WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1.AAA A AAเงินเฟ้อพ.ย

เงินเฟ้อพ.ย.62 เลิกชะลอตัว เพิ่มขึ้น 0.21% เหตุราคาสินค้าขยับปกติ ไร้แรงกดดันจากน้ำมันลด

     พาณิชย์”เผยเงินเฟ้อพ.ย.2562 เพิ่มขึ้น 0.21% เริ่มดีดตัวขึ้น หลังไร้แรงกดดันจากราคาน้ำมันที่ก่อนหน้าเคยลดมากจนฉุดเงินเฟ้อให้ชะลอตัวลง ส่วนสินค้าทั่วไปเคลื่อนไหวในทิศทางปกติทั้งขึ้นและลง คาดเงินเฟ้อจากนี้ไป จะปรับตัวสูงขึ้น จับตากลุ่มเกษตร ราคาจะขึ้นลงตามฤดูกาล แนะรัฐอุ้มค่าโดยสาร เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน หลังราคายังพุ่ง คาดตัวเลขทั้งปี 0.7-0.8%   

      น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพ.ย.2562 เท่ากับ 102.61 ลดลง 0.13% เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.2562 ที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้น 0.21% เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.2561 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่เริ่มปรับตัวลดลงมาตั้งแต่เดือนส.ค.2562 ที่เพิ่มขึ้น 0.52% ก.ย.2562 เพิ่ม 0.32% และมาต่ำสุดเดือนต.ค.2562 เพิ่มขึ้น 0.11% ส่วนเงินเฟ้อรวม 11 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-พ.ย.) เพิ่มขึ้น 0.69% และเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงานออก เทียบกับเดือนต.ค.2562 เพิ่ม 0.03% เทียบกับพ.ย.2561 เพิ่ม 0.47% และ 11 เดือน เพิ่ม 0.53%

       “เงินเฟ้อเดือนพ.ย.ที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าที่เคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ส่วนหนึ่งมาจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น เพราะเกษตรกรมีรายได้จากโครงการประกันรายได้ที่รัฐได้จ่ายส่วนต่างจากราคาประกัน มีรายได้จากราคาสินค้าเกษตรหลายตัวที่ปรับตัวสูงขึ้น และรัฐยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างชิมช้อปใช้ ที่ทำให้ประชาชนมีการใช้จ่ายมากขึ้น และอีกส่วนมาจากความผันผวนของราคาน้ำมันได้ลดลง อย่างเดือนนี้ ก็ลดต่ำสุดเหลือแค่ในรอบ 4 เดือน โดยเดือนต่อๆ ไป คาดว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติจากราคาที่ใกล้เคียงกับปีก่อน ทำให้เงินเฟ้อจะสะท้อนการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าได้ชัดเจนขึ้น”

        สำหรับ รายละเอียดราคาสินค้าในเดือนพ.ย.2562 พบว่า หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 1.51% มาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่ม 8.92% เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ เพิ่ม 1.73% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 2.83% ผลไม้ เพิ่ม 3.16% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 2.05% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.70% นอกบ้าน เพิ่ม 0.28% แต่ผักสด ลด 5.43% เครื่องประกอบอาหาร ลด 0.23% ส่วนสินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลด 0.53% มาจากการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิงถึง 7.54% การขนส่งและการสื่อสาร ลด 1.97% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลด 0.10% แต่เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เพิ่ม 0.29% เคหสถาน เพิ่ม 0.30% การรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.32% การบันเทิง การอ่าน การศึกษา เพิ่ม 0.76%

        ส่วนความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการในเดือนพ.ย.2562 จำนวน 422 รายการ พบว่า มีสินค้าปรับสูงขึ้น 228 รายการ เช่น ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า ไข่ไก่ เนื้อสุกร กับข้าวสำเร็จรูป ค่าโดยสาร ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน สินค้าปรับราคาลดลง 106 รายการ เช่น น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ E20 น้ำมันเบนซิน 95 ผักคะน้า ผักชี ผักบุ้ง น้ำมันพืช และสินค้าที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคา 88 รายการ

     น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อจากนี้ไป จะเพิ่มขึ้นตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าที่แท้จริง เพราะแรงกดดันจากราคาพลังงานไม่มีแล้ว เนื่องจากราคาใกล้เคียงกับปีก่อน โดยสินค้าที่ยังน่าเป็นห่วง คงจะเป็นกลุ่มสินค้าเกษตรที่ราคาขึ้นลงตามฤดูกาล ส่วนบริการที่ต้องติดตาม คือ ค่าโดยสารสาธารณะ ที่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นถึง 6.17% ถ้ารัฐบาลมีนโยบายในการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ก็จะช่วยลดค่าครองชีพได้ เพราะค่าโดยสารสาธารณถือว่ามีสัดส่วนในการคำนวณเงินเฟ้อมาก

     ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2562 จะยังคงอยู่ในกรอบ 0.7-1.0% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 0.7-0.8%

 เงินเฟ้อ1

สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนพฤศจิกายน 2562

ภาพรวม

    ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพฤศจิกายน 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.21 (YoY) ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน (หลังจากชะลอตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ส.ค.) โดยมีสาเหตุสำคัญจากหมวดพลังงาน ที่หดตัวในอัตราต่ำที่สุดในรอบ 4 เดือน ในขณะที่หมวดอื่น ๆ ยังขยายตัวและเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ ซึ่งสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดอื่นๆ ทั้งดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.47 เฉลี่ย 11 เดือน เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.69 (AoA) และเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 0.53 (AoA)

    การขยายตัวของเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องและปรับตัวดีขึ้นในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านการบริโภคที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการบริโภคในประเทศ ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และการเพิ่มขึ้นของยอดการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายตัวเพิ่มขึ้นและส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดด้านอุปสงค์การลงทุน อาทิ การจำหน่ายปูนซีเมนต์ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก การจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง และยอดการทำธุรกรรมอสังหาฯ ยังลดลง โดยส่วนหนึ่งน่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการชะลอการลงทุนของภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อพิจารณาปัจจัยโดยรวมแล้ว ชี้ว่า สถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการของประเทศยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ และสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของอุปทานและอุปสงค์ในตลาด

สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนพฤศจิกายน 2562

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป)

     เดือนพฤศจิกายน 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.21 (YoY) ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 1.51 จากข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 8.92 โดยเฉพาะข้าวสารเหนียว ที่แหล่งเพาะปลูกเสียหายจากอุทกภัย และแหล่งน้ำมีน้อยไม่สามารถเพาะปลูกได้ ทำให้ผลผลิตมีน้อย เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 1.73 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาเนื้อสุกรหน้าฟาร์มเนื่องจากเกษตรกรรายย่อยลดการเลี้ยง และมีการเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ยกเว้นกุ้งขาว ราคาลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและความต้องการโลกที่ลดลง ส่วนปลาน้ำจืด (ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล) ปริมาณลดลงจากแหล่งน้ำธรรมชาติขาดแคลน ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 2.83 ตามการลดลงของปริมาณไก่ไข่ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้) สูงขึ้นร้อยละ 2.05 จากการปรับภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสมเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.70 และ 0.28 ตามลำดับ รวมทั้งผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 3.16

     ในขณะที่ผักสด (ผักคะน้า ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง) ลดลงร้อยละ 5.43 ตามปริมาณผลผลิตที่ออกมาก เนื่องจากสภาพอากาศเหมาะต่อการเพาะปลูก ประกอบกับฐานราคาในปีที่ผ่านมาสูง เครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม) ลดลงร้อยละ 0.23  หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.53 ตามการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 1.97 โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 7.54 ขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะ (รถโดยสารประจำทาง รถตู้ ค่าเครื่องบิน) สูงขึ้นร้อยละ 6.17  หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (เบียร์ ไวน์ ) ลดลงร้อยละ 0.10  ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (เสื้อผ้าบุรุษและสตรี) สูงขึ้นร้อยละ 0.29  หมวดเคหสถาน (ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน หลอดไฟฟ้า) สูงขึ้นร้อยละ 0.30  หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (ค่ายา ค่าตรวจรักษา ค่าของใช้ส่วนบุคคล) สูงขึ้นร้อยละ 0.32 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ (ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าทัศนาจรในและต่างประเทศ) สูงขึ้นร้อยละ 0.76

           ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2562 ลดลงร้อยละ 0.13 (MoM) เฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.69 (AoA)

ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนพฤศจิกายน 2562

           เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.1 (YoY) ตามการลดลงของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.6 และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 7.0 โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันปิโตรเลียมดิบ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สิ่งทอ เยื่อกระดาษ และโลหะขั้นมูลฐาน โดยมีเหตุผลสำคัญจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบ ในขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.7 แต่มีแนวโน้มชะลอตัวจากเดือนที่ผ่านมา โดยสินค้าสำคัญที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว และผลไม้ รวมทั้งผลปาล์มสดที่ปรับตัวสูงขึ้นตามมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนการนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (บี 7 บี 10 และบี 20) สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า อ้อย หัวมันสำปะหลัง ยางพารา และผักสด ตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการยังทรงตัว

      ดัชนี ราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2562 ลดลงร้อยละ 0.5 (MoM) เฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.0 (AoA)

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนพฤศจิกายน 2562

       เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.1 (YoY)     จากการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 16.5 ที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 โดยเฉพาะเหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ผิวข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ปรับลดลงตามราคาวัตถุดิบ (เศษเหล็ก) ประกอบกับความต้องการใช้ลดลง ตามการชะลอของโครงการก่อสร้างของภาครัฐที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณางบประมาณ หมวดซีเมนต์ (ปูนซีเมนต์ผสม)ลดลงร้อยละ 0.2 สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายในประเทศ และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.2  โดยเฉพาะยางมะตอยที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบ ขณะที่หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน) สูงขึ้นร้อยละ 11.2 ราคาสูงขึ้นต่อเนื่องจากช่วงต้นปี หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต (เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง คอนกรีตบล็อกก่อผนังมวลเบา คอนกรีตบล็อกปูพื้น) สูงขึ้นร้อยละ 1.2 ความต้องการเพิ่มขึ้น เพื่อซ่อมแซมอาคาร บ้านเรือน และสาธารณูปโภคจากอุทกภัยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงที่ผ่านมา และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา (ประตูน้ำ) สูงขึ้นร้อยละ 0.1 สำหรับหมวดกระเบื้อง และหมวดวัสดุฉาบผิว ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง

    ดัชนี ราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2562 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง เฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.2 (AoA)

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนพฤศจิกายน 2562

       ดัชนี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม อยู่ที่ระดับ 44.5 ปรับตัวลดลง จากระดับ 46.3 ในเดือนตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงทั้งความเชื่อมั่นในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและอนาคต ปรับตัวลดลงจากระดับ 40.5 และ 50.2 มาอยู่ที่ 39.0 และ 48.2 ตามลำดับ คาดว่ามาจากความกังวลต่อปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่มีสัญญาณในการฟื้นตัวที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตเฉลี่ย 11 เดือน อยู่ที่ระดับ 53.3 (อยู่ในระดับเชื่อมั่น) ชี้ว่า ผู้บริโภคยังมีมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต

สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายน 2562

       อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากแรงกดดันจากราคาน้ำมันเริ่มลดลง ในขณะที่สินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับอุปทานและอุปสงค์ โดยตัวชี้วัดด้านอุปสงค์ภาคการลงทุนกับภาคการบริโภคยังมีทิศทางที่แตกต่างกัน โดยตัวแปรภาคการลงทุนยังลดลง ในขณะที่ตัวแปรด้านการบริโภคภาคเอกชนหลายตัวยังขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ทั้งมาตรการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจรากหญ้า มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย รวมทั้งโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 น่าจะมีความชัดเจนขึ้นและสามารถดำเนินการได้เต็มที่ น่าจะช่วยให้ปัจจัยด้านอุปสงค์เป็นไปในทิศทางเดียวกันและเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญในระยะต่อไป

     สำหรับ แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าอิทธิพลของพลังงานจะลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากราคาน้ำมันในปีนี้เริ่มใกล้เคียงกับปีก่อน ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในลักษณะปกติ ยกเว้นสินค้าเกษตร ซึ่งอาจมีความผันผวนอยู่บ้าง ทำให้เงินเฟ้อในเดือนธันวาคมน่าจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และทำให้เงินเฟ้อทั้งปีน่าจะอยู่ในกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ 0.7 – 1.0

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

ais 790x90GC 790x90

sme 720x90banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!