- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 23 October 2019 20:17
- Hits: 6213
การส่งออก กันยายน 2562 มูลค่า 20.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 1.4
ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนกันยายน 2562
การส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2562 มีมูลค่า 20.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 1.4 เป็นการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงและภาพรวมการส่งออกทั้งด้านสินค้าและตลาดปรับตัวดีขึ้น สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า กลับมาขยายตัว และสินค้าอุตสาหกรรมดาวรุ่งใหม่ๆ หลายรายการมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้าน สินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ยังขยายตัวได้ดีทั้งด้านปริมาณและราคา นอกจากนี้ ในรายตลาด การส่งออกไปสหรัฐฯ ยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน อาเซียน (5) และลาตินอเมริกา กลับมาขยายตัวเป็นบวก รวม 3 ไตรมาส ปี 2562 การส่งออกหดตัวร้อยละ 2.1
อย่างไรก็ดี อุปทานส่วนเกินของสินค้าเกษตรในตลาดโลกและการแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกสินค้าเกษตรในเดือนนี้ ทั้งนี้ เหตุโจมตีโรงกลั่นน้ำมันในซาอุดิอาระเบียและความต้องการใช้น้ำมันในช่วงปลายปี อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท
เดือนกันยายน 2562 การส่งออก มีมูลค่า 626,011 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 595,476 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.3 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 30,536 ล้านบาท รวม 3 ไตรมาส ปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 5,832,709 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 4.1) การนำเข้ามีมูลค่า 5,684,734 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 5.6) และการค้าเกินดุล 147,975 ล้านบาท
มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ
เดือนกันยายน 2562 การส่งออก มีมูลค่า 20,481 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 19,206 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.2 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 1,275 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวม 3 ไตรมาส ปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 186,572 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 2.1) การนำเข้ามีมูลค่า 179,191 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 3.7) และการค้าเกินดุล 7,381 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ร้อยละ 3.1 (YoY) สินค้าเกษตรสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 36.3 (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ จีน มาเลเซีย ลาว และไต้หวัน) เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 14.6 (ขยายตัวในตลาดกัมพูชา เวียดนาม เมียนมา ลาว และฟิลิปปินส์) ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 12.1 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ จีน และมาเลเซีย) ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 7.7 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย)
สินค้าเกษตรที่หดตัว ได้แก่ ข้าว หดตัวร้อยละ 32.2 (หดตัวในตลาดแอฟริกาใต้ เบนิน โมซัมบิก แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ และแคเมอรูน) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 35.2 (หดตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย และไต้หวัน แต่ยังขยายตัวได้ดีในญี่ปุ่น และสหรัฐฯ) ยางพารา หดตัวร้อยละ 15.4 (หดตัวในตลาดจีน เกาหลีใต้ และอินเดีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดมาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ) กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป หดตัวร้อยละ 10.5 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย แต่ยังขยายตัวในตลาดจีน และแคนาดา) รวม 3 ไตรมาส ปี 2562 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ร้อยละ 2.2
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 (YoY) สินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ ทองคำ ขยายตัวร้อยละ 110.6 (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 31.5 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น กัมพูชา และเวียดนาม) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัวที่ร้อยละ 15.9 (ขยายตัวระดับสูงในตลาดสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และอาร์เจนตินา) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวเกือบทุกตลาดที่ร้อยละ 15.1 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย)
รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวที่ร้อยละ 5.4 (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ จีน มาเลเซีย ซาอุดิอาระเบีย และเม็กซิโก) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 0.7 (ขยายตัวระดับสูงในตลาดอินเดีย สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวเกือบทุกตลาดที่ร้อยละ 16.2 (หดตัวในตลาดเวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย แต่ยังขยายตัวในตลาดจีน และมาเลเซีย) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 12.3 (หดตัวในตลาดสหรัฐ ฮ่องกง และจีน แต่ยังขยายตัวในตลาดเม็กซิโก และสิงคโปร์) รวม 3 ไตรมาส ปี 2562 มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวที่ร้อยละ 1.3
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปยังตลาดหลักในเดือนกันยายน 2562 กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.3 โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 7.8 และ 2.4 ตามลำดับ แต่การส่งออกไปสหภาพยุโรปหดตัวร้อยละ 8.2 ด้านการส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงหดตัวร้อยละ 5.1 เนื่องจากการส่งออกไป CLMV และเอเชียใต้หดตัวร้อยละ 15.3 และ 12.5 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปจีนและอาเซียน-5 กลับมาขยายตัวร้อยละ 6.1 และ 0.6 ตามลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกไปตลาดศักยภาพระดับรองหดตัวร้อยละ 4.1 เนื่องจากการส่งออกไปกลุ่มประเทศ CIS ทวีปออสเตรเลีย และตะวันออกกลางหดตัวร้อยละ 17.2 3.7 และ 2.4 ตามลำดับ
ตลาดสหรัฐอเมริกา
ขยายตัวร้อยละ 7.8 ซึ่งเป็นการขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่องติดต่อกัน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ โทรทัศน์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ขณะที่ 3 ไตรมาส ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 14.1
ตลาดญี่ปุ่น
กลับมาขยายตัวร้อยละ 2.4 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ โทรทัศน์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ และไก่แปรรูป เป็นต้น ขณะที่ 3 ไตรมาส ปี 2562 หดตัวร้อยละ 0.4
ตลาดสหภาพยุโรป(15)
หดตัวร้อยละ 8.2 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องยนต์สันดาปฯ และแผงวงจรไฟฟ้า ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ไก่แปรรูป และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่ 3 ไตรมาส ปี 2562 หดตัวร้อยละ 6.6
ตลาดจีน
กลับมาขยายตัวร้อยละ 6.1 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งน้ำมันดิบ เครื่องจักรกลฯ และน้ำตาลทราย เป็นต้น ขณะที่ 3 ไตรมาส ปี 2562 หดตัวร้อยละ 5.6
ตลาดอาเซียน-5
กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ที่ร้อยละ 0.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องวิดีโอและส่วนประกอบฯ เครื่องยนต์สันดาปฯ และ เครื่องปรับอากาศฯ เป็นต้น ขณะที่ 3 ไตรมาส ปี 2562 หดตัวร้อยละ 9.6
ตลาด CLMV
หดตัวร้อยละ 15.3 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ผลไม้สด แช่แข็งและแห้ง เครื่องจักรกลฯ และรถยนต์และส่วนประกอบ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศฯ ขณะที่ 3 ไตรมาส ปี 2562 หดตัวร้อยละ 6.4
ตลาดเอเชียใต้
หดตัวร้อยละ 12.5 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ยางพารา เคมีภัณฑ์ และเหล็กและผลิตภัณฑ์ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่ 3 ไตรมาส ปี 2562 หดตัวร้อยละ 5.1
ตลาดอินเดีย
หดตัวร้อยละ 10.9 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ยางพารา เหล็กและผลิตภัณฑ์ และทองแดงฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่ 3 ไตรมาส ปี 2562 หดตัวร้อยละ 0.5
ตลาดลาตินอเมริกา
กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือน ที่ร้อยละ 10.3 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ผลิตภัณฑ์ยาง โทรทัศน์และส่วนประกอบ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ ขณะที่ 3 ไตรมาส ปี 2562 หดตัวร้อยละ 5.3
ตลาดตะวันออกกลาง
หดตัวร้อยละ 2.4 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่รถยนต์และส่วนประกอบ ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง และอัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่ 3 ไตรมาส ปี 2562 หดตัวร้อยละ 4.5
ตลาดทวีปออสเตรเลีย
หดตัวร้อยละ 3.7 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องปรับอากาศฯ ขณะที่ 3 ไตรมาส ปี 2562 หดตัวร้อยละ 2.4
ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS
หดตัวร้อยละ 17.2 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลฯ ข้าว และ อัญมณีและเครื่องประดับ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ 3 ไตรมาส ปี 2562 หดตัวร้อยละ 9.3
ตลาดทวีปแอฟริกา
หดตัวร้อยละ 16.0 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ข้าว เครื่องยนต์สันดาปฯ เครื่องจักรกล และ เม็ดพลาสติก ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำตาลทราย ขณะที่ 3 ไตรมาส ปี 2562 หดตัวร้อยละ 9.5
แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2562
เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงของความผันผวนอันเป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าจากสหภาพยุโรปเพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการอุดหนุนแอร์บัส และสถานการณ์เบร็กซิทที่ยังไม่ชัดเจน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำและเงินบาทที่แข็งค่า เป็นปัจจัยกดดันการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี ผู้ส่งออกควรลดผลกระทบความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ด้วยการทำประกันความเสี่ยงหรืออาจพิจารณาทำสัญญาซื้อขายระยะยาว
ในระยะ 3 ไตรมาสที่ผ่านมา การส่งออกไทยมีจุดเด่นในการกระจายตัวของสินค้ากลุ่มใหม่ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในอนาคต อาทิ เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้าน เพิ่มเติมจากสินค้าส่งออกหลักดั้งเดิม อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดสินค้าศักยภาพใหม่การรักษาฐานลูกค้าเดิมยังเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ส่งออกควรกระชับสัมพันธ์กับผู้นำเข้าพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดสินค้าส่งออกหลักในตลาดดั้งเดิม
ช่วงที่เหลือของปี 2562 กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าเร่งขยายการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญและอุตสาหกรรมที่เติบโตดี โดยสนับสนุนการจับคู่ธุรกิจภาคเอกชนในตลาดศักยภาพ อาทิ สินค้ามันสำปะหลังและมะพร้าวน้ำหอม ในตลาดจีน ไม้ ยางพารา และเฟอร์นิเจอร์ ในตลาดอินเดีย นอกจากนี้ มีแผนเดินหน้าเปิดตลาดใหม่โดยมีกำหนดการเดินทางไป ตุรกี ผลักดันการส่งออกยาง ขณะที่เริ่มเจรจาฟื้นฟูการส่งออกข้าวไทยในอิรัก ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากและคาดว่าจะสามารถทำ MOU ระหว่างกันได้ในไม่ช้า
ในภาวะที่ทุกประเทศผู้ส่งออกกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการค้า กระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตรทางการค้า เพื่อขยายฐานตลาดส่งออกให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าให้การเจรจาอาร์เซ็ปสำเร็จภายในสิ้นปี 2562 และเร่งผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เช่น FTA ไทย-ตุรกี ตั้งเป้าจะสรุปผลได้ในต้นปี 2563 และเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจา FTA ในอนาคต ได้แก่ ไทย-สหภาพยุโรป เป็นต้น
โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์
******************************************
กด L Ike - แบ่งปัน เพจเวลา Corehoon-Powerเพื่อติดตามเคล็ดลับข่าวสารเทรนด์และ บทวิเคราะห์ดีๆอัพเดตทุกวันคัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
คลิกบริจาคเว็บสนับสนุน