WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

01 CFABaPimchanok

น้ำมันลดแรง ฉุดเงินเฟ้อเดือนต.ค.62 เพิ่มขึ้นแค่ 0.11% ชะลอตัวลงในรอบ 28 เดือน

 

สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนตุลาคม 2562

ภาพรวม

          ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนตุลาคม 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.11 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องค่อนข้างมากจากร้อยละ 0.52 และ 0.32 ในเดือนสิงหาคม และกันยายน ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญของการชะลอตัวยังคงเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาพลังงาน ซึ่งในเดือนนี้ ดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศลดลงถึงร้อยละ 11.57 ซึ่งเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ต่ำที่สุดในรอบ 43 เดือน ในขณะที่สินค้ากลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะข้าวสาร ผักสด และผลไม้สด ยังคงขยายตัวได้ดี และสินค้าในหมวดอื่นๆ ยังคงเคลื่อนไหวในระดับที่ทรงตัว ทั้งนี้เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว  เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.44 (เดือนก่อนขยายตัวร้อยละ 0.44) และเฉลี่ย 10 เดือน เงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 0.74 และร้อยละ 0.53 ตามลำดับ

         การชะลอตัวของดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ สอดคล้องกับการหดตัวของดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ที่ลดลงในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงถึงร้อยละ 2.5 และ 3.1 ตามลำดับ โดยดัชนีราคาในหมวดอุตสาหกรรมยังลดลงต่อเนื่องจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นหลัก ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดเกษตรกรรมยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากข้าวเปลือก ข้าวโพด ผักสด สุกร และไก่มีชีวิต เป็นสำคัญ  ซึ่งเมื่อหักราคาสินค้าและบริการในหมวดที่เกี่ยวข้องกับพลังงานแล้ว พบว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยในหมวดอื่นๆ ยังคงขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆ ทั้งราคาสินค้าเกษตรสำคัญ และรายได้เกษตรกรที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งยอดการใช้จ่ายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง ชี้ว่าสถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการที่ไม่รวมพลังงาน ยังอยู่ในระดับเสถียรภาพและเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับอุปสงค์และอุปทาน

สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนตุลาคม 2562

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป)

           ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนตุลาคม 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.11 (YoY) ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 2.22 โดยข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 8.88 โดยเฉพาะข้าวสารเหนียว และข้าวสารเจ้า เนื่องจากผลผลิตน้อย ผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 6.03 โดยเฉพาะผักสูงขึ้นร้อยละ 8.13 (พริกสด หัวหอมแดง แตงกวา ผักคะน้า) เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงกินเจและฐานราคาปีที่ผ่านมาต่ำ ผลไม้สด สูงขึ้นร้อยละ 4.02 (เงาะ กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง) เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 2.19 (เนื้อสุกร ปลานิล ไก่ย่าง) ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 2.63 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.39  (น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มรสชอกโกแลต) ผลจากการปรับภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลผสมร้อยละ 10-14อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.58 และ 0.28 ตามลำดับ (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง/ข้าวกล่อง) ขณะที่เครื่องประกอบอาหารลดลงร้อยละ 0.39 (น้ำมันพืช ซีอิ๊ว ซอสหอยนางรม) 

ขณะที่หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 1.09 ตามการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 3.43 โดยน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 11.57 (ต่ำสุดในรอบ 43 เดือน) การสื่อสาร ลดลงร้อยละ 0.04 (เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ 0.27 (กระโปรงสตรี เสื้อเชิ้ต เสื้อยืดบุรุษ) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.08 (เบียร์ ไวน์) ขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 6.14 (ค่าโดยสารรถประจำทาง ค่าโดยสารรถเมล์เล็ก/รถสองแถว) หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.37 (ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.42 (ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว โฟมล้างหน้า) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.76 (ค่าเช่ารถตู้ ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา)

          ดัชนี ราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2562 ลดลงร้อยละ 0.16 (MoM) เฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.74 (AoA)

ดัชนีราคาผู้ผลิต

           ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนตุลาคม 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.5 (YoY) โดย หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 3.3 จากสินค้าสำคัญในกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ความต้องการลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กลุ่มเคมีภัณฑ์ (เม็ดพลาสติก) กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร กลุ่มสิ่งทอ ราคาเคลื่อนไหวตามตลาดโลกและต้นทุนวัตถุดิบลดลง กลุ่มเยื่อกระดาษ ราคาตลาดโลกและคำสั่งซื้อชะลอตัว กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน (เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กฉาก) ความต้องการของตลาดที่ลดลง และมีการแข่งขันสูง กลุ่มคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์) ปรับราคาลงเพื่อระบายสินค้ารุ่นเดิม และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 8.6 จากกลุ่มสินค้าน้ำมันปิโตรเลียมดิบ และก๊าซธรรมชาติตามภาวะตลาดโลก

ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.8 จากการสูงขึ้นของกลุ่มผลผลิตการเกษตร โดยผลปาล์มสดราคาเพิ่มขึ้นจากมาตรการลดปริมาณสต๊อกของภาครัฐ ขณะที่ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มะพร้าวผล พืชผัก กลุ่มปศุสัตว์ (สุกร ไก่มีชีวิตและไข่ไก่) กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ (ปลาดุก ปลาตะเพียน ปลานิล ปูม้า หอยนางรม หอยลาย) ราคาสูงขึ้น เนื่องจากมีผลผลิตลดลง สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ หัวมันสำปะหลัง อ้อย ยางพาราและกุ้งแวนนาไม จากปริมาณผลผลิตที่มีอยู่มาก ประกอบกับความต้องการของตลาดลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

          ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2562 ลดลงร้อยละ 0.4 (MoM) เฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.0 (AoA)

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

         ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนตุลาคม 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 3.1 (YoY) จากการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 16.7 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดผูกเหล็ก) เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกปรับลดลงและราคาวัตถุดิบมีการปรับตัวลงจากปีก่อน ประกอบกับความต้องการใช้ในประเทศลดลง สะท้อนจากยอดขายเหล็กในประเทศที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8  หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.3 (ฝักบัวอาบน้ำ ราวจับสแตนเลส) ปรับราคาลงเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่าย หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 0.9 (อลูมิเนียมแผ่น ยางมะตอย) ตามราคาปิโตรเลียมที่ปรับลดลง หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.1 (ปูนซีเมนต์ผสม ซีทไพล์คอนกรีต) จากความต้องการลดลง

สอดคล้องกับยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่หดตัวต่อเนื่อง 8 เดือน และหมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.2 (ซิลิโคน) ปรับลดลงตามวัตถุดิบ ในขณะที่หมวดไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ สูงขึ้นร้อยละ 11.2 (ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน) จากไม้นำเข้าราคาสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 1.4 (เสาเข็มคอนกรีต คอนกรีตบล็อก คอนกรีตผสมเสร็จ) เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิต หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 (ท่อร้อยสายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์พีวีซี ท่อพีวีซีและอุปกรณ์ ท่อระบายน้ำเสียพีวีซี)  สำหรับหมวดกระเบื้อง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

          ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2562 ลดลงร้อยละ 1.1 (MoM) เฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.)    ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.0 (AoA)

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค

           เดือนตุลาคม 2562 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม อยู่ที่ระดับ 46.3 ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 46.0 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการสูงขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน  ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 39.8 มาอยู่ที่ 40.5  และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 50.1  มาอยู่ที่ 50.2 ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในอนาคต โดยเป็นผลจากการดำเนินมาตรการและนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่ผ่านมา  ทั้งในเรื่องการประกันรายได้เกษตรกร  มาตรการส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวผ่านโครงการชิมช้อปใช้  และมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลจะออกมาอย่างต่อเนื่อง

สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อเดือนตุลาคม 2562

          เงินเฟ้อในเดือนนี้ยังคงได้รับแรงกดดันสำคัญจากปัจจัยเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ การส่งออก และการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งส่งผลทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์ สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปทาน โดยเฉพาะดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง รวมทั้งอัตราการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาหดตัว และเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์ อาทิ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณบวกจากการเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการดำเนินมาตรการและนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องการประกันรายได้เกษตรกร  มาตรการส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวผ่านโครงการชิมช้อปใช้ รวมทั้งมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลจะนำออกมาใช้ในระยะต่อไป ทั้งนี้ สนค. คาดว่า เงินเฟ้อในไตรมาสที่ 4 น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีน่าจะอยู่ในกรอบคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.7 - 1.0

โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

******************************************

โลโก้เส้นพูดเบาและรวดเร็วไลค์ 1 แชร์ 3ถูกใจ 1 คนแชร์ 1กด  L Ike - แบ่งปัน  เพจเวลา Corehoon-Powerเพื่อติดตามเคล็ดลับข่าวสารเทรนด์และ บทวิเคราะห์ดีๆอัพเดตทุกวันคัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ  

 คลิกบริจาคเว็บสนับสนุน

ais 790x90GC 790x90

sme 720x90banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!