- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 20 November 2019 19:06
- Hits: 6959
พาณิชย์ งัด 3 มาตรการดันราคาข้าว ให้สินเชื่อชาวนา-รวบรวมข้าว-ชดเชยดอกเบี้ยเก็บสต๊อก
พาณิชย์ งัด 3 มาตรการดูแลราคาข้าวเปลือกช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เล็งให้สินเชื่อชาวนาเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางตันละ 1,500 บาท เป้าหมาย 1 ล้านตัน สนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรรวบรวมข้าวเปลือก และชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ใช้วงเงินรวม 2,572.50 ล้านบาท มั่นใจดึงราคาให้สูงขึ้นแน่
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการค้าข้าว ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรมส่งเสริมสหกรณ์ สมาคมธนาคารไทย และองค์การคลังสินค้า (อคส.) พิจารณามาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปีการผลิต 2562/63 เพื่อนำมาใช้ในการดูแลราคาข้าวเปลือกที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงในขณะนี้ หลังจากที่ผลผลิตข้าวนาปีเริ่มทยอยออกสู่ตลาด โดยเฉพาะข้าวเปลือกหอมมะลิที่กำลังทยอยเก็บเกี่ยวเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ในการดำเนินการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ได้เห็นชอบกรอบการใช้เงินงบประมาณปี 2563 วงเงินรวม 4,289.86 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังได้อนุมัติการใช้เงินแล้ว และในจำนวนนี้ เป็นวงเงินที่จะนำมาใช้ในการดูแลราคาข้าวเปลือกรวม 2,572.50 ล้านบาท เพื่อดำเนิน 3 โครงการเร่งด่วน ซึ่งจะนำมาใช้คู่ขนานไปกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562/63 และจะสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนธ.ค.2562
สำหรับ 3 โครงการที่จะดำเนินการ ได้แก่ 1.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก โดยให้สินเชื่อเกษตรกรรายบุคคล และสถาบันเกษตรกร เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง เป้าหมาย 1 ล้านตันข้าวเปลือก โดยให้ค่าใช้จ่ายในการฝากเก็บตันละ 1,500 บาท วงเงิน 1,500 ล้านบาท และชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกรเป็นระยะเวลา 5 เดือน
2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวม ข้าวโดยสถาบันเกษตรกร โดยสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อรวบรวมข้าวเปลือก เพื่อจำหน่าย และหรือเพื่อการแปรรูป โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระดอกเบี้ยในร้อยละ 3 ต่อปี วงเงิน 562.5 ล้านบาท
3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก เป้าหมายให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรแล้วเก็บเป็นระยะเวลา 2-6 เดือน โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 วงเงิน 510 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กรมฯ เห็นว่า สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกที่มีการปรับตัวอ่อนลงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากคุณภาพข้าว และส่วนหนึ่งมาจากผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก แต่เชื่อว่า หลังจากที่มาตรการเร่งด่วน 3 มาตรการได้นำออกมาใช้ จะช่วยผลักดันราคาให้ปรับตัวสูงขึ้น เพราะข้อเท็จจริง ปริมาณข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวมีปริมาณน้อยลงกว่าเป้าหมาย เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง อุทกภัย และการระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าว
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web