- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 20 September 2019 17:25
- Hits: 3397
การส่งออกของไทย สิงหาคม 2562 มูลค่า 21.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 4.0
ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจำเดือนสิงหาคม 2562
การส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2562 มีมูลค่า 21.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 4.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งส่งออกในเดือนก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามทางการค้าที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น โดยผลของสงครามการค้าได้นำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญซึ่งส่งผลให้การส่งออกในหลายตลาดหดตัว โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาด อาเซียน-5 CLMV และเอเชียใต้มีการหดตัวในระดับสูง ในขณะเดียวกันราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำได้ส่งผลให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังคงหดตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอุปทานส่วนเกินของสินค้าเกษตรในตลาดโลกและการแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกสินค้าเกษตรในเดือนนี้
อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค โดยการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ทวีปออสเตรเลีย และตะวันออกกลางยังคงขยายตัวได้ดี และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากการส่งออกทองคำ อัญมณีและเครื่องประดับ ที่ขยายตัวในระดับสูง สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดีทั้งในด้านปริมาณและราคา ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องส่งวิทยุ โทรเลขและโทรศัพท์ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูปไก่สดแช่แข็งและแปรรูป รวม 8 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกหดตัวร้อยละ 2.2
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท
เดือนสิงหาคม 2562 การส่งออก มีมูลค่า 670,452 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 616,377 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 21.1 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 54,076 ล้านบาท รวม 8 เดือนแรก ปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 5,206,697 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 3.7) การนำเข้ามีมูลค่า 5,089,258 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 5.0) และการค้าเกินดุล 117,439 ล้านบาท
มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ
เดือนสิงหาคม 2562 การส่งออก มีมูลค่า 21,915 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 19,862 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 14.6 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 2,053 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวม 8 เดือนแรก ปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 166,091 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 2.2) การนำเข้ามีมูลค่า 159,984 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 3.6) และการค้าเกินดุล 6,106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ร้อยละ 4.4 (YoY) สินค้าเกษตรสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 26.8 (ขยายตัวในตลาดจีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ไต้หวัน และเนเธอร์แลนด์) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 15.3 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และเกาหลีใต้) ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 5.6 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ จีน และสิงคโปร์) สินค้าเกษตรที่หดตัว ได้แก่ ข้าว หดตัวร้อยละ 44.7 (หดตัวในตลาดแอฟริกาใต้ จีน กานา และแคเมอรูน แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง และเซเนกัล) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 25.3 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย แต่ยังขยายตัวในตลาดไต้หวัน สหรัฐฯ และเกาหลีใต้) ยางพารา หดตัวร้อยละ 7.2 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ และบราซิล) กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป หดตัวร้อยละ 10.8 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา แต่ยังขยายตัวในตลาดจีน และเมียนมา) เครื่องดื่ม หดตัวร้อยละ 8.9 (หดตัวในตลาดเวียดนาม จีน ลาว และฟิลิปปินส์ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดกัมพูชา เมียนมา และสิงคโปร์) รวม 8 เดือนแรกของปี 2562 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ร้อยละ 2.2
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาหดตัวที่ร้อยละ 1.9 (YoY) สินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ ขยายตัวร้อยละ 51.1 (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ ฮ่องกง อินเดีย อิตาลี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) ทองคำ ขยายตัวร้อยละ 377.5 (ขยายตัวในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และเยอรมนี) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 9.2 (ขยายตัวในตลาดจีน กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบราซิล) เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ ขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี เม็กซิโก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวเกือบทุกตลาดที่ร้อยละ 27.7 (หดตัวในตลาดจีน เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินเดีย) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวที่ร้อยละ 12.6 (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดจีน สหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 10.5 (หดตัวในตลาดฮ่องกง จีน เนเธอร์แลนด์ แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเม็กซิโก) เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว หดตัวร้อยละ 9.5 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย แต่ยังขยายตัวในตลาดไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา) รวม 8 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวที่ร้อยละ 1.5
ตลาดส่งออกสำคัญ
นับจากมีการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน การส่งผลกระทบต่อกระแสการค้าโลกก็ทวีความรุนแรงขึ้น รวมทั้งขยายผลกระทบกว้างขึ้น จากช่องทางการค้าผ่านห่วงโซ่อุปทานไปสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงอย่างชัดเจน ทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม และการส่งออกไปตลาดสำคัญๆ ของไทยปรับตัวลดลง โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักในเดือนสิงหาคม 2562 หดตัวร้อยละ 0.1 แม้ว่าการการส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 5.8 แต่การส่งออกไปญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปหดตัวร้อยละ 1.2 และ 6.2 ตามลำดับ ด้านการส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงหดตัวร้อยละ 16.0 เนื่องจากการส่งออกไปอาเซียน-5 และเอเชียใต้หดตัวร้อยละ 24.6 และ 20.0 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปจีนลดลงไม่มากนักเพียงร้อยละ 2.7 อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดศักยภาพระดับรองขยายตัวร้อยละ 0.2 เนื่องจากการส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ขยายตัวร้อยละ 18.4 และ 5.3 ตามลำดับ ส่วนแอฟริกา กลุ่มประเทศ CIS และลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 22.8 10.5 และ 8.2 ตามลำดับ
ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 5.8 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ เครื่องส่งโทรศัพท์และโทรทัศน์ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และรถยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่แปดเดือนแรกของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 14.9
ตลาดจีน หดตัวร้อยละ 2.7 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ และรถยนต์และส่วนประกอบ ขณะที่แปดเดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 6.9
ตลาดญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 1.2 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก และ รถยนต์และส่วนประกอบ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ โทรทัศน์และส่วนประกอบ และไก่แปรรูป ขณะที่แปดเดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 0.8
ตลาดสหภาพยุโรป (15) หดตัวร้อยละ 6.2 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ แผงวงจรไฟฟ้า และโทรทัศน์และส่วนประกอบ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องปรับอากาศ ขณะที่แปดเดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 6.4
ตลาดอาเซียน-5 หดตัวร้อยละ 24.6 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ และน้ำตาลทราย ขณะที่แปดเดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 10.8
ตลาด CLMV หดตัวร้อยละ 22.7 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลฯ และ ผลไม้สดแช่แข็งและแห้งฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และปูนซิเมนต์ ขณะที่แปดเดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 5.3
ตลาดเอเชียใต้ หดตัวร้อยละ 20.0 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และยางพารา ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ขณะที่แปดเดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 4.2
ตลาดอินเดีย หดตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ที่ร้อยละ 18.0 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ยางพารา และเหล็กและผลิตภัณฑ์ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ขณะที่แปดเดือนแรกของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 0.7
ตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 18.4 และเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เครื่องจักรกลฯ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ขณะที่แปดเดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 2.3
ตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัวร้อยละ 5.3 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปฯ เครื่องจักรกลฯ ยางพารา และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น ขณะที่แปดเดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 4.8
ตลาดลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 8.2 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปฯ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ และเครื่องจักรกลฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ขณะที่แปดเดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 7.1
ตลาดรัสเซีย และกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 10.5 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องฯ และเครื่องยนต์สันดาปฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกลฯ ขณะที่แปดเดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 8.2
ตลาดทวีปแอฟริกา หดตัวร้อยละ 22.8 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ข้าว รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปฯ เม็ดพลาสติก และเหล็กและผลิตภัณฑ์ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องจักรกลฯ และเคมีภัณฑ์ ขณะที่แปดเดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 8
แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2562
แนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2562 ยังมีความเสี่ยงจากสงครามการค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินบาท อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์มีแผนผลักดันการส่งออกในครึ่งปีหลังให้สามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.0 โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) มีนโยบายรักษาตลาดเดิม ขยายตลาดใหม่ ฟื้นฟูตลาดเก่า เช่น ตลาดตะวันออกกลาง ที่เคยเป็นตลาดข้าวเก่าของไทย เช่น อิรัก รวมทั้งตลาดอื่นๆ เช่น จอร์แดน กาตาร์ บาห์เรน คูเวต ตลาดอาเซียนและ CLMV เป็นตลาดศักยภาพและมีโอกาสเพิ่มตัวเลขการค้าอีกมาก โดยเฉพาะการค้าชายแดนและผ่านแดนซึ่งต้องเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า ตลาดจีน มุ่งเน้นเพิ่มมูลค่าในพื้นที่ที่ไทยเข้าไปทำตลาดแล้ว รวมทั้งขยายไปยังมณฑลตอนในหรือเมืองรองที่ยังเข้าไม่ถึง ตลาดอินเดีย ถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงมาก และมีความต้องการในการบริโภคที่หลากหลาย ทั้งนี้ รองนายกฯ มีกำหนดการไปเยือนจีน และอินเดีย ในปลายเดือนกันยายนนี้ เพื่อเร่งผลักดันสินค้าเกษตรของไทย ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสินค้าเกษตรอื่นๆ ให้ได้มากที่สุด
โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์
Click Donate Support Web