WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1.AAA A AAA2EX

ส่งออกไทย ปี 62 ทำได้มูลค่า 2.46 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.65% คาดปี 63 เป็นขาขึ้น

      ส่งออก เดือนธ.ค.ทำได้แค่ 1.9 หมื่นล้านเหรียญ ลดลง 1.28% ทำยอดรวมทั้งปีจบที่ 2.46 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.65% เหตุเจอปัจจัยลบเพียบ ทั้งสงครามการค้า ราคาน้ำมันต่ำกระทบสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ยานยนต์และส่วนประกอบ ชะลอตัวจากการเปลี่ยนเทคโนโลยี สินค้าเกษตรหดตัว แต่ตลาดสหรัฐฯ กลับมาฟื้นตัว จีนยังหด คาดปี 63 ส่งออกเป็นขาขึ้น กลับมาบวกได้แน่ ไม่น่าต่ำกว่า 1.5-2%   

      น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยในเดือนธ.ค.2562 มีมูลค่า 19,154.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.28% ซึ่งตัวเลขน้อยกว่าที่ประเมินไว้ว่าน่าจะเกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 18,558.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.54% เกินดุลการค้า 595.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยอดรวมการส่งออกทั้งปี 2562 มีมูลค่า 246,244.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.65% การนำเข้ารวมมีมูลค่า 236,639.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.66% โดยเกินดุลการค้ารวม 9,604.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

        ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกทั้งปี 2562 ลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว และยังมีปัญหาเสถียรภาพการเมืองในยุโรป ความไม่แน่นอนจากการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (เบร็กซิต) ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ กดดันการส่งออกน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันตลอดทั้งปี สินค้ายานยนต์และส่วนประกอบ ชะลอตัวจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทำให้กระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทย และสินค้าเกษตรสำคัญได้รับผลกระทบจากราคาในตลาดโลกลดลงและบางตัวผลผลิตขาดแคลน ทำให้ไม่มีของขาย

       อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกจะลดลง แต่ส่วนแบ่งตลาดของไทยไม่ได้ลดลง และการส่งออกยังขยายตัวได้ดีในหลายๆ ตลาด โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ที่เดิมเคยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ทั้งปีกลับมาเป็นบวกได้ 11.8% รวมถึงตลาดแคนาดา เบลเยียม และบราซิล ขยายตัวต่อเนื่องมากกว่า 3 ปี ไต้หวันและเม็กซิโก ขยายตัวเป็นบวกในรอบ 3 ปี แต่ญี่ปุ่น ยังติดลบ 1.5% สหภาพยุโรป (15 ประเทศ) ลบ 6.6% อาเซียน ลบ 8.2% จีน ลบ 3.8% แม้เดือนธ.ค.2562 จะกลับมาขยายตัวสูงถึง 7.3% สูงสุดในรอบ 18 เดือน อินเดีย ลบ 3.9% ฮ่องกง ลบ 6.5% เกาหลีใต้ ลบ 4.3% ทวีปออสเตรเลีย ลบ 4.2% ตะวันออกกลาง ลบ 1.9% แอฟริกา ลบ 10.9% ลาตินอเมริกา ลบ 6.8% กลุ่ม CIS รวมรัสเซีย ลบ 10.7%

      น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำหรับแนวโน้มการส่งออกปี 2563 อยู่ในช่วงขาขึ้น ถ้าส่งออกแต่ละเดือนเกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป จะทำให้ส่งออกทั้งปีขยายตัว 1.5-2% แต่ถ้ามีมาตรการผลักดันและร่วมมือกันทำงานอาจจะถึง 3% ก็ได้ แต่ตัวเลขดังกล่าว ยังไม่ใช่เป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะมีการประเมินตามหลักวิชาการ บวกกับแผนการผลักดันการส่งออก ที่จะมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และทำการหารือร่วมกับทูตพาณิชย์และภาคเอกชนก่อน ถึงจะประกาศเป้าหมายการส่งออกอย่างเป็นทางการต่อไป แต่น่าจะสอดคล้องกับเป้าหมายที่สภาพัฒน์ประเมินไว้ที่ 2.3% 

        “การส่งออกในปี 2563 มีสัญญาณดีขึ้น จากการลงนามข้อตกลงการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และมีความชัดเจนเรื่องเบร็กซิต ทำให้บรรยากาศการค้าดีขึ้น และกระทรวงฯ ก็มีแผนที่จะบุกเจาะตลาดเป็นรายประเทศ 18 ประเทศ เร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อขยายตลาด รวมทั้งจะเร่งผลักดันสินค้าดาวรุ่งที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เพื่อเพิ่มยอดการส่งออก เช่น ผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่สด ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาสิว เครื่องนุ่งห่ม และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งแม้สินค้าเหล่านี้มูลค่าจะไม่สูง แต่หากส่งออกเพิ่มขึ้นหลายๆ ตัวรวมกัน ก็จะช่วยเพิ่มยอดส่งออกได้”น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนธันวาคม และภาพรวมปี 2562

         การส่งออกไทยเดือนธันวาคม 2562 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยผลกระทบของสงครามการค้าต่อการส่งออกไทยเริ่มลดลงอย่างชัดเจน สะท้อนจากการส่งออกสินค้าภายใต้มาตรการมีทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งจากอานิสงส์ในการทดแทนสินค้าในตลาดสหรัฐฯ และจีน และความสามารถในการปรับตัวของห่วงโซ่อุปทาน การส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์กลับมาขยายตัวในรอบ 16 เดือน และเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ กลับมาเป็นบวกในหลายตลาด นอกจากนี้ การลงนามข้อตกลงทางการค้าระยะแรก (Phase-1 Deal) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ เมื่อ 15 มกราคม 2563 และความชัดเจนของการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) จะช่วยให้บรรยากาศการค้าดีขึ้นและคลายความกังวลในระยะข้างหน้า โดยการส่งออกเดือนธันวาคม 2562 หดตัวร้อยละ 1.3 แต่เมื่อหักทองคำและน้ำมันออกจะขยายตัวร้อยละ 1.2

         ในรายสินค้า ความสำเร็จจากการลงนาม MOU โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ช่วยกระตุ้นยอดส่งออกยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง ข้าว และอาหารสำเร็จรูป ในตลาดตุรกี และผลิตภัณฑ์ยาง และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ในตลาดอินเดีย นอกจากนี้ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรอื่นๆ ยังขยายตัวแข็งแกร่ง และทำสถิติมูลค่าการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อาทิ ผัก ผลไม้สดแช่แข็งและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป และสิ่งปรุงรสอาหาร ท่ามกลางความท้าทายค่าเงินบาทที่แข็งค่า สินค้าอุตสาหกรรมดาวรุ่ง ที่ยังคงเติบโตดีต่อเนื่อง อาทิ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว

         ในรายตลาด การส่งออกไปตลาดสำคัญมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไป 2 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดของโลกอย่างสหรัฐฯ (ร้อยละ 15.6) และจีน (ร้อยละ 7.3) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เช่นเดียวกับตลาดไต้หวัน และตะวันออกกลาง มีสัญญาณเติบโตต่อเนื่อง ที่ร้อยละ 16.2 และ 11.4 ตามลำดับ

มูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ

        เดือนธันวาคม 2562 การส่งออก มีมูลค่า 19,154 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 18,559 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.5 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 596 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภาพรวมปี 2562 การส่งออก มีมูลค่า 246,245 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 2.7) การนำเข้ามีมูลค่า 236,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 4.7) และการค้าเกินดุล 9,605 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท

        เดือนธันวาคม 2562 การส่งออก มีมูลค่า 573,426 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้า มี 563,799 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 6.0 ส่งผลให้การค้า เกินดุล 9,627 ล้านบาท ภาพรวมปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 7,627,663 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 5.9) การนำเข้ามีมูลค่า 7,437,311 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 7.8) และการค้าเกินดุล 190,352 ล้านบาท

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

        มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ร้อยละ 2.7 (YoY) สินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 33.3 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา เกาหลีใต้ จีน และลาว) เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 26.2 (ขยายตัวในตลาดกัมพูชา เวียดนาม เมียนมา จีน และมาเลเซีย) ผัก ผลไม้สด แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัวที่ร้อยละ 9.7 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และมาเลเซีย) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 11.6 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ข้าว หดตัวที่ร้อยละ 41.1 (หดตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ แคเมอรูน แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดฮ่องกง ญี่ปุ่น

      และเคนยา) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวที่ร้อยละ 24.0 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย และสหรัฐฯ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดเกาหลีใต้ และสิงคโปร์) กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป หดตัวที่ร้อยละ 20.1 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดจีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้) ยางพารา หดตัวที่ร้อยละ 2.7 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดจีน มาเลเซีย และตุรกี) ภาพรวมของปี 2562 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ร้อยละ 2.4

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

         มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวที่ร้อยละ 0.9 (YoY) สินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวเกือบทุกตลาด ขยายตัวร้อยละ 49.3 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เบลเยียม สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัวร้อยละ 24.0 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และอาร์เจนตินา) เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ขยายตัวที่ร้อยละ 12.6 (ขยายตัวในตลาดจีน เวียดนาม ออสเตรเลีย เมียนมา และกัมพูชา) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 12.2 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง จีน เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ทองคำ หดตัวที่ร้อยละ 40.8 (หดตัวในตลาดสิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ และลาว

     แต่ยังขยายตัวระดับสูงในกัมพูชา เมียนมา และญี่ปุ่น) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวที่ร้อยละ 14.6 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เม็กซิโก และมาเลเซีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดญี่ปุ่น จีน และซาอุดิอาระเบีย) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวเกือบทุกตลาด หดตัวที่ร้อยละ 11.8 (หดตัวในตลาดจีน เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดมาเลเซีย กัมพูชา และลาว) เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ หดตัวที่ร้อยละ 10.6 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น อินเดีย เยอรมนี อินโดนีเซีย และเนเธอร์แลนด์ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐฯ เม็กซิโก และออสเตรเลีย) ภาพรวมของปี 2562 มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวที่ร้อยละ 1.8

ตลาดส่งออกสำคัญ

        การส่งออกไปตลาดสำคัญมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไป 2 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดของโลกอย่างสหรัฐฯ และจีน ขยายตัวร้อยละ 15.6 และ 7.3 ตามลำดับ และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 เดือน และ 18 เดือน ตามลำดับ ประกอบกับการส่งออกไปตลาดตะวันออกกลาง ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 11.4 และ 8.0 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 23 เดือน และ 16 เดือน ตามลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกไปตลาด CLMV กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือนที่ร้อยละ 1.1

ตลาดสหรัฐอเมริกา

        ขยายตัวร้อยละ 15.6 เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ ผลิตภัณฑ์ยาง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ทั้งปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 11.8

ตลาดจีน

       ขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 เดือน ที่ร้อยละ 7.3 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เป็นต้น ขณะที่ทั้งปี 2562 หดตัวร้อยละ 3.8

ตลาดสหภาพยุโรป(15)

        หดตัวร้อยละ 1.9 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศฯ  เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ และเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ขณะที่ทั้งปี 2562 หดตัวร้อยละ 6.6

ตลาดเอเชียใต้

        หดตัวร้อยละ 9.9 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ รถยนต์และส่วนประกอบ และ โทรทัศน์และส่วนประกอบ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีฯ ขณะที่ทั้งปี 2562 หดตัวร้อยละ 7.9

ตลาด CLMV

        กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือนที่ร้อยละ 1.1 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ เครื่องดื่ม และเครื่องปรับอากาศฯ เป็นต้น ขณะที่ทั้งปี 2562 หดตัวร้อยละ 6.3

ตลาดญี่ปุ่น

        หดตัวร้อยละ 4.4 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ เม็ดพลาสติก และอาหารทะเลแปรรูปฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ขณะที่ทั้งปี 2562 หดตัวร้อยละ 1.5

ตลาดลาตินอเมริกา

       หดตัวร้อยละ 9.7 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ และเม็ดพลาสติก ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องจักรกลฯ และเครื่องยนต์สันดาปฯ ขณะที่ทั้งปี 2562 หดตัวร้อยละ 6.8

ตลาดอาเซียน-5

       หดตัวร้อยละ 9.5 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลฯ  ข้าว เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และอัญมณีและเครื่องประดับ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำตาลทราย ยางพารา และแผงวงจร ขณะที่ทั้งปี 2562 หดตัวร้อยละ 9.6

ตลาดตะวันออกกลาง

       ขยายตัวสูงสุดในรอบ 23 เดือนที่ร้อยละ 11.4 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องจักรกล รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และน้ำตาลทราย ขณะที่ทั้งปี 2562 หดตัวร้อยละ 1.9

ตลาดทวีปออสเตรเลีย

        หดตัวร้อยละ 8.3 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ และเหล็กและผลิตภัณฑ์ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศฯ ตู้เย็นและส่วนประกอบฯ และเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ขณะที่ทั้งปี 2562 หดตัวร้อยละ 4.2

ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS

        ขยายตัวสูงสุดในรอบ 16 เดือน ที่ร้อยละ 8.0 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลฯ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์รักษาผิว ผลิตภัณฑ์ยาง และรองเท้าฯ เป็นต้น ขณะที่ทั้งปี 2562 หดตัวร้อยละ 10.7

ตลาดทวีปแอฟริกา

      หดตัวร้อยละ 16.7 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ข้าว และอาหารทะเลแปรรูปฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่เครื่องจักรกลฯ เครื่องยนต์สันดาปฯ และน้ำตาลทราย ขณะที่ทั้งปี 2562 หดตัวร้อยละ 10.9

ตลาดอินเดีย

       หดตัวร้อยละ 11.6 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ และโทรทัศน์และส่วนประกอบ สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีฯ และนาฬิกาฯ ขณะที่ทั้งปี 2562 หดตัวร้อยละ 3.9

สรุปภาพรวมการส่งออกปี 2562

      การส่งออกไทยปี 62 หดตัวที่ร้อยละ 2.65 โดยปัจจัยสำคัญที่กดดันการส่งออกไทย ได้แก่

1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้า โดยมีประเด็นสงครามการค้าเป็นตัวแปรหลัก ทำให้กิจกรรมการผลิตชะลอตัวในหลายประเทศคู่ค้าของไทย ปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองในยุโรป รวมถึงความไม่แน่นอนของการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร

2) ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำกดดันการส่งออกน้ำมันและสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันตลอดปี 2562

3) สินค้าอุตสาหกรรมหลัก อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ ชะลอตัวจากการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดหลัก ความท้าทายในการปรับตัวช่วงเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี และการควบคุมมาตรฐานผลิต/การส่งออก และ

4) สินค้าเกษตรสำคัญ ได้รับผลกระทบจากราคาในตลาดโลก และอุปทานขาดแคลนในบางสินค้า

         เมื่อพิจารณาในรายตลาด พบว่าการส่งออกไทยยังขยายตัวได้ดีในหลายตลาด ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา เบลเยียม และบราซิล ที่ขยายตัวต่อเนื่องมากกว่า 3 ปี อีกทั้งตลาดไต้หวัน และเม็กซิโก ที่การส่งออกกลับมาเป็นบวกในรอบ 3 ปี

แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2563

         การส่งออกเริ่มมีเสถียรภาพจากความผันผวนของปัจจัยภายนอก และมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ในระยะข้างหน้า สะท้อนจากอัตราการหดตัวที่ลดลง การปรับตัวของกลุ่มสินค้าสำคัญภายใต้สงครามการค้า รวมถึงการกระจายตัวของตลาดส่งออก อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายจาก ปัจจัยชั่วคราว โดยเฉพาะการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในประเทศ และราคาน้ำมันในระดับต่ำ ปัจจัยเฉพาะอุตสาหกรรม ในสินค้ากลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ และสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์

          อย่างไรก็ดี การลงนามข้อตกลงทางการค้าระยะแรก (Phase-1 Deal) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ เมื่อ 15 มกราคม 2563 และความชัดเจนของการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) จะช่วยให้บรรยากาศการค้าดีขึ้นและคลายความกังวลได้ในระยะสั้น นอกจากนี้ แม้ว่าในปี 2563 ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ จีน สหภาพยุโรปยังมีทิศทางชะลอตัว แต่สัญญาณความพร้อมการใช้นโยบายการคลังแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น และการบริโภคที่ยังแข็งแกร่งจะเป็นโอกาสสินค้าส่งออกไทย โดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับการอุปโภคและบริโภค ที่มีแต้มต่อในการบุกตลาดด้วยคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก นอกจากนี้ การส่งออกไทยไปตลาดญี่ปุ่น อาจได้อานิสงส์จากการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 2563 และข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563

          กลุ่มสินค้าเป้าหมายที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เพื่อผลักดันการส่งออกในปี 2563 ได้แก่ สินค้าเกษตรและเกษตรอาหาร เช่น ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องนุ่งห่ม และเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน

         นอกจากนี้ การเร่งกระชับสัมพันธ์และจัดกิจกรรมรุกตลาดในประเทศคู่ค้าที่การส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัว ตลาดตะวันออกกลาง ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย ตลาดยุโรป ได้แก่ ตุรกี เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ตลาดเอเชีย ได้แก่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ศรีลังกา และเมียนมา ตลาดอเมริกาใต้ ได้แก่ อาร์เจนตินา จะช่วยให้รักษาฐานการกระจายตัวของตลาดส่งออก เพื่อรองรับความผันผวนจากปัจจัยภายนอก ซึ่งสอดรับกับกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดตามแนวนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ที่มีแผนจัดกิจกรรมนำคณะภาครัฐและเอกชนบุกตลาดเป้าหมาย 18 ประเทศ ในปี 2563 เช่นเดียวกับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่กระทรวงพาณิชย์กำลังเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อสร้างแต้มต่อและขยายฐานตลาดส่งออกให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นในอนาคต

โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

sme 720x90banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!