- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 25 December 2019 15:23
- Hits: 2403
คต. เผยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA และ GSP 10 เดือน กว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
กรมการค้าต่างประเทศเผยภาพรวมการใช้สิทธิ FTA และ GSP 10 เดือนแรกของปี 62 กว่า 60,316.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดอาเซียนยังคงครองแชมป์การใช้สิทธิ FTA อย่างต่อเนื่อง ส่วนสหรัฐฯ ยังเป็นอันดับหนึ่งในการใช้สิทธิ GSP มากที่สุด นอกจากนี้ กรมฯ ยังเร่งผลักดันอาเซียนให้ใช้ระบบ e-Form D หนุนการค้า คาดใช้จริงครบ 10 ประเทศภายในต้นปีหน้า
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ระหว่างเดือนมกราคม – ตุลาคม 2562 มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมอยู่ที่ 60,316.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ 78.03% ลดลงที่ 2.95% สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกที่ลดลง 2.4% ทั้งนี้ แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 55,885.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 4,431.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 จำนวน 12 ฉบับ (ไม่รวมความตกลงอาเซียน-ฮ่องกงที่เพิ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562) มีมูลค่า 55,885.19 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 79.59% ของมูลค่าการส่งออกรวมในรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 70,215.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยังคงลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 4.30% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอันเนื่องมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมถึงปัจจัยด้านค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ FTA
ในภาพรวมจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาแต่ยังมีตลาดศักยภาพที่มีการขยายตัวของอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ได้แก่ (1) เปรู ขยายตัวดีที่ 28.10% มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้า เช่น ถุงมือใช้ในทางศัลยกรรม รถจักรยานยนต์ความจุกระบอกสูบ 250-500 ลบ.ซม. เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัว เป็นต้น (2) จีน ขยายตัวที่ 3.77% มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้า เช่น ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุดสดหรือแห้ง เป็นต้น และ (3) ญี่ปุ่น ขยายตัวที่ 0.11% มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้า เช่น ปลาแมคเคอเรล ไก่ปรุงแต่ง กุ้งปรุงแต่ง เป็นต้น สำหรับตลาดที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ FTA ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ อาเซียน (ลดลง 7.02%) ออสเตรเลีย (ลดลง 13.98%) ชิลี (ลดลง 28.77%) อินเดีย (ลดลง 1.75%) และเกาหลี (ลดลง 5.82%)
ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA สูงสุด 5 อันดับแรกยังคงเป็น (1) อาเซียน (มูลค่า 20,836.78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) (2) จีน (มูลค่า 15,263.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) (3) ออสเตรเลีย (มูลค่า 6,743.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) (4) ญี่ปุ่น (มูลค่า 6,347.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ (5) อินเดีย (มูลค่า 3,654.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) กรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) อาเซียน-จีน (100%) (2) ไทย-ชิลี (100%) (3) ไทย-เปรู (90.62%) (4) ไทย-ญี่ปุ่น (89.01%) และ (5) อาเซียน-เกาหลี (82.98%) และรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุดสดหรือแห้ง และน้ำตาลจากอ้อย
การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ระหว่างเดือนมกราคม – ตุลาคม 2562 ไทยยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP จำนวน 4 ระบบ คือ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ โดยมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP 10 เดือนแรกอยู่ที่ 4,431.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 62.51% ของมูลค่าการส่งออกรวมในรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ซึ่งมีมูลค่า 7,089.13 ขยายตัวต่อเนื่องที่ 18.06% สำหรับ 10 เดือนแรกของปี 2562 ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิอยู่ที่ 4,029.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราการใช้สิทธิฯ 66.96% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิฯ ซึ่งมีมูลค่า 6,017.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา 11.57%
ถัดมาคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ อยู่ที่ 262.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีอัตราการใช้สิทธิฯ ที่ 35.02% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 749.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ 1.55% ส่วนรัสเซียและเครือรัฐ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ อยู่ที่ 118.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีอัตราการใช้สิทธิฯ ที่ 79.97% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 148.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ 14.08% และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ อยู่ที่ 19.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีอัตราการใช้สิทธิฯ ที่ 86.75% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 22.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ 17.54% สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยางอื่นๆ อาหารปรุงแต่งอื่นๆ น้ำผลไม้ และเลนส์แว่นตา
ในปี 2562 ที่ผ่านมา ไทยในฐานะประธานอาเซียนได้เร่งผลักดันและสนับสนุนการดำเนินการของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ยังไม่เข้าร่วมการเชื่อมโยงระบบการแลกเปลี่ยนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) ให้สามารถเข้าร่วมได้สำเร็จ เพื่อเพิ่มทางเลือกและส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าในอาเซียน ล่าสุด! ได้มีการเชื่อมโยงระบบดังกล่าวเป็นผลสำเร็จเพิ่มอีก 2 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา และสปป.ลาว ซึ่งพร้อมจะเข้าร่วมระบบ e-Form D ภายใต้กรอบอาเซียนแล้ว โดยกรมการค้าต่างประเทศจะเริ่มใช้แนวทางการอำนวยความสะดวกกับสองประเทศดังกล่าวผ่านระบบ e-Form D ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ระบบ e-Form D ถือเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการในการขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษี ณ ประเทศปลายทางในกลุ่มอาเซียน จากเดิมที่สามารถใช้เอกสารการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ 2 แบบ คือ Form D ที่เป็นกระดาษ และเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของผู้ส่งออก (Self Certification) ประกอบการดำเนินพิธีการทางศุลกากร เพื่อขอลดหย่อน/ยกเว้นภาษี ณ ประเทศปลายทางที่นำเข้าสินค้า ทั้งนี้ ปัจจุบัน ไทยดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูล e-Form D กับประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ (รวมไทยเป็น 7 ประเทศ) ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน และกัมพูชา แล้ว ดังนั้น หากเริ่มใช้ระบบดังกล่าวกับเมียนมาและ สปป. ลาว ก็จะคงเหลือประเทศฟิลิปปินส์เท่านั้นที่อยู่ในระหว่างการทดสอบระบบช่วงสุดท้าย อย่างไรก็ดี กรมฯ คาดว่าฟิลิปปินส์จะสามารถใช้งานระบบ e-Form D ได้ในช่วงต้นปี 2563
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับระบบ e-Form D หรือการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองสิทธิประโยชน์ทางการค้า โทร.02-547-4855 หรือเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือสายด่วน 1385
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web