- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 07 January 2020 11:55
- Hits: 2074
‘กรมเจรจาฯ’ ปลื้ม เอฟทีเอดันยอดส่งออกผลิตภัณฑ์ยางไทย 11 เดือนแรกปี 62 ทะลุ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เกาะติดสถิติส่งออกผลิตภัณฑ์ยางไทย ปลื้ม เอฟทีเอดันมูลค่าส่งออกพุ่งต่อเนื่อง ฟันมูลค่าส่งออก 11 เดือนแรกปี 2562 กว่า 10,221 ล้านเหรียญสหรัฐ แนะผู้ประกอบการใช้เอฟทีเอเบิกทางขยายโอกาสการส่งออกเพิ่ม
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ติดตามสถิติการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าที่ไทยมีศักยภาพและน่าจับตามอง เนื่องจากมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับที่ 4 รองจากสินค้ารถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ โดยตั้งแต่ปี 2561 ไทยขยับขึ้นมาครองตำแหน่งเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางสูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลก (รองจาก จีน เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา) และมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกเพิ่มอย่างต่อเนื่องแม้อยู่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม-พฤศจิกายน ) ไทยส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ยางสู่ตลาดโลกได้ถึง 10,221 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 1.6 ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น อาเซียน และออสเตรเลีย สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยางนอกที่ใช้กับยานพาหนะ ยางสังเคราะห์ และถุงมือยาง
นางอรมน เสริมว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ยางของไทยเติบโต คือ การที่สินค้าผลิตภัณฑ์ยางของไทยไม่ถูกเก็บภาษีศุลกากรในประเทศผู้นำเข้า เนื่องจากการทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างกัน (ไทยมีเอฟทีเอ 13 ฉบับกับ 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง) ซึ่งผลิตภัณฑ์ยางจากไทยไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้าแล้วใน 14 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และฮ่องกง
เหลืออีก 4 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ชิลี เปรู ที่ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์ยางส่วนใหญ่จากไทยแล้ว แต่คงการเก็บภาษีในบางรายการ สำหรับกรณีของสหรัฐอเมริกา แม้จะไม่ใช่คู่เอฟทีเอของไทย แต่ที่ผ่านมาไทยได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือจีเอสพีจากสหรัฐอเมริกา อีกทั้ง สหรัฐอเมริกานำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นแทนจากจีน ดังนั้น การผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดผลิตภัณฑ์ยางให้ไทยเพิ่มเติม ผ่านการทบทวนเอฟทีเอที่มีอยู่ในปัจจุบัน การหาข้อสรุปเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา รวมถึงการเปิดเจรจาเอฟทีเอใหม่ๆ อาทิ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และสมาคมการค้าเสรียุโรป (เอฟต้า) เป็นต้น จะมีส่วนสำคัญในการสร้างแต้มต่อผลิตภัณฑ์ยางไทยในตลาดโลก
นางอรมน เพิ่มเติมว่า เมื่อเปรียบเทียบสถิติมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยสู่ตลาดโลกในปี 2561 กับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลบังคับใช้ พบว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 2,922 หากแยกรายตลาด จะพบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ยางของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอขยายตัวเพิ่มขึ้นมากทุกตลาด เช่น อาเซียน ขยายตัวร้อยละ 5,847 จีน ขยายตัวร้อยละ 3,230 ออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 431 อินเดีย ขยายตัวร้อยละ 378 และญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 118 เป็นต้น สอดคล้องกับสถิติที่พบว่าในปี 2561 และครึ่งปี 2562 ผลิตภัณฑ์ยางเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกเป็นอันดับต้น
“อยากให้ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยนำเรื่องการที่ประเทศผู้นำเข้าลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรผลิตภัณฑ์ยางที่ส่งออกจากไทยภายใต้เอฟทีเอ มาเป็นปัจจัยประกอบการพิจารณาเลือกตลาดส่งออก และเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยด้วย โดยผู้สนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลอัตราภาษีศุลกากร กฎระเบียบทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ หรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรีได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ http://ftacenter.dtn.go.th หรือ http://tax.dtn.go.th/ หรือศูนย์ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือหมายเลข 02-507-7555” นางอรมน กล่าว
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web