- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 10 January 2020 10:05
- Hits: 3812
พาณิชย์ คาดภัยแล้งดัน’ข้าว-ผัก-มะนาว-หมู’ ราคาขึ้น ยันน้ำดื่มขวด ไม่มีปัญหา
กรมการค้าภายในประเมินผลกระทบจากภัยแล้ง ทำสารพัดสินค้าเกษตรจ่อขึ้นราคา หลังผลผลิตเสียหายหนัก ทั้งข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกเจ้า มะนาว ผักสด เนื้อหมู น้ำมันปาล์มขวด แต่เป็นผลดีกับเกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้น รับผู้บริโภคอาจได้รับผลกระทบบ้าง แค่เพียงระยะสั้น ส่วนน้ำดื่มยรรจุขวด ไม่มีปัญหา ยันเตรียมหามาตรการบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนแล้ว ย้ำเมื่อภัยแล้งคลี่คลาย ราคาจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในขณะนี้ว่า จะทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรหลายชนิดของไทยได้รับความเสียหาย ผลผลิตลดลง และราคาจะปรับตัวสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว และข้าวเปลือกเจ้า ที่คาดว่า ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ น่าจะทรงตัวในระดับสูงที่ตันละกว่า 14,000-15,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกเหนียว น่าจะยืนได้สูงกว่าตันละ 14,000 บาท ขณะที่ข้าวเปลือกเจ้า ราคาน่าจะสูงถึงตันละกว่า 9,000-10,000 บาท จากปัจจุบันตันละประมาณ 8,000 บาท เพราะผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังจะเสียหายเกือบครึ่งหนึ่ง หรือจะมีผลผลิตเพียง 3.5-4 ล้านตันข้าวเปลือก จากปกติที่ประมาณ 8 ล้านตันข้าวเปลือก
นอกจากนี้ ยังจะทำให้ราคาผักสดปรับตัวสูงขึ้น จากผลผลิตที่คาดว่าจะเสียหายจำนวนมาก โดยเฉพาะผักใบ รวมถึงมะนาว ที่คาดว่า ปีนี้ราคาน่าจะสูงกว่าที่ผ่านมา จึงต้องการให้ผู้ที่ใช้มะนาวจำนวนมาก อย่างร้านอาหาร ภัตตาคาร เร่งซื้อมะนาวในช่วงที่ยังราคาต่ำมาแช่แข็งไว้ใช่ในช่วงหน้าแล้ง
ส่วนเนื้อหมู คาดว่า ราคาจะสูงขึ้นจากอากาศร้อน ทำให้หมูโตช้า และการเกิดโรคอหิวาต์แอฟริการะบาดในหมูในจีน เวียดนาม และสปป.ลาว ทำให้ราคาหมูมีชีวิตในจีนปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 200 บาท เวียดนาม กก.ละ 120 บาท ขณะที่ไทยยังอยู่ที่ไม่เกินกก.ละ 75 บาท โดยกรมฯ ได้หารือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติแล้ว หากราคาเกินกว่ากก.ละ 80 บาท อาจมีมาตรการจำกัดการส่งออก เพื่อให้มีเนื้อหมูบริโภคในประเทศอย่างเพียงพอ และราคาไม่สูงมากจนเกินไป
“ราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ถ้ามองในแง่เกษตรกร จะมีผลดีกับเขามาก เพราะเป็นกลุ่มที่เดือดร้อนมาโดยตลอด เพราะขายผลผลิตได้ราคาไม่คุ้มต้นทุน แต่ในแง่ของผู้บริโภค อาจได้รับผลกระทบในช่วงสั้นๆ ถ้าหน้าแล้งผ่านพ้นไป ราคาสินค้าเกษตรจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ถ้าราคาสินค้าแพงจากภาวะภัยแล้ง จะใช้กลไกที่กรมฯ มีอยู่ในการแก้ปัญหา เช่น ร้านธงฟ้า ที่มีอยู่กว่า 102,000 ร้านแห่งทั่วประเทศ โดยจะเชื่อมโยงนำผลผลิต จากแหล่งผลิตที่ไม่ได้รับความเสียหาย กระจายไปยังร้านธงฟ้าต่างๆ เพื่อให้ไปถึงผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง ในราคาที่เป็นธรรม”นายวิชัยกล่าว
นายวิชัย กล่าวอีกว่า กรณีที่มีความกังวลต่อสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจกระทบต่อน้ำดื่ม จนอาจทำให้น้ำดื่มบรรจุขวดปรับขึ้นราคาขายนั้น ขณะนี้สถานการณ์ราคาน้ำดื่มบรรจุขวดยังอยู่ในภาวะปกติ ยังขายอยู่ที่ขวดละ 5-10 บาท และเชื่อว่า ภัยแล้งจะไม่รุนแรงจนทำให้ขาดแคลนน้ำมาผลิตน้ำดื่ม และดันให้ราคาต้องขยับขึ้น เพราะขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างพยายามเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะการขุดบ่อน้ำบาดาล การหาแหล่งน้ำใหม่ๆ ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ และไม่ทำให้ราคาน้ำดื่มต้องปรับขึ้นแน่นอน
สำหรับ ราคาปาล์มน้ำมัน ที่ขณะนี้ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยผลปาล์มสดกก.ละ 6-7 บาท เพิ่มจากปี 2562 ที่กก.ละ 2.50-3 บาท และน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) กก.ละกว่า 35 บาท จากกก.ละ 16-18 บาทนั้น ได้ขอความร่วมมือผู้ค้า ให้ปรับราคาขายให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้น โดยราคาน้ำมันปาล์มขวดเพื่อการบริโภคขณะนี้ควรจะอยู่ที่ขวดละ 42-43 บาท เพื่อให้อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยทั้งระบบอยู่ได้ โดยเฉพาะชาวสวนปาล์ม ที่เดือดร้อนจากการขายผลผลิตราคาต่ำมาหลายปีแล้ว ดังนั้น ปีนี้เมื่อราคาผลปาล์สูงขึ้น ก็ควรให้โอกาสให้เกษตรกรบ้าง ซึ่งเชื่อว่า ผู้บริโภคจะเข้าใจ และจะเป็นเพียงสถานการณ์ระยะสั้นเท่านั้น เมื่อราคาผลปาล์มสดลดลง ราคาน้ำมันขวดก็จะลดลงตาม โดยในขณะนี้ ผู้บริโภคอาจหันมาบริโภคน้ำมันพืชอื่นทดแทนได้ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันหมู เป็นต้น ที่ราคายังไม่ปรับขึ้น
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web