- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 07 October 2019 17:20
- Hits: 1702
กรมเจรจาฯ เจาะลึกรายตัว เผย 'อาหารสัตว์เลี้ยง'มี 15 คู่เจรจาเอฟทีเอ เลิกเก็บภาษีจากไทยแล้ว
กรมเจรจาฯ เจาะลึกรายสินค้า เปิดไส้ในเอฟทีเอ 'อาหารสัตว์เลี้ยง'พบคู่เจรจา 15 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทยแล้ว คงเหลือแค่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่ยังคงเก็บภาษีบางรายการ เผยผลจากการลดภาษี ทำให้ยอดส่งออกกระฉูด ล่าสุด 8 เดือนพุ่ง 1,111 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 4% เตรียมเดินหน้าผลักดันคู่เจรจาลดภาษี และเจรจาเปิดตลาดเอฟทีเอกรอบใหม่ ทั้งอาร์เซ็ป และไทย-อียู ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามการลดภาษีภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยกับประเทศคู่เจรจา 18 ประเทศ สำหรับสินค้า “อาหารสัตว์เลี้ยง” พบว่า คู่เจรจาจำนวน 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรูและฮ่องกง ไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงจากไทยทุกรายการ เหลืออีก 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ให้ไทยแล้ว แต่คงการเก็บภาษีนำเข้าในบางรายการ
โดยผลจากการที่ภาษีนำเข้าเหลือ 0% ได้ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยไปยังประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และแข่งขันได้ดีขึ้น ทำให้มีการส่งออกได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 8 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 1,111 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.40% โดยตลาดที่เป็นคู่เจรจาเอฟทีเอ มีสัดส่วน 56.36% ส่งออกไปยังอาเซียนมากที่สุด รองลงมา คือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ฮ่องกง นิวซีแลนด์ และชิลี ส่วนตลาดที่ไม่มีเอฟทีเอ ส่งออกไปสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) มากสุด
สำหรับ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาหารสำหรับสุนัขและแมว มีสัดส่วน 92% ของยอดการส่งออกทั้งหมด และอาหารสัตว์เลี้ยงอื่นๆ มีสัดส่วน 18%
อย่างไรก็ตาม จากมูลค่าการส่งออกดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันไทยขยับขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับที่ 6 ของโลก รองจากเนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ เยอรมนี ฝรั่งเศส และจีน จากเดิมที่อยู่ในอันดับ 7 ของโลกในปี 2561
“จากนี้ไป กรมฯ จะเดินหน้าเจรจาเปิดตลาดสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มเติมให้ไทยภายใต้เอฟทีเอกรอบต่างๆ ทั้งการทบทวนความตกลงเอฟทีเอที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน และความตกลงเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) รวมถึงการเจรจาเอฟทีเอกับคู่ค้าอื่นๆ ในอนาคต เช่น สหภาพยุโรป เป็นต้น”นางอรมนกล่าว
นางอรมน กล่าวว่า ปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงมีหลายด้าน เช่น การเพิ่มขึ้นของจำนวนสัตว์เลี้ยง คนนิยมเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น และลักษณะการเลี้ยงที่ใส่ใจกับคุณค่าทางโภชนาการของอาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ทำให้มีความต้องการอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ ซึ่งไทยสามารถตอบโจทย์ได้ เพราะการผลิตของสินค้าไทยมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ประกอบกับการมีบริษัทผู้ผลิตต่างชาติเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงในไทย เพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก
ทั้งนี้ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารสัตว์ของไทยควรรักษามาตรฐานสินค้าให้สอดคล้องกับหลักการสากลด้านมาตรฐานสุขอนามัย และปฏิบัติตามกฎระเบียบการนำเข้าอย่างเคร่งครัด รวมถึงต้องศึกษาแนวโน้มตลาด เพื่อให้ครองใจผู้บริโภคในตลาดโลก โดยอาหารสัตว์เลี้ยงควรมีคุณภาพ ช่วยดูแลสุขภาพให้กับสัตว์เลี้ยง และมีความหลากหลาย เช่น อาหารปลอดสารพิษ อาหารแคลอรี่ต่ำ รวมทั้งอาหารสำหรับสัตว์ที่เจ็บป่วย เป็นต้น หากผลิตได้ตรงตามความต้องการของตลาด จะเพิ่มโอกาสในการส่งออกเพิ่มขึ้น
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web