- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 05 September 2019 19:49
- Hits: 2179
กรมเจรจาฯ เผยเอฟทีเอหนุนส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ ทำยอดขายไปอาเซียนได้มากสุด
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยสถิติส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ 6 เดือน พบส่งออกไปประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอพุ่ง อาเซียนนำโด่ง ส่งออกมูลค่าสูงสุด มีสัดส่วน 82.32% ของยอดส่งออกทั้งหมด ตามด้วยจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ระบุล่าสุดคู่เจรจา 15 ประเทศลดภาษีให้ไทยเหลือ 0% แล้ว เหลือแค่ 4 ประเทศที่ยังลดไม่หมด ยันในด้านการเตรียมความพร้อมรับมือเปิดเสรีกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ทำมาต่อเนื่อง มั่นใจอุตสาหกรรมโคนมไทยสู้ได้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยไปยังประเทศต่างๆ ในช่วง 6 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) พบว่า มีมูลค่าการส่งออกไปตลาดโลกสูงถึง 260 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.42% มีตลาดส่งออกสำคัญ คือ อาเซียน ส่งออกมูลค่า 213.63 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.18% คิดเป็นสัดส่วน 82.32% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ตามด้วย จีน มูลค่า 14.73 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 13.61% คิดเป็นสัดส่วน 5.68% ฮ่องกง มูลค่า 9.14 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 36.42% สัดส่วน 3.52% ญี่ปุ่น มูลค่า 6.13 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.13% สัดส่วน 2.36% และไต้หวัน มูลค่า 9 แสนเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.57% สัดส่วน 0.35%
“ตลาดส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของไทย ส่วนใหญ่เป็นตลาดที่เป็นคู่เจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับไทย ทั้งอาเซียน จีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น จึงพูดได้ว่าเอฟทีเอได้มีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออก เพราะปัจจุบันสินค้านมและผลิตภัณฑ์ของไทยสามารถส่งออกไปยัง 15 ประเทศคู่เอฟทีเอโดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง มีเพียง 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ที่ลดภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์บางส่วนให้ไทยแต่ยังไม่เป็น 0%”นางอรมนกล่าว
ทั้งนี้ เฉพาะตลาดอาเซียน สินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทย เป็นที่ยอมรับในคุณภาพและมาตรฐาน สินค้าไทยเป็นที่นิยม โดยกัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว และสิงคโปร์ เป็นตลาดที่นำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมจากไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกในอนาคต
นางอรมนกล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรและผู้ประกอบการโคนมของไทยรองรับการค้าเสรี กรมฯ ได้เจรจาต่อรองทยอยลดภาษีศุลกากรสินค้านมและผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากประเทศคู่เอฟทีเอแบบค่อยเป็นค่อยไป ควบคู่กับการใช้มาตรการโควตาภาษีและมาตรการปกป้องพิเศษ เพื่อช่วยภาคการผลิตและอุตสาหกรรมโคนมของไทยมีเวลาปรับตัว ก่อนจะเปิดตลาดรับการแข่งขันในอนาคต ทั้งการเปิดตลาดให้กับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ในปี 2564 และ 2568
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ และชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย เป็นต้น ลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโคนมในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในโลกการค้าเสรี โดยเฉพาะการร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้สินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ
Click Donate Support Web