WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1.AAA A AAExport

ส่งออกยังหดตัว พ.ย.ลด 7.39% ลุ้นทั้งปีติดลบไม่เกิน 2% ส่วนปี 63 คาดฟื้นตัวแน่

      ส่งออกพ.ย. ติดลบ 7.39% ลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน หลังเจอผลกระทบจากการส่งออกสินค้าน้ำมันและสินค้าเกี่ยวเนื่องหดตัวหนัก สินค้าเกษตรกรราคาลด และผลกระทบจากสงครามการค้ายังมีผล แม้จะเริ่มดีขึ้น ส่วน 11 เดือนยังลดลง 2.77% คาดทั้งปีลุ้นลบไม่เกิน 2% ส่วนปี 63 ประเมินฟื้นตัวแน่ โต 3% แต่ยังไม่ใช่เป้าทางการ หลังสงครามการค้าคลี่คลาย น้ำมันทรงตัว พาณิชย์เร่งเจาะตลาด ชี้ปัจจัยเสี่ยง ระวังเทรดวอร์ย้ายข้างไปยุโรป  

        น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยเดือนพ.ย.2562 มีมูลค่า 19,656.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.39% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน นับจากเดือนก.ค.2562 ที่ขยายตัวเป็นบวกและจากนั้นลดลง และยังขยายตัวลดลงสูงสุดในรอบ 3 ปี 7 เดือน นับจากเดือนเม.ย.2559 ที่ลดลงถึง 7.60% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,108.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 13.78% โดยเกินดุลการค้า 548.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

      ส่วนยอดรวมการส่งออก 11 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่า 227,090.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.77% นำเข้ามูลค่า 218,081.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.22% โดยเกินดุลการค้ามูลค่า 9,008.9 ล้านเหรียญสหรัฐ

       ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในเดือนพ.ย.ลดลง มาจากผลกระทบจากสินค้ากลุ่มน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ที่มีสัดส่วนการส่งออกกว่า 11% ลดลงถึง 27% แต่ก็เริ่มลดน้อยลง จากที่ก่อนหน้านี้ เดือนก.ย.และเดือนต.ค.ลดสูงถึง 40% และ 30% ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกลดลง ทำให้ราคาสินค้าเกษตรกไทยลดลงตามไปด้วย และยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากสงครามการค้า ซึ่งแม้ว่าขณะนี้จะเริ่มดีขึ้นและไทยปรับตัวได้มากขึ้น

    ส่วนการส่งออกเป็นรายสินค้า พบว่า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ลดลง 3.6% โดยผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลด 37.3% ข้าว ลด 31.4% ยางพารา ลด 18.4% กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป ลด 9.1% แต่น้ำตาลทราย เพิ่ม 105.3% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 10.4% ผักผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 7% เครื่องดื่ม เพิ่ม 3.8% และสินค้าอุตสาหกรรม ลด 6.4% โดยสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมันลด 27.2% รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลด 15.6% เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ ลด 14.8% ทองคำ ลด 8.5% แต่เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เพิ่ม 26.4% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เพิ่ม 25.9% อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่ม 10.4% เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เพิ่ม 8.8%

       สำหรับ ตลาดส่งออก พบว่า ตลาดหลัก ลด 6.9% จากการส่งออกไปสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น ลด 2.6% , 8.2% และ 10.9% ตลาดศักยภาพสูง ลด 6.1% จากการส่งออกไปเอเชียใต้ อาเซียน 5 ประเทศ และ CLMV ลด 15.2% , 11.1% และ 9.3% แต่ตลาดจีน กลับมาบวก 2.3% ฮ่องกง บวก 2.6% และตลาดศักยภาพรอง ลด 12.8% จากการส่งออกไปรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ทวีปออสเตรเลีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา ลด 26% , 22% 19.3% และ 10.9%

       น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า การส่งออกในเดือนธ.ค.2562 หากทำได้เกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกทั้งปีจะติดลบ 2% ซึ่งมองไว้ประมาณนี้ และยังเป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ประเมินเอาไว้ ซึ่งถือเป็นทิศทางเดียวกันกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวจากสงครามการค้า แต่การส่งออกไทยมีความหลากหลาย สินค้ามีคุณภาพสูง ทำให้ปรับตัวและรักษาฐานตลาดเดิมและขยายการส่งออกไปยังประเทศใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้น จึงได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคที่หดตัวมากกว่าไทย เช่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น

       อย่างไรก็ตาม คาดว่า หลังจากที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน บรรลุข้อตกลงการค้าในเฟสแรกได้แล้ว ทำให้บรรยากาศการค้าดีขึ้น และน้ำมันตลาดโลกกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันจะส่งออกดีขึ้น และกระทรวงพาณิชย์ยังมีมาตรการเชิงรุก ทั้งการเร่งรัดการส่งออกภายใต้ MOU ที่ได้ลงนาม การเจาะตลาดรายประเทศ และการเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อขยายตลาด ทำให้ส่งผลดีต่อการส่งออกในปี 2563 โดยคาดว่าน่าจะเป็นบวกได้ 3% แต่ยังไม่ใช่เป้าหมายทางการ และในปี 2563 ยังต้องจับตาปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่ยังมีความผันผวน หรือสงครามการค้าที่ย้ายฝั่งจากจีนไปยุโรป หากเร็วและแรง ก็จะส่งผลกระทบต่อการค้าโลกอีก ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ วอร์รูมกลุ่มเล็กได้เตรียมประชุมร่วมกับผู้ส่งออกเพื่อพิจารณาแนวทางรับมือแล้ว 

ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนพฤศจิกายน 2562

          ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว จากสงครามการค้าและปัจจัยอื่น ๆ ทำให้การค้าระหว่างประเทศและการส่งออกของหลายประเทศทั่วโลกหดตัวรวมทั้งประเทศไทยด้วย แต่การส่งออกของไทยยังคงรักษาระดับมูลค่าส่งออกได้ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาคที่หดตัวมากกว่าไทย เช่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยชั่วคราวในสินค้ากลุ่มน้ำมันและสินค้าเกี่ยวเนื่องที่การส่งออกลดลงอย่างมาก สาเหตุจากการปิดโรงกลั่นในประเทศเพื่อซ่อมบำรุงในช่วงปลายปี ทำให้การส่งออกน้ำมัน เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกรวมกันกว่าร้อยละ 11 ลดลงกว่าร้อยละ 27 แต่ในช่วงต้นปี 2563 จะกลับมาผลิตได้ตามเดิม

     อีกประเด็นที่เป็นพัฒนาการที่ดีคือ ผลกระทบของสงครามการค้าต่อการส่งออกของไทยเริ่มทรงตัว เห็นได้จากการที่ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปทดแทนในตลาดสหรัฐฯ และจีนได้ดีหลายกลุ่ม รวมทั้งการส่งออกไปจีน ไต้หวัน ฮ่องกง ขยายตัว แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของ supply chain ของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการกลับมาขยายตัวเป็นบวก เช่น เครื่องสันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ (กลับมาเป็นบวกในรอบ 10 เดือน) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (กลับมาเป็นบวกในรอบ 4 เดือน) ในรายตลาด การส่งออกไปสหรัฐฯ (หักอากาศยาน) ยังขยายตัวที่ร้อยละ 1.4 เช่นเดียวกับไต้หวันที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ขณะที่การส่งออกไปจีน และฮ่องกงกลับมาขยายตัว ที่ร้อยละ 2.3 และ 2.6 ตามลำดับ  รวม 11 เดือนของปี 2562 การส่งออกหดตัวร้อยละ 2.8

มูลค่าการค้ารวม

มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ

       เดือนพฤศจิกายน 2562 การส่งออก มีมูลค่า 19,657 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 19,108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 13.8 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 549 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวม 11 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 227,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 2.8) การนำเข้ามีมูลค่า 218,081 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 5.2) และการค้าเกินดุล 9,009 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท

      เดือนพฤศจิกายน 2562 การส่งออก มีมูลค่า 589,983 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 14.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้า มี 582,029 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20.0 ส่งผลให้การค้า เกินดุล 7,955 ล้านบาท รวม 11 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 7,054,237 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 5.6) การนำเข้ามีมูลค่า 6,873,512 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 7.9) และการค้าเกินดุล 180,725 ล้านบาท

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

     มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ร้อยละ 3.6 (YoY) สินค้าเกษตรสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 105.3 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ซูดาน จีน กัมพูชา และเวียดนาม) ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 10.4 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เกาหลีใต้ และมาเลเซีย)

     ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวที่ร้อยละ 7.0 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ฮ่องกง อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย) เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 3.8 (ขยายตัวในตลาดกัมพูชา เมียนมา จีน อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวที่ร้อยละ 37.3 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน และสหรัฐฯ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดเวียดนาม และเนเธอร์แลนด์) ข้าว หดตัวที่ร้อยละ 31.4 (หดตัวในตลาดจีน แอฟริกาใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐฯ แคเมอรูน และอังโกลา) ยางพารา หดตัวที่ร้อยละ 18.4 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และบราซิล แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดมาเลเซีย สหรัฐฯ และตุรกี) กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป หดตัวที่ร้อยละ 9.1 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และเกาหลีใต้ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดจีน มาเลเซีย และเมียนมา) รวม 11 เดือนแรกของปี 2562 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ร้อยละ 2.4

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

     มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวที่ร้อยละ 6.4 (YoY) สินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัวร้อยละ 26.4 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 25.9 (ขยายตัวในตลาดสหราชอาณาจักร เบลเยียม กัมพูชา จีน และเนเธอร์แลนด์) อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทอง ขยายตัวที่ร้อยละ 10.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เยอรมนี อินเดีย สิงคโปร์ และเบลเยียม) เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ขยายตัวที่ร้อยละ 8.8 (ขยายตัวในตลาดจีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวที่ร้อยละ 27.2 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย แต่ยังขยายตัวในปากีสถาน) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวที่ร้อยละ 15.6 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดเวียดนาม จีน และซาอุดิอาระเบีย) เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ หดตัวที่ร้อยละ 14.8 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย และเนเธอร์แลนด์ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐฯ เม็กซิโก และเวียดนาม) ทองคำ หดตัวที่ร้อยละ 8.5 (หดตัวในตลาดกัมพูชา สิงคโปร์ ไต้หวัน บังกลาเทศ และอิตาลี แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ เมียนมา และเกาหลีใต้) รวม 11 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวที่ร้อยละ 1.9

ตลาดส่งออกสำคัญ

       การส่งออกไปตลาดสำคัญๆ ได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งจากปัจจัยชั่วคราวของการส่งออกน้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องที่ลดลง ทั้งนี้ การส่งออกไปยังตลาดหลักหดตัวร้อยละ 6.9 เนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่หดตัวร้อยละ 2.6 8.2 และ 10.9 ตามลำดับ ด้านการส่งออกไปตลาดศักยภาพสูง หดตัวร้อยละ 6.1 เป็นผลมาจากการส่งออกไปเอเชียใต้ อาเซียน-5 และ CLMV หดตัวร้อยละ 15.2 11.1 และร้อยละ 9.3 ตามลำดับจากการส่งออกสินค้ากลุ่มน้ำมันที่ลดลง

    อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปจีนกลับมาขยายตัวร้อยละ 2.3 สำหรับ ตลาดศักยภาพระดับรอง หดตัวที่ร้อยละ 12.8 ตามการส่งออกไปตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ทวีปออสเตรเลีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา ที่หดตัวร้อยละ 26.0 22.0 19.3 และ 10.9 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปตะวันออกกลางขยายตัวร้อยละ 5.9

ตลาดสหรัฐอเมริกา

      หดตัวร้อยละ 2.6 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และแผงวงจรไฟฟ้า สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 11.4

ตลาดสหภาพยุโรป(15)

      หดตัวร้อยละ 8.2 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องยนต์สันดาปฯ อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรกขยายตัวทุกสินค้า ประกอบด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ อัญมณีและเครื่องประดับ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขณะที่11 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 7.0

ตลาดญี่ปุ่น

      หดตัวร้อยละ 10.9 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ เม็ดพลาสติก รถยนต์และส่วนประกอบ โทรทัศน์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 1.3

ตลาดจีน

      กลับมาขยายตัวร้อยละ 2.3 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ เครื่องยนต์สันดาปฯ น้ำตาลทราย และ เม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่11 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 4.7

ตลาด CLMV

        หดตัวร้อยละ 9.3 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ เคมีภัณฑ์ และอัญมณีและเครื่องประดับ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำตาลทราย รถยนต์ สินค้าปศุสัตว์ และเครื่องดื่ม ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 7.0

ตลาดอาเซียน-5

      หดตัวร้อยละ 11.1 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลฯ และเม็ดพลาสติก ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ และน้ำตาลทราย ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 9.6

ตลาดเอเชียใต้

        หดตัวร้อยละ 15.2 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล และโทรทัศน์และส่วนประกอบ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องคอมพิวเตอร์ ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 7.7

ตลาดอินเดีย

        หดตัวร้อยละ 14.1 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ โทรทัศน์และส่วนประกอบ รถยนต์และส่วนประกอบ และทองแดงฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องคอมพิวเตอร์ ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 3.2

ตลาดลาตินอเมริกา

       หดตัวร้อยละ 10.9 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ หม้อแปลงไฟฟ้าฯ และเครื่องจักรกลฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ขณะที่ 11 เดือนแรกของ ปี 2562 หดตัวร้อยละ 6.5

ตลาดตะวันออกกลาง

       ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 5.9 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศฯ น้ำตาลทราย อาหารทะเลแปรรูปฯ และเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เป็นต้น ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 2.9

ตลาดทวีปออสเตรเลีย

      หดตัวร้อยละ 22.0 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และอาหารทะเลแปรรูปฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และเครื่องจักรกลฯ ขณะที่11 เดือนแรกของ ปี 2562 หดตัวร้อยละ 3.9

ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS

      หดตัวร้อยละ 26.0 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องยนต์สันดาปฯ เครื่องปรับอากาศฯ และผลไม้กระป๋องฯ สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ยางพารา และเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่ 11 ดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 12

ตลาดทวีปแอฟริกา

     หดตัวร้อยละ 19.3 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ข้าว อาหารทะเลแปรรูปฯ เครื่องยนต์สันดาปฯ และรถยนต์และส่วนประกอบ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำตาลทราย เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ 11 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 10.4

แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2562

     การค้าระหว่างประเทศของไทยและการส่งออกของไทยมีทิศทางไปในแนวทางเดียวกันกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวจากสงครามการค้าและปัจจัยอื่นๆ แต่สินค้าส่งออกของไทยมีความหลากหลาย (product diversification) และมีคุณภาพสูง เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ทำให้สามารถรักษาฐานและขยายการส่งออกไปในประเทศต่างๆ ได้ ในช่วงต้นปี 2563 เมื่อการผลิตสินค้ากลุ่มน้ำมันทั้งหมดกลับมาสู่สภาวะปกติ น่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกในไตรมาสแรก

       ข้อตกลงทางการค้าระยะแรก (Phase-1 Deal) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะช่วยให้บรรยากาศการค้าดีขึ้นและคลายความกังวลได้ในระยะสั้นว่าสงครามการค้าจะไม่ลุกลามถึงการขึ้นภาษีนำเข้าเต็มจำนวนระหว่างกัน เช่นเดียวกันกับการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ที่มีความชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ – จีนในระยะที่ 2 ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากไม่มีรายละเอียดปรากฎแน่ชัด อีกทั้งยังมีประเด็นสำคัญเชิงโครงสร้างที่คาดว่าต้องใช้เวลาในการเจรจาต่อรอง นอกจากนี้ ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ จะยังกดดันแนวโน้มการส่งออกไทยในระยะสั้น – กลาง

     แม้ว่า ภาพรวมการส่งออกยังชะลอตัว สินค้าส่งออกหลายรายการ สามารถขยายตัวต่อเนื่อง สินค้าเกษตรและเกษตรอาหาร เช่น น้ำตาลทราย ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน นอกจากนี้ เห็นสัญญาณการกระจายตัวและขยายตลาดส่งออกไปตลาดใหม่มากขึ้นในสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ข้าว ในตลาดอิรัก แคเมอรูน เคนยา ยางพารา ในตุรกี และน้ำตาล ในซูดาน ซึ่งแม้ว่ายังมีสัดส่วนไม่มากนัก แต่ถือเป็นตลาดใหม่ที่ไม่ควรมองข้ามและเร่งเข้าทำตลาด โดยเฉพาะในช่วงที่การค้าเผชิญความท้าทายที่หลากหลายและรอบด้านในปัจจุบัน

       นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง มุ่งมั่นเร่งรัดการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญและสินค้าอุตสาหกรรม ตามที่ได้ลงนามข้อตกลง MOU ในหลายประเทศ รวมทั้งสิ้น 35 ฉบับ มูลค่ากว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อาทิ ยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์ไก่สดและไก่แปรรูป มันสำปะหลัง และยางรถยนต์ เพื่อผลักดันการส่งออกในช่วงเดือนธันวาคม 2562 และไตรมาสแรกของปี 2563 ต่อไป และกระทรวงพาณิชย์จะเร่งผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจา FTA ในอนาคต เพื่อขยายฐานตลาดส่งออกให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

           โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

ais 790x90GC 790x90

sme 720x90banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!