- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 30 October 2019 20:02
- Hits: 2401
ทีมไทยแลนด์นัดถกสหรัฐฯ 1 พ.ย.นี้ แก้ปมตัดจีเอสพีไทย 'จุรินทร์'สั่งตั้งวอร์รูมช่วยผู้ได้รับผลกระทบ
จุรินทร์"เผยทีมไทยแลนด์ เตรียมถกยูเอสทีอาร์ 1 พ.ย.นี้ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แก้ปมตัดจีเอสพีไทย ยันจะได้คืนหรือไม่ อยู่ที่สหรัฐฯ แต่ถ้าให้แลกกับเรื่องแรงงาน ต้องชั่งน้ำหนักให้ดีได้คุ้มเสียหรือไม่ ส่วนอนาคตจะอ้างหมูเนื้อแดงตัดสิทธิไทยอีก ยังตอบไม่ได้ ยันรัฐบาลคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ และสุขอนามัยผู้บริโภคเป็นหลัก พร้อมสั่งปลัดพาณิชย์ตั้งวอร์รูมถกภาคเอกชนหาทางลดผลกระทบสินค้า 573 รายการถูกตัดสิทธิ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐฯ ประสานกับเอกอัครราชทูตไทย ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตันดี.ซี. และทูตแรงงานไทยในสหรัฐฯ นัดหารือกับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ในเรื่องที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทย 573 รายการ และจะมีผลในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยล่าสุดได้รับรายงานว่าจะมีการหารือกันในวันที่ 1 พ.ย.2562 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อแก้ปัญหาเรื่องจีเอสพี ซึ่งจะเป็นเวทีการหารือโดยตรงและเร็วที่สุด ส่วนผลจะเป็นอย่างไร ต้องรอผลจากการหารือก่อน และจะแจ้งให้ทราบต่อไป
"ผลของการหารือครั้งนี้ จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสหรัฐฯ เพราะการให้จีเอสพี เป็นการให้ฝ่ายเดียว ที่สหรัฐฯ จะให้หรือไม่ให้ใครก็ได้"
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ไทยได้ยันยืนกับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องว่า ข้อเรียกร้องด้านสิทธิแรงงาน ที่ให้แรงงานต่างด้าวในไทยตั้งสหภาพแรงงานได้นั้น ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ในการหารือ หากสหรัฐฯ ยังเรียกร้องเรื่องนี้อีก ไทยก็ต้องชั่งน้ำหนักว่า จะยอมแลกจีเอสพีกับการให้แรงงานต่างด้าวตั้งสหภาพแรงงานในไทยได้หรือไม่ ถ้าแลกแล้วไทยจะได้คุ้มเสียหรือไม่ กระทรวงแรงงานจะต้องเป็นผู้ให้คำตอบ
สำหรับ กรณีที่สหรัฐฯ อาจนำเอาเรื่องที่ไทยยังไม่ยอมเปิดให้นำเข้าหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงแรคโตพามีนจากสหรัฐฯ มาเป็นข้ออ้างตัดสิทธิจีเอสพีในอนาคตนั้น ขอชี้แจงว่า การตัดสิทธิครั้งนี้ มีสาเหตุหลักมาจากเรื่องสิทธิแรงงาน ไม่เกี่ยวกับหมูมีสารเร่งเนื้อแดง จึงยังตอบไม่ได้ว่าในอนาคต สหรัฐฯ จะนำเรื่องหมูมาเป็นข้ออ้างตัดจีเอสพีไทยอีกหรือไม่ แต่การดำเนินการใดๆ รัฐบาลต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ และสุขอนามัยของประชาชนเป็นหลัก โดยต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบว่า หากปล่อยให้นำเข้าหมูมีสารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐฯ แล้วจะกระทบกับสุขอนามัยของผู้บริโภคในประเทศหรือไม่ อย่างไร
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับสินค้า 573 รายการ ที่ถูกตัดสิทธิในครั้งนี้ ได้มอบหมายให้นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ จัดตั้งวอร์รูม ภายใต้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เพื่อหารือกับภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบว่าจะมีแนวทางการช่วยเหลืออย่างไร เช่น หาตลาดใหม่ ขยายตลาดเดิม และให้กลับมารายงานที่ประชุมกรอ.พาณิชย์ ที่ตนเป็นประธานต่อไป เพื่อทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวให้ได้มากที่สุด
นายกีรติ รัชโน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การหารือกับยูเอสทีอาร์ที่ดี.ซี.วันที่ 1 พ.ย.2562 จะเป็นการสอบถามถึงสาเหตุที่ไทยถูกตัดสิทธิ และสิ่งที่ไทยและสหรัฐฯ จะดำเนินการต่อหลังจากนี้ ซึ่งในทางปฏิบัติ การประกาศตัดสิทธิไทยของยูเอสทีอาร์ถือว่าขั้นตอนการทบทวนการให้จีเอสพีรายประเทศ (Country Review) จบแล้ว ดังนั้น หากในการเจรจาครั้งนี้ สหรัฐฯ ยอมคืนสิทธิให้ไทย ก็ไม่น่าจะคืนได้ทันภายในปีนี้ คงต้องเห็นผลในปีถัดไป
"แม้สหรัฐฯ ตัดสิทธิไทย แต่ยังมีโอกาสเจรจาขอคืนสิทธิได้ เพราะในการประกาศ สหรัฐฯ ใช้คำว่า แขวน (suspend) ซึ่งต่างจากอินเดียและตุรกี ที่ใช้คำว่ายุติการให้สิทธิ (terminate) และถอนออกจากการเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิ แต่ภายหลังการเจรจาแล้ว สหรัฐฯ จะคืนสิทธิให้หรือไม่ อยู่ที่การพิจารณาของเขา แต่ที่ผ่านมา กรมฯ ได้เตือนผู้ส่งออกมาตลอดว่าวันหนึ่งสหรัฐฯ อาจตัดจีเอสพีไทย ดังนั้น ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ให้แข่งขันได้มากขึ้น จะมารอแต่จีเอสพีตลอดไปไม่ได้ ซึ่งผู้ส่งออกได้ปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องแล้ว"นายกีรติกล่าว
อย่างไรก็ตาม จากสถิติการใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิประมาณ 70% ของมูลการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ ส่วนอีก 30% ไม่ใช้สิทธิ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสินค้าไทยมีศักยภาพการแข่งขันที่ดีในตลาดสหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิจีเอสพี และผู้นำเข้ายอมเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติแทน
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web