- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 04 October 2019 10:49
- Hits: 943
เงินเฟ้อ ก.ย.62 เพิ่ม 0.32% โตในอัตราชะลอตัว เหตุน้ำมันลดฉุด ทั้งที่กลุ่มอาหารขยับ
เงินเฟ้อ เดือนก.ย.62 เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงเหลือ 0.32% เมื่อเทียบกับ 2 เดือนก่อนหน้า เหตุกลุ่มพลังงานราคาหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 แม้จะเกิดเหตุถล่มโรงกลั่น ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหาร ส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งข้าวสาร ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่ นม คาดเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 0.7-1.0% แต่ไม่น่าเกิน 0.9% ต่ำกว่า 1% ในรอบ 2 ปี
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนก.ย.2562 เท่ากับ 102.90 เพิ่มขึ้น 0.10% เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.2562 ที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 0.32% เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.2561 ชะลอตัวลงค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับ 2 เดือนก่อนหน้า (ก.ค.-ส.ค.) ที่เพิ่มขึ้น 0.98% และ 0.52% ตามลำดับ ส่วนเงินเฟ้อรวม 9 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ก.ย.) เพิ่มขึ้น 0.81%
ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง มาจากการสูงขึ้นของสินค้ากลุ่มอาหารสด 5.11% โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่ม 9.15% ผักสด เพิ่ม 8.35% ผลไม้สด เพิ่ม 5.74% เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ เพิ่ม 2.79% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 1.63% แต่กลุ่มพลังงานลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ลด 6.39% ทำให้เป็นแรงฉุดเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไม่มาก โดยเฉพาะราคาน้ำมันลดลงถึง 9.91% เมื่อเทียบกับฐานปีก่อนที่ราคาสูง และแม้ปีนี้ ราคาตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นจากเหตุถล่มโรงกลั่น แต่ราคาก็ยังต่ำกว่าปีก่อน
ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงานออก เท่ากับ 102.70 เพิ่มขึ้น 0.09% เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.2562 และเพิ่มขึ้น 0.44% เมื่อเทียบกับก.ย.2561 ส่วนเฉลี่ย 9 เดือน เพิ่มขึ้น 0.54%
น.ส.พิมพ์ชน กกล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าเดือนต.ค.2562 จะยังคงลดลง เพราะฐานน้ำมันปีก่อนสูงที่สุดของปี และเดือนพ.ย.-ธ.ค.2562 จะเริ่มสูงขึ้น โดยไตรมาส 4 ประเมินไว้ว่าจะขยายตัว 0.5-1.0% และทำให้ทั้งปีจะอยู่ที่ 0.7-1.0% มีค่ากลางอยู่ที่ 0.85% และไม่น่าจะเกิน 0.9% ซึ่งถือเป็นตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำกว่า 1% ในรอบ 2 ปี นับจากปี 2560 ที่เพิ่มขึ้น 0.66% ปี 2561 เพิ่ม 1.07%
ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและภัยแล้งที่ผ่านมา พบว่า ไม่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ และการกินเจปีนี้ เท่าที่ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้า ก็ไม่มีการปรับขึ้นราคาแบบไม่สมเหตุสมผล จึงไม่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อเช่นเดียวกัน ขณะที่ผลจากการออกมาตรการชิมช้อปใช้ของรัฐบาล จะมีผลให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ เพราะสินค้าไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web