (เทียบกับ 39.4 ในเดือนก่อน) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ 47.6 (เทียบกับ 48.0 ในเดือนก่อน) เป็นที่น่าสังเกตว่า ความเชื่อมั่นโดยรวมใน กทม.และปริมณฑลปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่ภาคอื่นลดลง อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นในรายกลุ่มอาชีพและภาคอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ในทุกภาค/อาชีพ คาดว่าสาเหตุหลักน่าจะมาจากความกังวลต่อสถานการณ์ไวรัสสายพันธุ์ใหม่และสถานการณ์โลกที่ค่อนข้างผันผวนในช่วงที่ผ่านมา
แนวโน้มปี 2563
สถานการณ์ด้านราคาในปีนี้น่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่สูงกว่าปีก่อน โดยอาหารสดและน้ำมันจะยังเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดเงินเฟ้อ โดยราคาน้ำมันมีแนวโน้มทรงตัวในระดับนี้ตลอดทั้งปี ทำให้มีอิทธิพลเชิงบวกในช่วงไตรมาสแรกของปี และจะมีอิทธิพลเชิงลบมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่เหลือ โดยเฉพาะไตรมาสที่ 2 และ 3 ในขณะที่ราคาอาหารสดน่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแนวโน้มสภาพอากาศที่กระทบต่อผลผลิต สำหรับราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับปกติ และมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยตามปัจจัยด้านการลงทุนภาคเอกชน การส่งออก และการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น นอกจากนั้น คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการช่วยเหลือ และโครงการลงทุนต่าง ๆ ที่ภาครัฐได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่า เงินเฟ้อทั้งปีจะเคลื่อนไหวที่ร้อยละ 0.4 – 1.2
โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์
เงินเฟ้อม.ค.63 เพิ่ม 1.05% สูงสุดรอบ 8 เดือน หลังอาหารสดราคาพุ่ง น้ำมันดีดตัวขึ้น
พาณิชย์"เผยเงินเฟ้อเดือนม.ค.63 เพิ่ม 1.05% ขยับขึ้นสูงสุดในรอบ 8 เดือน หลังราคาอาหารสดเพิ่มสูงขึ้น และราคาพลังงานกลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 9 เดือน คาดแนวโน้มเงินเฟ้อจากนี้ไปขยับต่อเนื่อง ส่วนพิษไวรัสโคโรนาฉุดคนกินข้าวนอกบ้านลด แต่ทั้งปีมั่นใจอยู่ในกรอบ 0.4-1.2%
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนม.ค.2563 ดัชนีอยู่ที่ 102.78 เพิ่มขึ้น 0.16% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2562 และเพิ่มขึ้น 1.05% เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2562 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันในอัตราสูงที่สุดในรอบ 8 เดือน นับจากเดือนพ.ค.2562 ที่ขยายตัว 1.15% และกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของประเทศอีกครั้ง ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักราคาอาหารสด และพลังงานออกจากการคำนวณ ดัชนีอยู่ที่ 102.82 เพิ่มขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2562 และเพิ่มขึ้น 0.47% เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.2562
สาเหตุที่เงินเฟ้อเดือนม.ค.2563 เพิ่มขึ้น 1.05% เพราะการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีการแอลกอฮอล์ 1.82% เช่นข้าว เนื้อสัตว์ ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง กล้วยน้ำว้า ไข่และผลิตภัณฑ์นม เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน ส่วนผักสดลดลง ขณะที่หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.62% เช่น น้ำมัน ค่าโดยสาร เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การรักษาและบริการส่วนบุคคล การบันเทิง การอ่าน การศึกษา แต่การสื่อสาร ยาสูบ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลดลง
เงินเฟ้อเดือนม.ค. ที่เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของหมวดอาหารสด เพราะเดือนม.ค.2563 มีเทศกาลตรุษจีน ที่มีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น รวมถึงได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ราคาสินค้าเกษตรบางรายการสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวสารเหนียว และการกลับมาขยายตัวอีกครั้งในรอบ 9 เดือนของหมวดพลังงาน รวมทั้งได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาล จากโครงการประกันรายได้ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้เกษตรกร และประชาชนมีรายได้มาจับจ่ายเพิ่มขึ้น”
ทั้งนี้ หากพิจารณา 422 รายการที่คำนวณเงินเฟ้อ พบว่า มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 238 รายการ เช่น ข้าวเหนียว ข้าวสารเจ้า เนื้อสุกร ไข่ไก่ กับข้าวสำเร็จรูป น้ำมันดีเซล ค่าโดยสารรถประจำทาง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง 106 รายการ เช่น ผักสดชนิดต่างๆ นมผง เป็นต้น และสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง 78 รายการ
สำหรับ ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา เดือนม.ค.2563 ยังไม่เห็นชัดเจน น่าจะเห็นผลชัดในเดือนก.พ.นี้เป็นต้นไป ทำให้การบริโภคอาหารนอกบ้านลดลง เพราะประชาชนไม่อยากออกไปนอกบ้าน และอาจจะฉุดให้ราคาลดลงตาม แต่ยังคาดว่าไตรมาสแรกปีนี้ น่าจะขยายตัวใกล้เคียง 1% ส่วนทั้งปียังคงยืนยันเป้าหมายที่ 0.4-1.2% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 0.8% โดยอาหารสดและน้ำมันจะยังเป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดเงินเฟ้อ รวมถึงสินค้าเกษตรบางรายการ จะสูงขึ้นจากภาวะภัยแล้ง
พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อทั่วไปม.ค.63 อยู่ที่ 1.05% ราคาอาหารสด-พลังงาน พุ่ง
พาณิชย์เผย เงินเฟ้อทั่วไป ม.ค.63 อยู่ที่ 1.05% กลับสู่กรอบเป้าหมาย เงินเฟ้อพื้นฐาน 0.4% รับราคาอาหารสด - พลังงานเพิ่มสูงขึ้น ส่วนทั้งปีคาดเคลื่อนไหว 0.4-1.2% หวังการใช้จ่ายภาครัฐ - มาตรการกระตุ้นศก. เป็นแรงหนุน
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 102.78 เพิ่มขึ้น 1.05% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) อยู่ที่ 102.82 เพิ่มขึ้น 0.47%
โดยเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ม.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 8 เดือน ตามราคาอาหารสดที่รับปัจจัยบวกจากอุปสงค์และอุปทานในประเทศ ในช่วงเทศกาลตรุษจีน และพลังงานเป็นไปตามสถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่เริ่มทรงตัวและอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน มาจากมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ของรัฐบาล สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กุ้ง ปศุสัตว์ นอกจากนี้การขยายตัวของรายได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการบริโภคในประเทศต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชน
ทั้งนี้ ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง และมูลค่าธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ยังลดลงอย่างต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชน และสถานการณ์โรคระบาดไวรัสสายพันธุ์ใหม่น่าจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในช่วง 2 ไตรมาสแรก
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าปัจจัยเหล่านี้น่าจะปรับตัวได้ดีขึ้น โดยภาครัฐน่าจะสามารถลงทุนและเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างเต็มที่ และถ้าเศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากขึ้นจะกระตุ้นให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีขึ้น
โดยเงินเฟ้อทั้งปีประเมินว่า จะเคลื่อนไหวที่ 0.4-1.2% โดยประเมินว่าราคาอาหารสดและน้ำมันยังเป็นตัวแปรสำคัญ โดยสินค้าและบริการมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยตามการลงทุนภาคเอกชน การส่งออก และการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และโครงการลงทุนของภาครัฐ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศดีขึ้น
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย