- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 07 October 2019 17:23
- Hits: 1763
พาณิชย์ ลงพื้นที่ชี้แจงประกันรายได้ข้าว แจ้งข่าวดี 15 ต.ค.นี้ เกษตรกรรอเงินเข้าบัญชี
กรมการค้าภายในลงพื้นที่จังหวัดพิจิตร ชี้แจงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ย้ำเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร จะได้สิทธิ์เข้าร่วมโครงการทุกราย ไม่ต้องสนเอกสารสิทธิ์ ข้าวที่ปลูก จะเก็บไว้กิน เอาไว้ทำพันธุ์ เจอภัยแล้ง น้ำท่วม ได้สิทธิ์หมด พร้อมแจ้งข่าว รอรับ SMS เงินเข้าบัญชี 15 ต.ค.นี้ ถ้าไม่ได้ บุกไปถามได้ 3 หน่วยงาน เผยข้าวเปลือกเจ้าได้แน่ เหตุราคาต่ำกว่าราคาประกัน แต่ข้าวเปลือกเหนียว-เปลือกหอมมะลิ ไม่ได้
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยในการสัมมนาชี้แจงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63 รอบที่ 1 ณ CK Convention Hall ศูนย์ประชุมจังหวัดพิจิตร วันที่ 6 ต.ค.2562 ว่า ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลจะประกันรายได้ข้าว 5 ชนิด คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละ 16 ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาท ครัวเรือนละ 30 ตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละ 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละ 16 ตัน แต่ถ้าเกษตรกรปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด จะได้สิทธิไม่เกินจำนวนขั้นสูงของข้าวแต่ละชนิด และเมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงของข้าวชนิดที่กำหนดไว้สูงสุด
โดยต้นทุนที่มาที่ไปของการกำหนดราคาและปริมาณดังกล่าว มาจากต้นทุน บวกค่าขนส่งต่อตัน บวกกำไรที่เกษตรกรควรจะได้ และผ่านความเห็นชอบของ 3 ฝ่าย คือ ภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรแล้ว ใช้ราคาเดียวกันทั้งประเทศ ใช้ปริมาณเท่ากันทั้งประเทศ และมีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ 2 ทาง คือ รายได้จากการขายข้าวในท้องตลาด และรายได้จากการประกันรายได้ หากราคาข้าวในตลาดต่ำกว่าราคาที่ประกันไว้
นายวิชัย กล่าวว่า สำหรับคำถามที่เกษตรกรยังมีความสงสัยและมีความไม่เข้าใจ ขอชี้แจงในแต่ละเรื่อง โดยในเรื่องของเอกสารสิทธิ์ หรือที่ ส.ป.ก. ยืนยันว่าไม่ได้นำมาใช้ในการพิจารณา แต่เกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร หากกรมส่งเสริมฯ รับขึ้นทะเบียน กระทรวงพาณิชย์ก็ถือว่าผ่านเข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องระบุว่าปลูกข้าวชนิดใด กี่ไร่ ระยะเวลาเก็บเกี่ยวเมื่อใด ครบตามนี้ ถือว่าได้สิทธิ์
ส่วนข้าวที่ปลูก หากไม่ได้เก็บเกี่ยว ไม่ได้เอาไปขาย เอาเก็บไว้กินเอง หรือเอาไว้ทำพันธุ์ ประกันรายได้จะจ่ายให้หมด หรือหากเกษตรกรปลูกแล้ว เจอภัยแล้ง เจอน้ำท่วม ก็จ่าย ไม่ต้องมีใบชั่ง ใบเสร็จ ใบวัดความชื้น เพราะจะไม่เอาเรื่องพวกนี้มาพิจารณา เอาแค่มีการขึ้นทะเบียนจริง ปลูกจริง เปิดบัญชีกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็จะได้รับเงินส่วนต่างประกันรายได้ทุกราย
“วันที่ 15 ต.ค.2562 กระทรวงพาณิชย์จะคิกออฟโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรทุกรายที่มีสิทธิ์ โดยกรมฯ จะสรุปราคาส่วนต่างประกันรายได้ก่อนวันที่ 12 ต.ค. แล้วส่งให้ ธ.ก.ส. จากนั้นจะจ่ายเงินภายใน 3 วัน คือ วันที่ 15 ต.ค. ขอให้ทุกท่าน ดูในมือถือว่ามี SMS โอนเงินเข้าหรือไม่ ถ้าไม่ให้ไปถาม ธ.ก.ส. เกษตรอำเภอ ถ้า 2 หน่วยอธิบายไม่ได้ ไปพาณิชย์จังหวัด ทั้ง 3 คนนี้เป็นจำเลยเท่ากัน แต่ถ้าจะให้ได้ผล ไปถาม ธ.ก.ส. ก่อน เพราะเป็นคนจ่ายเงิน จะได้รู้ติดขัดปัญหาตรงไหน เพราะอย่างปาล์มน้ำมันเจอ 8 พันกว่าราย บัญชีไม่เคลื่อนไหว ธ.ก.ส. บอกลบไปแล้ว ก็เลยไม่ได้เงิน เพราะฉะนั้น ถ้าชื่อที่ขึ้นทะเบียนกับบัญชีที่เปิดไว้ไม่ตรง หรือไม่อัพเดต ก็ให้ไปจัดการก่อนให้เรียบร้อย”นายวิชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินประกันรายได้งวดแรกนี้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกเจ้า จะได้รับเงินส่วนต่าง เพราะราคาข้าวในปัจจุบัน ที่คำนวณย้อนหลัง 15 วันอยู่ที่ประมาณ 7,900 บาทต่อตัน มีส่วนต่าง 2,100 บาทต่อตัน เกษตรกรก็จะได้รับส่วนต่างนี้คูณกับจำนวนตันที่กำหนดไว้ที่ 30 ตัน ก็จะได้รับเงินประมาณ 63,000 บาท นี่คือ ตัวอย่าง แต่ต่อไป จะมีการคำนวณราคาทุก 15 วัน ซึ่งอาจจะสูงขึ้นหรือต่ำลงก็ได้ ส่วนข้าวชนิดอื่น อย่างข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเหนียว จะไม่ได้รับเงินส่วนต่าง เพราะราคาตลาดสูงกว่าราคาประกันรายได้
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web