WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

เอกชนหมดหวังเลิกพึ่งส่งออกวอนรัฐอัดงบ แบงก์โลกหั่นเป้าศก.ไทย

    แนวหน้า : สทร.ทำใจเศรษฐกิจโลกซบ ยอดขายตก หั่นเป้าส่งออกปี 57จากโต 1.6%เป็นติดลบ 0.25% วอนรัฐบาลเร่งผ่อนคลายกฎระเบียบ  เพิ่มความคล่องตัวทางการค้า พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทย พร้อมรับมือเปิดตลาดเออีซีปี58  ด้านแบงก์โลกเตรียมลดคาดการณ์จีดีพีไทย หลังส่งออกหดตัวแรงเกินคาด

    นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย( สทร.)หรือสภาผู้ส่งออกฯ เปิดเผยว่า สทร. ได้ปรับประมาณการณ์ส่งออกไทยในปี 2557 ใหม่จากเดิม 1.6% เหลือติดลบ 0.25% หรือมีมูลค่า 227,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการส่งออกใน 8 เดือนของ ปี 2557 (มกราคม-สิงหาคม) มีมูลค่าเพียง 150,543.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลง 1.36% จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่าจะเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี จึงส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการส่งออกไทย

    นอกจากนี้ ยังพบว่า การส่งออกไทยยังได้รับผลกระทบจากกรณีที่สหรัฐฯมีการเน้นการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น แคนาดา และเม็กซิโก มากขึ้นเนื่องจากมีต้นทุนค่าขนส่งที่ต่ำกว่าการขายกับเอเชีย ขณะที่สถานการณ์ในยุโรปยังมีความน่ากังวลจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรอบในในยูโรโซน, ภาพรวมของเศรษฐกิจในลาตินอเมริกาที่เติบโตช้า,สถานการณ์ความไม่สงบทั้งจากการสู้รบและการเมืองทั่วโลก และเรื่องของประสิทธิภาพในการแข่งขันของไทยที่ลดลงจากต้นทุนโลจิสติกส์ที่ปรับตัวสูงต่อเนื่อง เป็นต้น

     “จากการประมาณการณ์ในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ ยอดส่งออกแต่ละเดือนต้องเฉลี่ยอยู่ที่ 19,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงจะคงเป้าส่งออกรวมของปีนี้ให้ติดลบเพียงแค่ 0.25% เท่านั้น แต่หากแต่ละเดือนที่เหลือต่ำกว่าระดับดังกล่าว ก็จะทำให้ภาพรวมยอดส่งออกปีนี้ติดลบหนักขึ้น ซึ่งอาจจะใกล้เคียงกับปีก่อนที่ติดลบ 0.4%”นายวัลลภกล่าว

     สินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับตัวลดลง อาทิ ยางพารา จากอุปทานส่วนเกินในตลาดโลก จึงทำให้ราคายางตกต่ำ รวมถึงมูลค่าการส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งแปรรูป ที่ลดลงจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเป็นเวลานาน จึงทำให้เสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับอินโดนีเซีย เวียดนาม เอกวาดอร์ และอินเดีย ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญอย่าง ยานยานยนต์และชิ้นส่วนปรับตัวลดลงจากการย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปอินโดนีเซีย

     นายวัลลภ กล่าวว่า ตัวเลขส่งออกเดือนสิงหาคมที่ออกมาเป็นอัตราที่น่าตกใจมาก เพราะติดลบหมดทุกตัว ทำให้เห็นว่าปีนี้จะหวังพึ่งการส่งออกคงไม่ได้ ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของประเทศที่รัฐบาลต้องเร่งทำคือ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ ส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาบูม รวมทั้งกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เพื่อดันให้จีดีพีปีนี้ยังโตที่ 1.5%ได้

      “แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ออกมาเป็นรูปธรรม จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเร่งทำ เช่น ปรับแก้กฎระเบียบต่างๆ ให้อำนวยความสะดวกทางการค้า ลดต้นทุนโลจิสติกส์และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เชื่อมโยงเพื่อนบ้านมากขึ้น รวมทั้งต้องผลักดันการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มซีแอลเอ็มวี และหาตลาดใหม่มาทดแทนตลาดหลักที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก”นายวัลลภกล่าว

      สรท.ต้องการให้รัฐบาลเร่งรัดการเปิดเสรีการค้าบริการสาขาโลจิสติกส์ให้มากขึ้นภายใต้กรอบการเจรจาการค้าเสรีที่มีอยู่เพื่อช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าไทย โดยอาจกำหนดเส้นตายในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยภายในประเทศภายในปี 2563 แล้วจึงเปิดเสรีในสาขาที่จำเป็น เช่น สาขาการขนส่งและกระจายสินค้า การจัดการโลจิสติกส์ และการบริการ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ส่งออกและนำเข้า มีทางเลือกในการใช้บริการโลจิสติกส์ที่มีศักยภาพ และต้นทุนที่ต่ำได้

      นอกจากนี้ ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำโครงสร้างต้นทุนค่าระวางและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับบริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศให้มีความชัดเจน รวมถึงควบคุมค่าระวางและค่าบริการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เนื่องจากที่ผ่านมาต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศปรับเพิ่มอย่างมากทั้งการเก็บเพิ่มของค่าบริการเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์  ค่าเอกสาร ค่าล้างตู้คอนเทนเนอร์ ค่ายกตู้ และการเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆตามมาอีกมากมาย จนทำให้ต้นทุนของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้นหลายพันล้านบาทต่อปี

     น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย(แบงก์โลก )กล่าวว่า เตรียมปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของประเทศไทยปีนี้ลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิถุนายน(ซึ่งก่อนหน้านี้เคยคาดการณ์จีดีพีไทยไว้ที่ประมาณ 3% )เนื่องจากปัจจัยหลายตัวที่จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยจะแถลงภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 6 ตุลาคมนี้

    "แนวโน้มลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิถุนายน เราคิดว่าพอมีรัฐบาลใหม่แล้วเศรษฐกิจจะฟื้น พอมาดูข้อมูลก็มีปัจจัยหลายตัว ทั้งการส่งออก การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนกลับโตน้อยกว่าที่คาดไว้" น.ส.กิริฎา กล่าว

     ปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น ได้แก่ ภาวะการส่งออกหดตัวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรป ภาครัฐควรเร่งกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้นเพื่อมาชดเชยการส่งออกที่ถดถอยลง นอกจากนี้ยังมีปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในเรื่องคุณภาพและต้นทุนแรงงาน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!