WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

 1.AAA A AAA2EX

CPI เงินเฟ้อธ.ค.เพิ่ม 0.87% สูงสุดรอบ 5 เดือน ส่วนทั้งปี 62 โต 0.71% เป้า 63 0.4-1.2%

สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนธันวาคม และปี 2562

 

ภาพรวม

      ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนธันวาคม 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.87 (YoY) เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันในอัตราสูงที่สุดในรอบ 5 เดือน (หลังจากชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม) โดยมีสาเหตุสำคัญจากราคาอาหารสดที่สูงขึ้นและการหดตัวของราคาพลังงานที่หดตัวน้อยที่สุดในรอบ 8 เดือน ในขณะที่หมวดอื่น ๆ ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่หดตัวในอัตราที่ชะลอลง ทั้งนี้เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.49 (YoY) เฉลี่ยปี 2562 เงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 0.52 (AoA) เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.71 (AoA) โดยอยู่ในกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ร้อยละ 0.7 - 1.0

      การขยายตัวของเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องในเดือนนี้ โดยเฉพาะการขยายตัวอย่างช้า ๆ และต่อเนื่องของเงินเฟ้อพื้นฐาน ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาซึ่งสนับสนุนให้การบริโภคเพิ่มขึ้น สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการบริโภคในประเทศขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคทีjกลับมาขยายตัวเป็นบวก และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ส่งผลให้รายได้และความต้องการบริโภคของเกษตรกรเพิ่มขึ้น

      อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดด้านอุปสงค์การลงทุน อาทิ การจำหน่ายปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก รถยนต์เชิงพาณิชย์ รถจักรยานยนต์ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง และการทำธุรกรรมอสังหาฯ ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งน่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าปัจจัยเหล่านี้น่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ในปี 2563 โดยภาครัฐน่าจะสามารถลงทุนและเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างเต็มที่ตามแผน และหากสถานการณ์เศรษฐกิจและความผันผวนของโลกมีเสถียรภาพมากขึ้นก็น่าจะสนับสนุนให้การลงทุนของภาคเอกชนและการส่งออกขยายตัวได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศและทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น

สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนธันวาคม 2562

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป)

     เดือนธันวาคม 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.87 (YoY) ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.73 จากข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 8.75 โดยเฉพาะข้าวสารเหนียวที่มีปริมาณผลผลิตน้อยลง ขณะที่ความต้องการยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 2.21 จากความต้องการที่มีมากในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประกอบกับการเฝ้าระวังโรคอหิวาต์ในสุกร ไข่และผลิตภัณฑ์นม (ไข่ไก่ นมสด นมเปรี้ยว) สูงขึ้นร้อยละ 2.29 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มรสช็อกโกแลต) สูงขึ้นร้อยละ 1.86 จากการปรับภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสมเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.68 และ 0.26 ตามลำดับ รวมทั้งผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 2.85

    ในขณะที่ผักสด (ผักคะน้า ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง) ลดลงร้อยละ 1.90 ตามปริมาณผลผลิตที่ออกมาก เนื่องจากสภาพอากาศเหมาะต่อการเพาะปลูก และฐานราคาในปีที่ผ่านมาสูง เครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม) ลดลงร้อยละ 0.02  หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.38 ตามการสูงขึ้นของหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว โฟมล้างหน้า) สูงขึ้นร้อยละ 0.61 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (เสื้อผ้าบุรุษและสตรี) สูงขึ้นร้อยละ 0.25 หมวดเคหสถาน (ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน) สูงขึ้นร้อยละ 0.27 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ (ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเล่าเรียน) สูงขึ้นร้อยละ 0.73 รวมทั้งหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.36 จากค่าโดยสารสาธารณะ ที่ปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงหดตัวลดลงร้อยละ 0.59 การสื่อสาร (เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) ลดลงร้อยละ 0.05 หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (เบียร์ ไวน์) ลดลงร้อยละ 0.12

       ดัชนี ราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.01 (MoM) เฉลี่ยทั้งปี 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.71 (AoA)

ดัชนีราคาผู้ผลิต

       เดือนธันวาคม 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.3 (YoY) ตามการลดลงของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.9 และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 1.3 โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ เม็ดพลาสติก ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ สิ่งทอ เยื่อกระดาษ โลหะขั้นมูลฐาน โดยมีเหตุผลสำคัญจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ในขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรมขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.0 โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว ยางพารา รวมทั้งผลปาล์มสดที่ปรับตัวสูงขึ้นตามมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (บี 7 บี 10 และบี 20) กลุ่มสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สุกร ไก่มีชีวิต ไข่ไก่ และสัตว์น้ำ สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หัวมันสำปะหลัง และผักสด จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากแต่ความต้องการยังคงทรงตัว

      ดัชนี ราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 (MoM) เฉลี่ยทั้งปี 2562 ลดลงร้อยละ 1.0 (AoA)

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

       เดือนธันวาคม 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.1 (YoY) จากการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 12.3 ที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 โดยเฉพาะเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ปรับลดลงตามราคาวัตถุดิบ (เศษเหล็ก) ประกอบกับความต้องการใช้ลดลงตามการชะลอตัวของโครงการก่อสร้าง รวมทั้งมีการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศมาจำหน่ายปริมาณมาก หมวดซีเมนต์ (ปูนซีเมนต์ผสม) ลดลงร้อยละ 0.2 สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายในประเทศ หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.6และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.4 จากการลดลงของยางมะตอยตามราคาน้ำมันดิบ

     ขณะที่หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน) สูงขึ้นร้อยละ 9.9 ราคาสูงขึ้นต่อเนื่องจากช่วงต้นปี หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต (เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา คอนกรีตบล็อกปูพื้น) สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ความต้องการเพิ่มขึ้นจากการเร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ และการซ่อมซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหลังภาวะอุทกภัยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงที่ผ่านมา สำหรับหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา หมวดกระเบื้อง และหมวดวัสดุฉาบผิว ไม่เปลี่ยนแปลง

      ดัชนี ราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 (MoM) เฉลี่ยทั้งปี 2562 ลดลงร้อยละ 1.2 (AoA)

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค

     ดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ในเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 44.5 เท่ากับเดือนพฤศจิกายน 2562 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 39.0 มาอยู่ที่ระดับ 39.4 ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 48.2 มาอยู่ที่ระดับ 48.0 คาดว่ามาจากความกังวลต่อปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่มีสัญญาณในการฟื้นตัวที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตเฉลี่ยทั้งปี 2562 อยู่ที่ระดับ 52.8 (อยู่ในระดับเชื่อมั่น) ชี้ว่า ผู้บริโภคยังมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศเป็นไปในอัตราที่เร่งขึ้นหากสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและมีความชัดเจนมากขึ้น

สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อปี 2562

      ดัชนี ราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เฉลี่ยทั้งปี 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.71 และเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) สูงขึ้นร้อยละ 0.52 โดยมีปัจจัยเชิงบวกจากหมวดอาหาร โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารปรุงสำเร็จ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปตามสถานการณ์อุปทานในประเทศ ในขณะที่อุปสงค์ยังทรงตัว และมีปัจจัยเชิงลบจากหมวดพลังงาน ซึ่งมีปัจจัยจากสถานการณ์อุปสงค์โลกเป็นสำคัญ ในขณะที่หมวดอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติและเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยสอดคล้องกับเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) ที่ขยายตัวได้เล็กน้อยในช่วงร้อยละ 0.4 - 0.7 อย่างต่อเนื่อง ชี้ว่าสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการของประเทศตลอดทั้งปี 2562 ยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ และเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปัจจัยด้านอุปทานและอุปสงค์ในตลาด

แนวโน้มเงินเฟ้อปี 2563

      สถานการณ์เงินเฟ้อในปี 2563 คาดว่าจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับเสถียรภาพ โดยราคาน้ำมันมีแนวโน้มทรงตัวในระดับนี้ตลอดทั้งปี ส่งผลให้เงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จะยังคงได้รับอิทธิพลค่อนข้างมากจากราคาพลังงาน (ฐานราคาน้ำมันในช่วงครึ่งปีแรก 2562 ค่อนข้างสูง) และจะค่อย ๆ ลดอิทธิพลลงในช่วงครึ่งหลังของปี ในขณะที่ราคาอาหารสดน่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามแนวโน้มสภาพอากาศที่กระทบต่อผลผลิต สำหรับราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในระดับปกติ และมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นตามปัจจัยด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

    และหากสถานการณ์เศรษฐกิจและความผันผวนของโลกมีเสถียรภาพมากขึ้นก็น่าจะสนับสนุนให้การลงทุนของภาคเอกชนและการส่งออกขยายตัวได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศและทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยและแนวโน้มเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงและมีโอกาสผันผวนได้ตามสถานการณ์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2563 จะเคลื่อนไหวที่ร้อยละ 0.4 – 1.2 ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

                        โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ​​​​​​​กระทรวงพาณิชย์

 

เงินเฟ้อธ.ค.เพิ่ม 0.87% สูงสุดรอบ 5 เดือน ส่วนทั้งปี 62 โต 0.71% เป้า 63 0.4-1.2%

      เงินเฟ้อ เดือนธ.ค.62 เพิ่ม 0.87% สูงสุดในรอบ 5 เดือน หลังราคาอาหารสดพุ่ง แต่ราคาพลังงานลดลง ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน ส่วนทั้งปี 62 เพิ่ม 0.71% เชื่อเหมาะสมกับระดับเศรษฐกิจไทย ส่วนปี 63 คาดเพิ่ม 0.4-1.2% มีค่ากลางที่ 0.8% พร้อมยันค่าบาทแข็ง-ขึ้นค่าแรง-ภัยแล้ง ไม่มีผลดันเงินเฟ้อ แต่กระทบรายได้ผู้ผลิต-เกษตรกร

       น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนธ.ค.2562 ดัชนีอยู่ที่ 102.62 เพิ่มขึ้น 0.01% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.2562 และเพิ่มขึ้น 0.87% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2561 เป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันในรอบ 5 เดือน หลังจากชะลอตัวลงต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนส.ค.2562 ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2562 เพิ่มขึ้น 0.71% เมื่อเทียบกับปี 2561 ถือว่าเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทย และยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ 0.70-1.00%

     ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานที่หักราคาอาหารสด และพลังงานออกจากการคำนวณ เดือนธ.ค.2562 อยู่ที่ 102.80 เพิ่มขึ้น 0.03% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.2562 และเพิ่มขึ้น 0.49% เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค.2561 และอัตราเฉลี่ยทั้งปี 2562 เพิ่มขึ้น 0.52% เมื่อเทียบกับปี 2561

      สาเหตุที่เงินเฟ้อเดือนธ.ค.2562 เพิ่มขึ้น 0.87% เป็นการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีการแอลกอฮอล์ 1.73% จากการเพิ่มขึ้นของข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะข้าวสารเหนียว, เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ, ไข่และผลิตภัณฑ์นม, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผัก ผลไม้สด ขณะที่สินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่อง สูงขึ้น 0.38% จากการสูงขึ้นของหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล, หมวดเคหสถาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน, หมวดบันเทิง การอ่าน การศึกษา ทั้งค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเล่าเรียน, หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร จากค่าโดยสารสาธารณะ ค่าทางด่วน ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงหดตัวน้อยสุดในรอบ 8 เดือน

     น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า เป้าหมายเงินเฟ้อปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 0.40-1.20% โดยมีค่ากลางที่ 0.80% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้สมมติฐานที่เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.7-3.7% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 58-68 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่อาจปรับประมาณการใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าเงินบาทอยู่ที่ 30-32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

      ส่วนกรณีค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก หากมองในแง่ผู้บริโภคจะรู้สึกพอใจ เพราะทำให้ราคาน้ำมันไม่สูงขึ้น ขณะที่วัตถุดิบนำเข้าเพื่อนำมาผลิตสินค้าในประเทศ ก็ไม่สูงขึ้นด้วย จึงไม่มีแรงกดดันทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่หากมองในแง่ผู้ผลิตและผู้ส่งออก จะทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง โดยเฉพาะภาคเกษตร และกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ที่จะมีเงินใช้จ่ายลดลง ซึ่งไม่ใช่แรงกดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอีกเช่นกัน ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 ไม่มีผลทำให้ราคาสินค้าปรับขึ้น โดยกรมการค้าภายในแจ้งว่า ยังไม่มีผู้ผลิตสินค้ารายใดขอปรับขึ้นราคาขายสินค้าจากค่าแรงปรับขึ้น จึงยังไม่มีผลทำให้เงินเฟ้อปรับขึ้น

      อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 สนค.จะแถลงข่าวเงินเฟ้อทุกวันที่ 5 แต่ไม่เกินวันที่ 7 ของเดือน จากเดิมทุกวันที่ 1 ของเดือน เพื่อให้มีเวลาวิเคราะห์ตัวเลขมากขึ้น

 

พาณิชย์ เผย CPI เดือน ธ.ค.62 โต 0.87% สูงสุดในรอบ 5 เดือน, CORE CPI ขยายตัว 0.49%

    สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ธ.ค.62 อยู่ที่ 102.62 ขยายตัว 0.87% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.01% จากเดือน พ.ย.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 62 อยู่ที่ 0.71%

    "ภาพรวมเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค.62 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 เดือน ถือเป็นตัวเลขที่มีเสถียรภาพ สาเหตุสำคัญจากราคาอาหารสดและการหดตัวของราคาพลังงานที่หดตัวน้อยสุดในรอบ 8 เดือน" น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวในการแถลงข่าวเช้าวันนี้

      ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (CORE CPI) เดือน ธ.ค.62 อยู่ที่ 102.80 ขยายตัว 0.49% จากช่วงเดียวของปีก่อน และขยายตัว 0.03% จากเดือน พ.ย.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยทั้งปี 62 ขยายตัว 0.52%

      ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 104.40 ขยายตัว 1.73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัว -0.13% จากเดือน พ.ย.62 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 101.63 ขยายตัว 0.38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.09% จากเดือน พ.ย.62

      สนค.ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 62 ยังอยู่ในกรอบคาดการณ์ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 0.7-1.0% ส่วนปี 63 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วง 0.4-1.2%

      น.ส.พิมพ์ชนก เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนธ.ค.62 สูงขึ้น 0.87% เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายตัวอย่างช้าๆ และต่อเนื่องของเงินเฟ้อพื้นฐาน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการช่วยเหลือภาคเกษตรของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสนับสนุนให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น สะท้อนจากรายได้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บได้จากการบริโภคในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่กลับมาขยายตัวเป็นบวก และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ ส่งผลให้รายได้และความต้องการบริโภคของเกษตรกรเพิ่มขึ้น

     อย่างไรก็ดี ตัวชี้วัดด้านอุปสงค์การลงทุน เช่น การจำหน่ายปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก รถยนต์เชิงพาณิชย์ รถจักรยานยนต์ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง และการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งน่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าปัจจัยเหล่านี้จะปรับตัวดีขึ้นได้ในปี 63 "หากสามารถผ่านงบประมาณรายจ่ายในปี 63 ได้ในช่วง ก.พ.ก็จะมีเม็ดเงินไปสู่การใช้จ่าย และการลงทุนภาครัฐ สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้อย่างเต็มที่ตามแผน และหากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น ก็จะสนับสนุนให้การลงทุนของภาคเอกชนและการส่งออกขยายตัวได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ และทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น" น.ส.พิมพ์ชนกระบุ พร้อมมองว่า มาตรการของรัฐบาลในเรื่อง "ชิม ช้อป ใช้" ที่ออกมาในช่วงปลายปี 62

    โดยเฉพาะชิม ช็อป ใช้ เฟสแรก มีส่วนช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้เติบโตได้พอสมควร แต่จะมาแผ่วลงบ้างในช่วงเฟสสอง ซึ่งเป็นผลจากที่ประชาชนมองว่ามีเงื่อนไขของการใช้ที่ยากขึ้นกว่าเฟสแรก สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในปี 2563 คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 0.4-1.2% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8% ซึ่งเป็นระดับที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ขยายตัว 2.7-3.7% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 58-68 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่อาจจะมีการทบทวนกรอบใหม่เป็น 60-70 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน ที่ระดับ 30-32 บาท/ดอลลาร์ "กรอบเงินเฟ้อที่ 0.4-1.2%

    เราได้รวมปัจจัยสงครามการค้าไว้แล้ว ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น...ส่วนปัจจัยเรื่องภัยแล้ง ก็ได้รวมไว้แล้ว แต่ทั้งนี้มองว่าภัยแล้งไม่ได้เป็นปัจจัยให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมาก" น.ส.พิมพ์ชนกระบุ ผู้อำนวยการ สนค. มองว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้ยังคงเคลื่อนไหวในระดับที่มีเสถียรภาพ ราคาน้ำมันมีแนวโน้มทรงตัวตลอดทั้งปี ส่งผลให้เงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ยังได้รับอิทธิพลค่อนข้างมากจากราคาพลังงาน และจะค่อยๆ ลดอิทธิพลลงในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ราคาอาหารสดจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแนวโน้มสภาพอากาศที่กระทบต่อผลผลิต

    สำหรับ ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ น่าจะยังเคลื่อนไหวในระดับปกติ และมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นตามปัจจัยด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ในเบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 1/63 จะสูงขึ้น 0.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อน้อยมาก ซึ่งล่าสุดจนถึงขณะนี้ยังไม่พบว่า มีผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตสินค้ารายใดแจ้งขอปรับขึ้นราคาสินค้าจากเหตุผลของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 63

      อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!