- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 09 January 2020 15:34
- Hits: 1688
พาณิชย์ แบ่งยา 1 แสนรายการเป็น 12 กลุ่ม ก่อนกำหนดอัตรากำไร ป้องผู้บริโภคโดนโขก
พาณิชย์ เดินหน้ากำหนดกำไรส่วนต่างราคายา ล่าสุดแบ่งกลุ่มยากว่า 1 แสนรายการเป็น 12 กลุ่มตามต้นทุน เผยจากนั้นจะศึกษาโครงการสร้างต้นทุน ราคาขาย กำไร ก่อนนำมาหาค่าเฉลี่ย และกำหนดให้แต่ละกลุ่มควรจะมีกำไรได้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของต้นทุน พร้อมนำเผยแพร่บนเว็บไซต์ หวังป้องไม่ให้โรงพยาบาลเอกชนโขกราคาผู้ป่วย ย้ำจำเป็นต้องแบ่งเป็นกลุ่ม ถ้ากำหนดอัตราเดียวกันทุกรายการ หวั่นผู้ป่วยเดือดร้อนหนักกว่าเดิม
นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการกำหนดกำไรส่วนต่างราคายาของโรงพยาบาลเอกชน เพื่อแก้ปัญหาราคายาแพงเกินจริงว่า ขณะนี้การดำเนินการมีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วย กรมฯ , คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลเอกชน และผู้เชี่ยวชาญด้านยา ได้แบ่งกลุ่มยาที่โรงพยาบาลเอกชนได้ส่งมาให้กรมฯ กว่า 1 แสนรายการ ออกเป็น 12 กลุ่มตามราคาต้นทุน โดยกลุ่ม 1 ราคาเม็ดละ 0-0.20 บาท, กลุ่ม 2 ราคา 0.20 – 0.50 บาท, กลุ่ม 3 ราคา 0.50-1 บาท, กลุ่ม 4 ราคา 1-5 บาท, กลุ่ม 5 ราคา 5-10 บาท, กลุ่ม 6 ราคา 10-50 บาท, กลุ่ม 7 ราคา 50-100 บาท, กลุ่ม 8 ราคา 100-500 บาท, กลุ่ม 9 ราคา 500-1,000 บาท, กลุ่ม 10 ราคา 1,000-5,000 บาท, กลุ่ม 11 ราคา 5,000 -10,000 บาท และกลุ่ม 12 ราคา 10,000 บาทขึ้นไป
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่แบ่งยาทั้งหมดออกเป็น 12 กลุ่มแล้ว คณะทำงานจะศึกษาและคำนวณต้นทุน ราคาขาย กำไร เพื่อนำมาหาค่าเฉลี่ยในแต่ละกลุ่ม ก่อนที่จะกำหนดเพดานกำไรว่ายาในแต่ละกลุ่มจะมีกำไรได้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของราคาต้นทุน แล้วจะประกาศให้โรงพยาบาลเอกชนได้รับทราบ เพื่อไม่ให้จำหน่ายยาที่แพงเกินไป รวมถึงจะเผยแพร่บนเว็บไซต์กรมที่ www.dit.go.th หลังจากที่ผ่านมา พบว่า โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งคิดกำไรยาบางรายการสูงมากในระดับ 1,000-10,000% จนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่เข้าไปใช้บริการ
“จากการแบ่งกลุ่มยาออกเป็น 12 กลุ่ม พบว่า ยาที่มีราคา 10-50 บาท มีมากถึง 45,000 รายการ รองลงมาเป็นราคา 1-5 บาทมีกว่า 26,000 รายการ ซึ่งเมื่อศึกษาและกำหนดเพดานกำไรส่วนต่างได้แล้ว กรมฯ จะรีบประกาศขึ้นเว็บไซต์ทันที โดยการกำหนดเพดานกำไรส่วนต่างของโรงพยาบาลเอกชน ถือว่าเป็นมาตรการสำคัญ จึงต้องศึกษารายละเอียดอย่างรอบรอบ และศึกษาผลกระทบทุกมิติ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย”
อย่างไรก็ตาม กรมฯ ไม่สามารถกำหนดเพดานกำไรส่วนต่างของยาทุกรายเป็นอัตราเดียวกันได้ทั้งหมด เพราะจะมีผลกระทบต่อผู้จำหน่ายและผู้ป่วยอย่างมาก เช่น ยาที่ซื้อมาในราคาเพียง 20 สตางค์ (สต.) หากกำหนดให้มีกำไรได้ไม่เกิน 100% ก็เท่ากับให้ขายได้ในราคาไม่เกิน 40 สต. ซึ่งยังถือว่า ไม่แพงมาก และผู้ป่วยยังรับได้ แต่หากเป็นยาที่ต้นทุนสูงถึง 100,000 บาท และถ้ากำไรส่วนต่างไม่เกิน 100% ก็เท่ากับสามารถตั้งราคาขายได้สูง 200,000 บาท จะสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ดังนั้น ยาที่มีต้นทุนต่ำก็อาจปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนขายได้ในราคาสูงกว่ายาที่มีต้นทุนสูง
ส่วนความคืบหน้าในการนำค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชน ประมาณ 5,000 รายการ เช่น ค่าเอ็กซเรย์, ค่าตรวจเลือด, ค่าห้องพักผู้ป่วย, ค่าอาหาร เป็นต้น มาจัดทำเป็นคิวอาร์โค้ดแล้วจัดส่งให้โรงพยาบาลเอกชนนำไปติดตั้งให้ที่ๆ เห็นได้ง่าย เพื่อให้ประชาชนสแกนเพื่อเปรียบเทียบค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่ง รวมถึงจะนำเผยแพร่บนเว็บไซต์กรมฯ เช่นเดียวกับที่ได้ดำเนินการไปแล้วกับยานั้น ล่าสุด กรมฯ อาจนำร่อง 300 รายการก่อน จากเดิมที่คาดว่าจะนำร่อง 200 รายการ โดยคาดว่า จะเผยแพร่บนเว็บไซต์ได้ในช่วงต้นปี 2563
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web