WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaa Aoramon

กรมเจรจาฯ ปลื้ม เอฟทีเอทำสินค้าเกษตรเข้มแข็ง ดันไทยขยับติด Top 10 ผู้ส่งออกโลก

    กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เกาะติดสถานการณ์ส่งออกสินค้าเกษตรของไทย   ช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 พบไทยขยับอันดับขึ้นเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 10 ของโลก เผยเอฟทีเอช่วยสร้างแต้มต่อให้สินค้าเกษตรไทย ดัน ผัก ผลไม้ เครื่องเทศและสมุนไพร ไก่แปรรูป ไก่สดและแช่แข็ง เป็นสินค้าส่งออกมาแรง ขยายตัวสวนกระแสเศรษฐกิจโลก

    นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในช่วงสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว พบว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม –กรกฎาคม) ไทยส่งออกสินค้าเกษตรสู่ตลาดโลกคิดเป็นมูลค่ารวม 23,741 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ไทยขยับลำดับขึ้นมาเป็นประเทศผู้นำในการส่งออกสินค้าเกษตรสู่ตลาดโลก ลำดับที่ 10 จากเดิมลำดับที่ 11 ในปี 2561 และหากเทียบกับ กลุ่มสมาชิกอาเซียน ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรสูงที่สุดอีกด้วย

     นางอรมน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศต่างๆ หดตัว ความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยสร้างแต้มต่อให้สินค้าเกษตรไทย มีศักยภาพด้านการแข่งขันสูงในตลาดโลก โดยเฉพาะในตลาดที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย  โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกสินค้าเกษตรไทยไป 18 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง มีมูลค่ารวม 16,833 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 70 ของการส่งออกสินค้าเกษตรไทยทั้งหมด มีคู่ค้าสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน จีน และญี่ปุ่น           

        สอดคล้องกับสถิติช่วงครึ่งปี 2562 ที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสินค้าเกษตรด้วยเอฟทีเอสูง โดยเฉพาะยางพารา มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ผลไม้สดและแปรรูป ไก่สดแช่แข็ง เป็นต้น สำหรับเอฟทีเอที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสินค้าเกษตรสูงเป็นอันดับต้น ได้แก่ เอฟทีเอระหว่างอาเซียน (ฝรั่ง มะม่วง มังคุด)  เอฟทีเออาเซียน-จีน (ยางพารา ทุเรียน มันสำปะหลัง มะม่วง ฝรั่ง มังคุด) เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น (เนื้อไก่และเครื่องในไก่ เนื้อสัตวปีกแช่แข็ง กุ้งปรุงแต่ง) เอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่น (กุ้งปรุงแต่ง ปลาแมคเคอเรล/ปลาซาร์ดีนปรุงแต่ง) เอฟทีเออาเซียน-เกาหลี (ฝรั่ง มะม่วง มังคุด) เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ปลาทูน่าปรุงแต่ง) เอฟทีเอไทย-ชิลี (ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ๊ค)

     ทั้งนี้ สินค้าเกษตรไทยที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 เช่น ผลไม้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 45 เครื่องเทศและสมุนไพร เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 ผัก เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ไก่สด เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 มีตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ จีน ขยายตัวร้อยละ 14 ฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 13 สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 8 เกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 8  ออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 1.5 เป็นต้น ซึ่งกรมฯ ให้ความสำคัญกับการเจรจาผลักดันให้คู่ค้าลดเลิกภาษีและอุปสรรคทางการค้า เพื่อสร้างความได้เปรียบและโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าเกษตรของไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการทบทวนความตกลงเอฟทีเอที่มีอยู่แล้ว เอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น อาร์เซ็ป ตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา  และเอฟทีเอที่มีแผนจะเจรจาในอนาคต เช่น สหภาพยุโรป  และสหราชอาณาจักร เป็นต้น

     นางอรมน กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรไทยจำนวนมากที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาสินค้าเกษตรไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศ จึงขอเชิญชวนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอที่ประเทศคู่ค้า ลดภาษีศุลกากรให้กับสินค้าเกษตรไทย โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลอัตราภาษีศุลกากร กฎระเบียบทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ หรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรีได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ http://ftacenter.dtn.go.th หรือศูนย์ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

ais 790x90GC 950x120

sme 720x90banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!