- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 14 September 2019 14:59
- Hits: 4196
จุรินทร์ เล็ง! ใช้ศักยภาพกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เพิ่มรายได้ประชาชน รองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ รวมทั้งสู้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
ในโอกาสที่กระทรวงพาณิชย์จัดอบรมสัมมนาบุคลากรภาครัฐและภาคเอกชนของ CLMVT Adapt to Global Value Chain ซึ่งประกอบไปด้วย ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาคเอเชีย โดยนายจุร้นทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดวันนี้ ได้กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของภูมิภาค CLMVT ในการเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่คุณค่าสากลใหม่และเป็นภูมิภาคสำคัญที่เชื่อมต่อกับเศรษฐกิจของอาเซียน ทวีปเอเชีย และโลก การจัดงานอบรมสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้น เพื่อเป็นกิจกรรมที่ผู้บริหารและผู้ประกอบการในภูมิภาคได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันในการผลักดัน “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน”
ด้วยจำนวนประชากรรวมกันกว่า 242 ล้านคน มูลค่า GDP รวมกันได้ 863,859 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 5 ปี (2557 - 2561) ที่ร้อยละ 4.83 ประกอบกับมีการจัดทำข้อตกลงทางการค้า และการลงทุนของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคกับประเทศคู่ค้าสำคัญ ทำให้ภูมิภาค CLMVT มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอย่างแนบแน่นในเครือข่ายการผลิตของอาเซียนและเอเชีย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าโลกอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และแม้เศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวนและไม่แน่นอน แต่ภูมิภาค CLMVT ยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพอันเหนียวแน่นเพื่อยืนหยัดและเอาชนะความท้าทายของเศรษฐกิจโลกมาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม ภูมิภาค CLMVT ยังมีข้อจำกัดด้านผลิตภาพและการสร้างมูลค่า ที่ต้องเผชิญกับกฎระเบียบทางการค้าที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งกฎระเบียบในด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค คุณภาพผลิตภัณฑ์ การปกป้องและคุ้มครองสิ่งแวดล้อม รวมถึงแรงกดดันจากการขยายตัวของเทคโนโลยีสมัยใหม่และดิจิทัล ภูมิภาค CLMVT จึงจำเป็นต้องยกระดับห่วงโซ่คุณค่าของภูมิภาค เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงอยู่ในเครือข่ายการผลิตของโลกได้ต่อไป
นายจุรินทร์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5-10 กันยายน ที่ผ่านมาตนได้เป็นประธานที่ประชุมเศรษฐกิจอาเซียน Rcep ASEAN+6 ASEAN+3 จากการประชุม 5 วันนั้นได้ข้อสรุปว่า CLMVT มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมสร้างความเข้มแข็ง ไม่ใช่เฉพาะในภูมิภาค แต่ต้องขยายความร่วมมือและเสริมสร้างความเข้มแข็งไปสู่ภูมิภาคและโลกด้วย ดังนั้นภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องจับมือไปด้วยกัน เพื่อก้าวสู่การขยายตัวทั้งการค้าการลงทุน โดยเฉพาะการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นหัวใจหลักของการส่งออก หากเราดำเนินการตามนั้นได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อ CLMVT ไม่ใช่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการภูมิภาค CLMVT ต้องเร่งปรับปรุงวิธีการผลิตให้ทันสมัยและสามารถสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้น นอกจากนี้การพัฒนาประสิทธิภาพของภาคบริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการขนส่งและส่วนโลจิสติกส์ บริการค้าปลีกและค้าส่ง บริการธุรกิจ และบริการทางการเงิน ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่สำคัญ ดังนั้น กลุ่ม CLMVT จึงควรร่วมมือกันในการกำหนดทิศทางอนาคตของภูมิภาค เพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็ง และสานต่อความเชื่อมโยงกับนานาประเทศโดยรอบแบบไร้รอยต่อ เพื่อปรับตัว รองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ รวมทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
จุรินทร์ ดันตั้ง กรอ.ชายแดนไทย-สปป.ลาว ขับเคลื่อนการค้า ลงทุน ขนส่ง ท่องเที่ยว
จุรินทร์ ถกภาครัฐและเอกชนหารือแผนขับเคลื่อนการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว เล็งตั้ง กรอ.ชายแดนไทย-สปป.ลาว ทำหน้าที่แก้ปัญหา ขับเคลื่อนการค้า การลงทุน ขนส่งและท่องเที่ยว เตรียมชง JTC เคาะธ.ค.นี้ พร้อมเสนอมหาดไทย ขยายเวลา Boarding Pass เป็น 7 วันส่งเสริมการค้า ท่องเที่ยว ขอขยายเวลาเปิด-ปิดด่าน เคลียร์คลังปมนำเงินไปลงทุนในสปป.ลาว และหาทางส่งสินค้าทางรถไฟไปเวียงจันทน์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว ว่า ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการค้าชายแดนไทยกับสปป.ลาว โดยเห็นด้วยกับข้อเสนอของภาคเอกชนที่จะให้มีการจัดตั้งกรอ.ชายแดนไทย-สปป.ลาว เพื่อให้มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาการค้า การลงทุน การขนส่ง รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยว จึงได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศรับเป็นเจ้าภาพที่จะนำเรื่องนี้ไปนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ระหว่างไทย–สปป.ลาวต่อไป ซึ่งจะรีบนัดประชุม JTC ภายในต้นเดือนธ.ค.2562 นี้
ส่วนการอนุญาตให้ชาวลาวเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยเดิมอนุญาตให้สามารถใช้ Boarding Pass เดินทางเข้ามาในไทยได้ 2 วัน 3 คืน และขอขยายขึ้นเป็น 7 วัน เพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยว ที่ประชุมได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยให้ดำเนินการจัดการประชุมคณะกรรมการไทย-สปป.ลาว ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน เพื่อหารือเรื่องนี้
สำหรับ กรณีที่ภาคเอกชนขอให้มีความชัดเจนในการนำเงินบาทไปลงทุนในสปป.ลาว ซึ่งเดิมกำหนดไว้ว่าเงิน 4.5 แสนถึง 2 ล้านบาท ต้องแจ้งต่อกรมศุลกากร แต่ขณะนี้เกิดปัญหาความเข้าใจไม่ตรงกันในแต่ละด่าน จึงมอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ทำหนังสือไปถึงปลัดกระทรวงการคลังให้ดำเนินการไปในแนวทางเดียวกัน
นายจุรินทร์กล่าวว่า เรื่องการขอขยายเวลาเปิด-ปิดด่าน สำหรับสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว ที่ จ.หนองคาย และจ.มุกดาหาร เดิม 06.00-22.00 น. ขอขยายเวลาเป็น 05.00-24.00 น. ด่านช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี เดิม 06.00-20.00 น. ขอขยายเป็น 05.00-22.00 น. ด่านท่าลี่ จ.เลย เดิม 07.00-18.00 น. ขอขยายเป็น 07.00-20.00 น. ซึ่งเป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทย ที่ประชุมจึงมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ ประสานไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้
ด้านการขออนุมัติเอกสารฟอร์ม D (เอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อการส่งออก) เอกชนเสนอขอให้มีความสามารถในการรับรองเอกสารส่งออกด้วยตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้ในที่ประชุมอาเซียนกำหนดให้ดำเนินการภายในมี.ค.2563 ซึ่งกรณีที่เอกชนขอให้มีการอนุมัติเอกสารฟอร์ม D ไทย-สปป.ลาว ทางสปป.ลาวขอให้มีการอนุมัติที่จุดชายแดน โดยไม่ต้องส่งไปที่เวียงจันทน์ รัฐมนตรีจากประเทศลาวได้แจ้งในที่ประชุมอาเซียนว่า สปป.ลาวจะสามารถอนุมัติเอกสารฟอร์ม D ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ภายในสิ้นปีนี้ เพื่ออำนวยการส่งสินค้าระหว่างไทย-สปป.ลาว
ขณะที่การขอให้บุคลากรของสปป.ลาว สามารถเข้ามาฝึกงานในไทยได้ไม่เกิน 3 เดือน โดยไม่ต้องทำ Work Permit จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการค้าชายแดน และจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมพิจารณา ส่วนการขอให้มีการอนุมัติการนำรถยนต์ส่วนบุคคลของจีนและเวียดนามเข้ามาในชายแดนไทยโดยไม่ต้องขออนุมัติล่วงหน้า 7–15 วัน ได้ขอให้กรมการขนส่งจังหวัดเป็นผู้พิจารณา ซึ่งในแง่เศรษฐกิจ ถือว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว และหากทำได้ก็จะเริ่มในปลายเดือนพ.ย.2562 และกรณีที่ขอให้มีการเพิ่มช่องทางการขนส่งสินค้าทางรถไฟ จากจังหวัดหนองคายไปเวียงจันทน์ ที่แต่เดิมไม่สามารถขนสินค้าได้ หากมีการพิจารณาให้สามารถทำได้ จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นการส่งเสริมการค้าระหว่าง 2 ประเทศได้มากขึ้นถึง 67.5%
รายงานข่าวแจ้งว่า การค้าระหว่างไทย-สปป.ลาว ช่วง 7 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-กค.) รวมกว่า 117,116.86 ล้านบาท เป็นการส่งออก 70,228.43 ล้านบาท นำเข้า 46,888.43 ล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้า 23,340 ล้านบาท และการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว คิดเป็น 18% ของการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยสินค้าส่งออกของไทยที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล รถยนต์ อุปกรณ์ สินค้าปศุสัตว์ น้ำมันสำเร็จรูป และสินค้าอุตสาหกรรม และด่านสำคัญได้แก่ ด่านศุลกากรหนองคาย มีมูลค่าการค้ารวม 35,162 กว่าล้านบาท รองลงมา คือ ด่านศุลกากรมุกดาหาร ด่านศุลกากรทุ่งช้างด่านศุลกากรช่องเม็ก และด่านศุลกากรนครพนม
Click Donate Support Web