- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 16 January 2020 17:17
- Hits: 3836
วีรศักดิ์ ดันใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ พลิกโฉมงานหัตถศิลป์ไทยโดนใจลูกค้า เพิ่มรายได้คืนสู่ชุมชน
วีรศักดิ์ มอบนโยบายศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ส่งเสริมและพัฒนาผู้ผลิต ผู้ประกอบการงานหัตถศิลป์ของไทยใช้ความคิดสร้างสรรค์ พลิกโฉมหน้าสินค้าหัตถกรรมของไทยให้ตรงตามความต้องการของตลาดและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมเครือข่ายผู้ผลิตงานหัตถศิลป์ SACICT Craft Network ครั้งที่ 4 (ภาคกลาง) ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า ได้มอบนโยบายให้ SACICT ดำเนินงานและให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและพัฒนาผู้ผลิตและผู้ประกอบการงานศิลปหัตถกรรมไทยที่มีอยู่กว่า 1,759 ราย ให้เกิดความเข้าใจในแนวคิดของ Creative Craft Economy และนำไปปรับประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมของตนเอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาผสมผสานด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม และแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ นำไปสู่การผลิตผลงานที่มีความร่วมสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้ เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดในเชิงพาณิชย์และเป็นการสร้างรายได้กลับสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
“ผมคิดว่าไทยมีความพร้อมในทุกด้านที่จะนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาพัฒนา โดยเฉพาะในวงการศิลปหัตถกรรมไทยให้กลายเป็น Creative Craft Economy ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากในปัจจุบันและในอนาคต เพราะไทยมีต้นทุนในแง่ของคุณค่าจากภูมิปัญญา วัตถุดิบ และแรงงานในชุมชน ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาต่อยอดผลงานหัตถศิลป์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชิ้นงานได้สูงขึ้น ตลอดจนเป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้ซื้อมากยิ่งขึ้นด้วย”
ปัจจุบันตลาดสินค้าเชิงสร้างสรรค์ของโลกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และไทยเองก็ได้มีการนำแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) มาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และสามารถพัฒนาสินค้าที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้เพิ่มขึ้น ทั้งสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม รวมถึงสินค้าหัตถกรรม ที่ไทยมีความโดดเด่น มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ที่สามารถนำมาต่อยอดเชิงสร้างสรรค์ได้
ทั้งนี้ ในการจัดงาน SACICT ยังได้จัดแสดงตัวอย่างผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ที่มีการผสมผสานเทคนิคเชิงช่างต่างถิ่น พัฒนาออกมาเป็นชิ้นงานใหม่ สอดรับกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น ได้แก่ ผลงานการพัฒนาทักษะเชิงช่างและเทคนิคการประดับมุกบนเครื่องดิน และการมัดและย้อมสีธรรมชาติด้วยวัตถุดิบในท้องถิ่นภาคใต้ โดยการนำเส้นไหมและผ้าไหมกับน้ำย้อมจากวัตถุดิบที่ได้จากพืชพรรณธรรมชาติ เป็นต้น เพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าสินค้าหัตถศิลป์ของไทยสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในตัวสินค้าและสร้างมูลค่าที่เพิ่มขึ้นได้
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web