WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

เปิดมุมมอง'เอกฉัตร ศีตวรรัตน์''การทำการค้าต้องกล้าเผชิญกำไร-ขาดทุน'

     แนวหน้า : “ถ้าคิดจะทำการค้าขอให้กล้าและอดทน กล้าเรื่องอะไร กล้าเผชิญกับผลกำไร และพร้อมกล้าเผชิญกับการขาดทุน ทุกบริษัทฯ ล้วนเคยประสบกับการขาดทุนมาก่อนแต่นั่นคือ การเรียนรู้ครับ และ อดทนต่ออะไร อดทนในการต่อสู่และการแข่งขัน เพื่อพัฒนาสินค้าและความสามารถของตนเอง”

     สถาบันองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ถือเป็นองค์กรที่มีความสำคัญต่อบรรดาผู้ประกอบการที่ต้องการจะทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ  “เอกฉัตร  ศีตวรรัตน์”ผู้อำนวยการสถาบันองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดใจให้สัมภาษณ์ “โลกธุรกิจ”ถึงภารกิจของสถาบันตลอดจนวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้อำนวยการสถาบัน

      “ภารกิจและหน้าที่ของสถาบันคือการให้บริการด้านความรู้ จัดทำ พัฒนาหลักสูตรเพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และ การทำธุรกิจในต่างประเทศ ทั้งในเรื่องของการทำตลาด ตัวสินค้า รวมถึงธุรกิจบริการด้านต่างๆ  เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการให้มีความพร้อมในการทำการค้าระหว่างประเทศ  โดยกลุ่มเป้าหมายของเราคือผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะขนาดเล็ก และ ขนาดกลาง หรือ ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค”

     “เอกฉัตร”อธิบายว่า ปีหนึ่งๆ สถาบันมีโครงการฝึกอบรมสัมมนา ประมาณ 80 โครงการ แบ่งเป็น 1.โครงการฝึกอบรมสัมมนาในส่วนกลางประมาณ 45 โครงการ แบ่งเป็น

   - โครงการฝึกอบรมพัฒนาความรู้ความสามารถในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ อาทิเช่น ความรู้เบื้องต้นในการส่งออก เทคนิคการเจรจาต่อรองทางการค้า เอกสารธนาคารในการส่งออกและนำเข้า การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าให้คุ้มทุน ฯลฯ

     - โครงการให้ความรู้เกี่ยวกับตลาดและช่องทางการตลาดในต่างประเทศ ประมาณ 15 โครงการ ซึ่งในปี 57 และ 58 เน้นในเรื่องของอาเซียน และ อาเซียน + 6 (จีน/ญี่ปุ่น/เกาหลีใต้/อินเดีย/ ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์)และตลาดใหม่ๆที่น่าสนใจที่สินค้าไทยน่าจะมีส่วนแบ่งของตลาดได้เพิ่มมากขึ้นเช่นประเทศในตะวันออกกลางบางประเทศ หรือ ลาตินอเมริกา บางประเทศ โดยเฉพาะโอกาสการจัดกิจกรรมสำคัญๆ (BIG EVENT) เช่น ฟุตบอลโลกที่ผ่านมา หรือ World Expo ที่มิลาน และ ดูไบที่ กำลังจะมีขึ้นในปี 2015 และ ปี 2020

    - โครงการให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการทำตลาดสินค้าเฉพาะหรือความต้องการสินค้าบางประเภทใหม่ๆ ตามแนวโน้มของโลก เช่น กลุ่มคนผู้สูงอายุ Green Product ฯลฯ

   2. โครงการฝึกอบรมสัมมนาในส่วนภูมิภาค(ต่างจังหวัด) โดยในปี 57 และปี 58 จะจัดขึ้นในจังหวัดที่เป็นมีผู้ประกอบการส่งออกอยู่มาก หรือ เป็นจังหวัดที่มีด่านเศรษฐกิจ ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สุราษฏร์ สงขลา เชียงใหม่ เชียงราย ตาก อุดร หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อุบล และ จันทบุรี เป็นต้น ซึ่งโครงการฝึกอบรมสัมมนาในภูมิภาคนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลของกระทรวงพาณิชย์ ในการเติมขีดความสามารถผู้ประกอบการในภูมิภาคที่มีการทำธุรกิจค้าระหว่างประเทศตามแนวชายแดนหลังเปิด AEC ในปี 2559 นี้

      3. โครงการฝึกอบรมให้ความรู้ทางออนไลน์ มีประมาณ 10 โครงการ เปิดโครงการละ 2 ครั้ง / ปี ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการพัฒนาความรู้ความสามารถให้ตัวผู้ประกอบการเช่นกันแต่เป็นการเรียนทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเหมาะกับผู้ประกอบการมีภารกิจมาก ไม่สะดวกเดินทางมาที่สถาบันฯ หรือ ผู้ประกอบการในภูมิภาค มีโอกาสได้รับการพัฒนาด้านความรู้ โครงการจัดสัมมนาออนไลน์มี อาทิ เช่น เรื่องเทคนิคการเจรจาการค้าสู่ความสำเร็จ การจัดแผนธุรกิจเพื่อการส่งออก ความรู้เบื้องต้นในการส่งออก การจัดเตรียมเอกสารส่งออก กลยุทธ์การค้าออนไลน์ ฯลฯ

     ทั้งนี้ “เอกฉัตร” ย้ำว่า ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมานั้น มีการจัดฝึกอบรมสัมมนาพัฒนาผู้ประกอบการเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสู่ AEC มีมากมาย ทั้งภาคราชการและภาคเอกชน ซึ่งถือว่า เป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการแสวงหาและตักตวงความรู้นะ เพราะตอนนี้ จะมีกฎระเบียบข้อตกลงใหม่ๆ ออกมาไม่ว่าจะเกี่ยวกับการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว แรงงาน ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องได้รับรู้เพื่อหาโอกาสในการสร้างการค้า พัฒนาเกี่ยวกับเรื่องของตนเองในการเข้าถึงพื้นที่ของกลุ่มประเทศ AEC ให้มากขึ้น

     “เราจะช้าไม่ได้ SME ไทย มีโอกาส SME ของประเทศอาเซียนอื่นก็มีโอกาสเช่นกัน ดังนั้น จึงควรรีบรับข้อมูลความรู้ไว้เมื่อถึงโอกาสจะได้นำมาใช้ได้ทันท่วงที ขนาดบริษัทขนาดใหญ่ เขาก็ปรับตัว พวกขนาดเล็กและขนาดกลางก็ต้องให้ความสำคัญในการปรับตัวรวมทั้งความคิดด้วยนะครับ ไม่ใช่ว่าคิดค้าในประเทศต้องคิดกว้างกว่านั้น ทั้งเป็นผู้ประกอบการผลิตเอง เป็นเจ้าของสินค้ามีแบรนด์ตัวเอง หรือจะเป็น Trader ก็ตามก็อาจจะนำหรือส่งออกสินค้าจากประเทศสมาชิก AEC สู่ประเทศที่สามอื่นๆ ได้อีกเช่นกัน”

    อย่างไรก็ตาม'เอกฉัตร' ได้อธิบายถึง ลักษณะเด่นของโครงการที่สถาบันองค์ความรู้ฯ จัดและแตกต่างจากหน่วยงานอื่นๆคือ เรามีสคร.อยู่ทั่วโลกอยู่ 61 แห่ง กับผู้ประกอบการที่กรมฯ พาไปพัฒนาและทำกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในแต่ละตลาดกว่า 100,000 รายต่อปี บุคคลที่กล่าวมานี้ถือเป็นบุคลากรสำคัญที่สถาบันฯ เรียนเชิญเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านกฎระเบียบการค้า ข้อมูลและช่องทางด้านตลาด และข้อมูลตัวสินค้าตลอดจนเทคนิคการทำตลาดของแต่ละประเทศให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจทำการค้าระหว่างประเทศ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

     “ถ้าคิดจะทำการค้าขอให้กล้าและอดทน กล้าเรื่องอะไร กล้าเผชิญกับผลกำไร และพร้อมกล้าเผชิญกับการขาดทุน ทุกบริษัทฯ ล้วนเคยประสบกับการขาดทุนมาก่อนแต่นั่นคือ การเรียนรู้ครับ และ อดทนต่ออะไร อดทนในการต่อสู่และการแข่งขัน เพื่อพัฒนาสินค้าและความสามารถของตนเอง

     แต่ถ้าจะทำการค้าในต่างประเทศ ต้องหาคู่คิดทางการค้ากับกิจกรรมและบริการทางการค้าของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศนะครับ หรือ สามารถดูได้ที่ www.ditp.go.th”

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!