- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 29 October 2019 20:01
- Hits: 6308
ข่าวดีในข่าวร้าย! ผู้นำเข้าสหรัฐฯ เร่งสั่งซื้อ คาดดันส่งออกสินค้าถูกหั่นจีเอสพีช่วงโค้งสุดท้ายพุ่ง
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยสหรัฐฯ ตัดจีเอสพีสินค้าไทย ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในปีนี้ แต่จะเป็นผลดีมากกว่า เหตุผู้นำเข้าเร่งซื้อในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้เพิ่มขึ้น พร้อมแจ้งผู้ส่งออกเบาใจ ได้ทำแผนรับมือแล้ว ทั้งกระจายความเสี่ยงให้กับสินค้าที่โดนผลกระทบ หาตลาดส่งออกใหม่ ดันผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในสหรัฐฯ หรือประเทศที่สหรัฐฯ มีเอฟทีเอ จับมือผู้นำเข้าจัดกิจกรรมกระตุ้นความต้องการสินค้าไทย และใช้ช่องทางออนไลน์ขยายตลาด
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การที่สหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิจีเอสพีที่เคยให้ไทยบางรายการ จะยังคงไม่กระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยที่ส่งไปสหรัฐฯ ในปี 2562 เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่มีคำสั่งซื้อไว้ล่วงหน้าและทยอยส่งมอบไปแล้ว และคาดว่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ที่ผู้นำเข้าสหรัฐฯ จะมีการเร่งนำเข้าเพิ่มมากขึ้น ก่อนมาตรการตัดสิทธิจะมีผลบังคับใช้ โดยสินค้าที่จะได้รับผลดี เช่น กลุ่มสินค้าอาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฐานการผลิตในไทย
ทั้งนี้ กรมฯ ได้ทำแผนกระจายความเสี่ยง โดยหาตลาดส่งออกให้หลากหลายและแสวงหาตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่โดนผลกระทบ โดยกรมฯ ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ทำหน้าที่เป็นเซลล์แมน เร่งหาตลาดและสำรวจความต้องการของตลาดแล้ว และยังมีแผนตั้งแต่ขณะนี้จนถึงช่วงกลางปี 2563 ที่จะบุกตลาดและกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินค้าไทยในประเทศเป้าหมายทั่วโลก เช่น อินเดีย บาห์เรนและกาตาร์ แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น จีน สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป ตุรกี รัสเซีย CLMV ศรีลังกา บังคลาเทศ และอินโดนีเซีย เป็นต้น
ขณะเดียวกัน จะเร่งรัดผลักดันการส่งออกสินค้าในกลุ่มที่ได้มีการคืนสิทธิจีเอสพี จำนวน 7 รายการ ได้แก่ ปลาแช่แข็ง ดอกกล้วยไม้สด เห็ดทรัฟเฟิล ผงโกโก้ หนังของสัตว์เลื้อยคลาน เลนส์แว่นตา และส่วนประกอบของเครื่องแรงดันไฟฟ้า
นายสมเด็จ กล่าวว่า กรมฯ ยังมีแผนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการเกษตร และอาหารแปรรูป ใช้โอกาสจากภาวะเงินบาทแข็งค่าไปลงทุนในสหรัฐฯ ในรูปของสำนักงานขาย หรือการแสวงหาเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน หรือในประเทศที่สหรัฐฯ มีข้อตกลงการค้าเสรี เช่น แคนาดา ชิลี และเม็กซิโก เพื่อใช้สิทธิในการส่งสินค้าเข้าสหรัฐฯ
นอกจากนี้ จะเร่งกระชับความสัมพันธ์กับผู้นำเข้าพันธมิตร และเพิ่มความร่วมมือกับผู้นำเข้าขนาดกลาง และ SMEs ในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งสร้างความต้องการสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารไทย และกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในหลายตลาด ซึ่งจะดำเนินการไปพร้อมกับการให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพและมาตรฐานสินค้า พัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมที่สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาด อีกทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้แบรนด์สินค้า และทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้า เพื่อสร้างจุดเด่นและความได้เปรียบของสินค้าไทย
ส่วนช่องทางอื่นๆ จะเน้นการผลักดันการค้าผ่าน www.thaitrade.com ซึ่งเป็นช่องทางการค้าออนไลน์ที่สามารถส่งออกสินค้าไทยคู่ขนานไปกับการค้ารูปแบบเดิม และยังจะร่วมมือกับแพลตฟอร์มของประเทศคู่ค้าที่สำคัญผลักดันการทำตลาดออนไลน์ โดยจะเปิด TopThai Flagship Store ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าของไทยในแพลตฟอร์มต่างประเทศ และในเดือนพ.ย.2562 จะเปิดตัวร่วมกับ TMall Global ในจีน และจะขยายสู่ประเทศสำคัญอื่นๆ ต่อไป
พาณิชย์ วาง 7 มาตรการเร่งขยายส่งออกรองรับมือผลกระทบหากถูกสหรัฐฯ ตัดจีเอสพี
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรณีที่สหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรทางการค้า (GSP) ที่เคยให้กับสินค้าไทยบางรายการเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น มาตรการดังกล่าวไม่น่าจะกระทบต่อเป้าส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ ในปี 2562 ที่วางไว้ว่าจะขยายตัว 4% เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่มีคำสั่งซื้อไว้ล่วงหน้าและทยอยส่งมอบไปแล้ว ขณะที่ยอดส่งออก 9 เดือนแรกของปีนี้คิดเป็น 73-75% ของทั้งปี อย่างไรก็ตาม คาดว่าช่วงนี้ผู้นำเข้าจะเร่งซื้อสินค้าก่อนมาตรการจะมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้เตรียมมาตรการรองรับและเพิ่มกิจกรรมหาตลาดทดแทน พร้อมทั้งได้หารือกับภาคเอกชนเพื่อกำหนดตลาดและกิจกรรมด้วยแล้ว โดยในเบื้องต้นมี 7 มาตรการรองรับ ได้แก่
1.เร่งผลักดันการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ ช่วงปลายปีนี้จนถึงก่อนมาตรการมีผลบังคับใช้ โดยกรมฯ จะมีกิจกรรมผลักดันในช่วงที่คาดว่าผู้นำเข้าจะเร่งซื้อสินค้าที่จะได้รับผลกระทบการมาเตรียมไว้ก่อน ดังนั้นในช่วงนี้อาจมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฐานการผลิตในไทย ขณะเดียวกันได้มีการคืนสิทธิ/ผ่อนผันตามเกณฑ์จีเอสพีรายสินค้าแก่ไทยจำนวน 7 รายการ ได้แก่ ปลาแช่แข็ง ดอกกล้วยไม้สด เห็ดทรัฟเฟิล ผงโกโก้ หนังของสัตว์เลื้อยคลาน เลนส์แว่นตา และส่วนประกอบของเครื่องแรงดันไฟฟ้า ซึ่งกรมฯ จะเร่งขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ให้แก่สินค้าเหล่านี้ไปพร้อมกัน
2.เร่งกระจายความเสี่ยง โดยหาตลาดส่งออกให้หลากหลายและแสวงหาตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่โดนผลกระทบ โดยได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์เร่งหาตลาด และสำรวจความต้องการของตลาด ด้วยการทำหน้าที่เป็นเซลล์แมนขายสินค้าของไทยตามนโยบายของ รมว.พาณิชย์ โดยในช่วงนี้ถึงกลางปี 63 กรมฯ มีแผนงานเร่งด่วนเพิ่มเติมเพื่อบุกตลาดและกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินค้าไทยในประเทศเป้าหมายทั่วโลก อาทิ อินเดีย บาห์เรนและกาตาร์ แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น จีน สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป ตุรกี รัสเซีย CLMV ศรีลังกา บังคลาเทศ และอินโดนีเซีย เป็นต้น
- ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการเกษตร และอาหารแปรรูป โดยใช้โอกาสจากภาวะเงินบาทแข็งค่าไปลงทุนในสหรัฐฯ ในรูปของสำนักงานขาย หรือการแสวงหาเทคโนโลยีทันสมัยเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน หรือในประเทศที่สหรัฐฯ มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย อาทิ แคนาดา ชิลี และเม็กซิโก เพื่อใช้สิทธิในการส่งสินค้าเข้าสหรัฐฯ
4.กระชับความสัมพันธ์กับผู้นำเข้าพันธมิตร และเพิ่มความร่วมมือกับผู้นำเข้าขนาดกลาง และ SMEs ในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมต่างๆ
5.สร้างความต้องการสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ เช่น การจัดกิจกรรมส่งเสริมในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารไทย และกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในหลายตลาด
6.เน้นการให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพและมาตรฐานสินค้า พัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรม สอดคล้องกับแนวโน้ม (Trend) ของตลาด อีกทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้แบรนด์สินค้า และทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้า เพื่อสร้างจุดเด่นและความได้เปรียบของสินค้าไทย
7.ผลักดันการค้าผ่าน thaitrade.com ซึ่งเป็นช่องทางการค้าออนไลน์ที่สามารถส่งออกสินค้าไทยคู่ขนานไปกับการค้ารูปแบบเดิม พร้อมกันนี้กรมฯ ได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ โดยจะเปิด Top Thai Flagship Store ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าของไทยในแพลตฟอร์มต่างประเทศ และในเดือนพฤศจิกายนนี้จะเปิดตัวร่วมกับ TMall Global ในจีน และจะขยายสู่ประเทศสำคัญอื่นๆ ต่อไป
สำนักข่าวอินโฟเควสท์