- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 29 November 2019 20:04
- Hits: 435
พาณิชย์ เจ้าภาพถกเอฟทีเอไทย-ตุรกี รอบ 6 เน้นลงลึกการเปิดตลาด ลด เลิกภาษีสินค้า
พาณิชย์”เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาเอฟทีเอไทย-ตุรกี รอบที่ 6 เตรียมหารือลงลึกรายละเอียดการเปิดตลาด ลด และยกเลิกภาษีศุลกากรการค้าสินค้าระหว่างกัน พร้อมเดินหน้าหารือหัวข้อที่จะมีในความตกลง หวังปูทางปิดการเจรจาให้ได้ภายในปี 63 ยันไทยได้ประโยชน์เพียบ ทั้งใช้ตุรกีเป็นประตูสู่เอเชีย แอฟริกาและยุโรป และมีสินค้าที่จะส่งออกได้เพิ่มขึ้นอีกเพียบ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ตุรกี รอบที่ 6 ระหว่างวันที่ 2-4 ธ.ค.2562 ที่กรุงเทพฯ โดยการเจรจารอบนี้ จะเน้นหารือเรื่องการเปิดตลาด ลด และยกเลิกภาษีศุลกากรในการค้าสินค้าระหว่างสองประเทศ รวมทั้งการจัดทำข้อบทเอฟทีเอต่อเนื่องจากการประชุมรอบที่แล้ว เบื้องต้นคาดว่าความตกลงฉบับนี้จะประกอบด้วย 11 ข้อบท เช่น การค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการเยียวทางการค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัย และอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า เป็นต้น และตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาภายในปี 2563
“ไทยให้ความสำคัญกับการจัดทำเอฟทีเอกับตุรกี เนื่องจากตุรกีถือเป็นตลาดศักยภาพที่มีประชากรกว่า 80 ล้านคน มีนักท่องเที่ยวมาเยือนกว่า 40 ล้านคนต่อปี รวมทั้งตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์การค้าที่สำคัญ สามารถเป็นประตูสู่ 3 ทวีป ได้แก่ เอเชีย แอฟริกา และยุโรป และคาดว่าการจัดทำความตกลงเอฟทีเอไทย-ตุรกี จะช่วยดันมูลค่าการค้าสองฝ่ายขยายตัวจาก 1,427 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 เป็น 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 ตามที่รัฐมนตรีด้านการค้าของทั้งสองประเทศตั้งเป้าไว้”
สำหรับ สินค้าสำคัญที่คาดว่าไทยน่าจะได้รับประโยชน์จากการทำเอฟทีเอ เช่น สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์อินทรีย์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง หม้อไอน้ำ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผักและผลไม้เมืองร้อน เป็นต้น
ทั้งนี้ ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 36 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยปี 2561 สองประเทศมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 1,427 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปตุรกี 1,082 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากตุรกี 345 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เส้นใยประดิษฐ์ ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทย เช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องประดับ อัญมณี และรถไฟ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web