- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 09 October 2019 14:18
- Hits: 1981
พาณิชย์ คาดชงรัฐบาลตัดสินใจฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูเดือนพ.ย.นี้
พาณิชย์ กางไทม์ไลน์ฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) เตรียมชงรัฐบาลตัดสินใจระดับนโยบายเดือนพ.ย.-ธ.ค.นี้ ไฟเขียวเริ่มต้นการเจรจา ย้ำต้องเร่งเดินหน้า หลังเวียดนามและสิงคโปร์ทำเอฟทีเอไปล่วงหน้าแล้ว หากช้าไทยยิ่งเสียโอกาส เผยเตรียมลงพื้นที่ 4 ภาค รับฟังความคิดเห็น หลังเริ่มที่กรุงเทพฯ เสียงส่วนใหญ่หนุน ยันให้ความสำคัญในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบ เล็งเสนอตั้งกองทุนเอฟทีเอช่วยเยียวยา
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างการเดินหน้าหาข้อสรุปการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งตามกำหนดการ จะทำการรวบรวมผลการศึกษา ผลการรับฟังความคิดเห็น เพื่อเสนอระดับนโยบายพิจารณาตัดสินใจเรื่องการฟื้นการเจรจาได้ประมาณเดือนพ.ย.-ธ.ค.2562 ซึ่งตามขั้นตอน จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พิจารณาก่อน จากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) พิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบต่อไป
“การตัดสินใจเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู เป็นไปตามที่ครม.เศรษฐกิจได้มีมติให้เร่งดำเนินการเสนอ ครม. ให้ได้ภายในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่สหภาพยุโรปได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยุโรปชุดใหม่ที่จะสามารถตัดสินใจหรือมีนโยบายเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกับไทย ถือเป็นเวลาที่ตรงกันพอดี และหากทั้ง 2 ฝ่ายมีข้อสรุปได้แล้ว การเจรจาน่าจะเริ่มต้นได้ปีหน้า ใช้เวลาเจรจาอย่างน้อย 1 ปี และจากนั้น จะเป็นเรื่องการดำเนินการภายในของไทยและอียู คาดว่าราวๆ 1 ปีเช่นเดียวกัน จากนั้นถึงจะมีผลบังคับใช้”นางอรมนกล่าว
นางอรมน กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการเตรียมการฟื้นการเจรจาในปัจจุบัน ล่าสุดกรมฯ ได้ให้สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ทำการศึกษาวิจัยประโยชน์และผลกระทบที่ไทยจะได้รับจากการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูแล้ว โดยให้ศึกษาเปรียบเทียบความตกลงเอฟทีเอที่อียูได้ทำกับประเทศต่างๆ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ และกลุ่มเมร์โกซูร์ ซึ่งประกอบด้วยบราซิล อาร์เจนตินา ปารากวัย และอุรุกวัย ว่าหากไทยไม่เร่งฟื้นการเจรจาจะเสียประโยชน์หรือโอกาสที่ควรจะได้รับหรือไม่ หากเข้าร่วมจะได้ประโยชน์อะไร และต้องปรับตัวอย่างไร ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนพ.ย.2562
ทั้งนี้ ในเบื้องต้น พบว่า หากไทยไม่เร่งเจรจา จะยิ่งทำให้ไทยเสียโอกาส เพราะสินค้าของเวียดนามและสิงคโปร์ ใกล้เคียงกับไทยมาก โดยภายใต้เอฟทีเอที่อียูทำกับเวียดนาม อียูจะลดภาษีให้เวียดนาม 99% ภายใน 7 ปี และจะลดทันที 71% เมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้ ส่วนเวียดนามจะลดภาษีให้อียู 99% ภายใน 10 ปี และลดทันที 65% ขณะที่เอฟทีเอสิงคโปร์-อียู อียูจะลดภาษีให้สิงคโปร์ทันที 84% และสิงคโปร์จะลดภาษีให้อียู 80%
ขณะเดียวกัน กำลังอยู่ระหว่างการเดินสายรับฟังความคิดเห็น ซึ่งกำหนดไปยังภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี วันที่ 10 ต.ค.2562 , ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 22 ต.ค.2562 , ภาคใต้ จังหวัดสงขลา วันที่ 28 ต.ค.2562 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น วันที่ 7 พ.ย.2562 และอาจจะปิดท้ายที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง
ส่วนผลการรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการให้มีการฟื้นการเจรจา เพราะเป็นโอกาสในการขยายตลาดให้กับสินค้าไทย หากไม่ทำจะเสียโอกาสการเป็นฐานการผลิต การค้า และการลงทุนในภูมิภาค แต่มีผู้ประกอบการบางส่วน และภาคประชาสังคม ที่กังวลเรื่องการเปิดตลาด การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ระบบสุขภาพ ทรัพย์สินทางปัญญา และสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรมฯ ได้ยืนยันไปแล้วว่าจะดำเนินการเจรจาด้วยความระมัดระวัง และจะมีกลไกเพื่อรองรับการปรับตัว เช่น การจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยได้มีการหารือกับกระทรวงการคลังแล้ว และกำลังรวบรวมกองทุนช่วยเหลือที่มีอยู่มีอะไรบ้าง ใช้ยังไง เพื่อเปรียบเทียบ ก่อนที่จะเสนอระดับนโยบายพิจารณา
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web