- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 22 November 2019 19:24
- Hits: 3869
ส่งออกต.ค.ยังติดลบ 4.54% แต่มีข่าวดี“คอมพิวเตอร์-แผงวงจรไฟฟ้า”เริ่มฟื้นจากพิษเทรดวอร์
ส่งออกเดือนต.ค.ยังไม่ฟื้น ลดลง 4.54% ติดลบเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เหตุได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางจากมาตรการกีดกันทางการค้า เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญชะลอตัวลง และมูลค่าส่งออกน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันลดหนัก แต่ยังมีข่าวดีที่ผลกระทบจากสงครามการค้าเริ่มบรรเทาลง ส่งออกคอมพิวเตอร์เพิ่มครั้งแรกในรอบ 13 เดือน แผงวงจรไฟฟ้าเพิ่มในรอบ 2 เดือน คาดตัวเลขทั้งปีลบไม่ถึง 2% ส่วนปี 63 เป็นบวกแน่นอน
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนต.ค.2562 มีมูลค่า 20,757.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.54% เป็นการขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เพราะการส่งออกยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางจากมาตรการกีดกันทางการค้า ส่งผลให้เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญชะลอตัวลงในรอบหลายปี ทำให้มีการนำเข้าสินค้าลดลง และยังได้รับผลกระทบจากการลดลงของราคาน้ำมัน ทำให้มูลค่าส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปลดถึง 35.40% และสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันลด 25.8% แต่หากหักมูลค่าการส่งออกน้ำมันและทองคำออก จะเหลือติดลบเพียง 1% เท่านั้น ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 20,251.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.57% โดยยังเกินดุลการค้ามูลค่า 506.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่การส่งออกในช่วง 10 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 207,329.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.35% การนำเข้ามีมูลค่า 199,441.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.09% เกินดุลการค้ามูลค่า 7,887.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แม้การส่งออกจะลดลง แต่มูลค่าที่ทำได้เกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นระดับที่น่าพอใจ และยังพบอีกว่าการส่งออกสินค้าหลายตัวเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะตัวที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า เช่น คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนประกอบ เป็นบวกได้ในรอบ 13 เดือน มูลค่าใกล้เคียงกับช่วงก่อนที่มาตรการภาษีภายใต้สงครามการค้าจะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบเดือนก.ย.2561 และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นบวกได้ในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีสินค้าหลายรายการมีสัญญาณการส่งออกขยายตัว โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น น้ำตาลทราย , ผัก ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป , ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ, เครื่องดื่ม และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง , รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ , เครื่องนุ่งห่ม , เครื่องสำอางสบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว , แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า , เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และนาฬิกาและส่วนประกอบ
อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่การส่งออกยังคงลดลง เช่น ข้าว , ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง , ยางพารา , กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป , สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน , เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ , เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เป็นต้น
สำหรับ ตลาดส่งออก ส่วนใหญ่หดตัว ทั้งสหภาพยุโรป (15 ประเทศ) ลด 8.8% อาเซียน (9 ประเทศ) ลด 9.3% จีน ลด 4.2% อินเดีย ลด 17.2% ฮ่องกง ลด 3.4% เกาหลีใต้ ลด 1.15% ทวีปออสเตรเลีย ลด 7.1% ลาตินอเมริกา ลด 13.2% รัสเซียและซีไอเอส ลด 10.8% เว้นสหรัฐฯ เพิ่ม 4.8% ญี่ปุ่น เพิ่ม 0.5% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 97%
ส่วนการนำเข้าเดือนต.ค.2562 ที่ลดลง 7.57% มาจากการลดลงของสินค้าเกือบทุกหมวด โดยหมวดเชื้อเพลิง ลด 28.5% สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลด 9.3% สินค้าอุปโภคบริโภค ลด0.8% ยกเว้นยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง เพิ่ม 3.1% อาวุธ ยุทปัจจัย และสินค้าอื่นๆ เพิ่ม 18.9% รวมถึงสินค้าทุน เพิ่ม 3.1% และยังมีการนำเข้าเครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 79.3% รถไฟ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 293.6%
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ คาดว่าการส่งออกเดือนพ.ย.2562 น่าจะยังติดลบอยู่ แต่จะเป็นบวกในเดือนธ.ค.2562 เพราะเดือนธ.ค.2561 ฐานต่ำมาก มีมูลค่าเพียง 19,400 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น ทำให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2563 น่าจะขยายตัวติดลบ 1.55-1.60% ไม่น่าจะติดลบถึง 2% ส่วนปี 2563 ประเมินว่าการส่งออกจะกลับมาเป็นบวกได้ โดยส่วนตัวมองว่าน่าจะบวกได้ใกล้เคียง 2% แต่ต้องรอเป้าหมายอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web