- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 05 September 2019 19:44
- Hits: 2162
ส่งออกอัญมณี 7 เดือนพุ่ง 29.29% ได้แรงหนุนส่งทองคำเก็งกำไร คาดเทรดวอร์ดันยอดไปสหรัฐฯ เพิ่ม
สถาบันอัญมณีฯ เผยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 7 เดือนพุ่ง 9,025 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 29.29% ได้แรงหนุนจากการส่งออกทองคำเพิ่มแรงถึง 72.67% จากการส่งออกไปเก็งกำไรส่วนต่างราคา แถมคนแห่ซื้อทองคำเพื่อความปลอดภัย ด้านตลาดอาเซียนมาแรง โต 106% ตามด้วยอินเดีย 91% ระบุสหรัฐฯ ขึ้นภาษีเครื่องประดับจีน สินค้าไทยมีโอกาสชิงตลาด แต่ต้องระวังปัจจัยเสี่ยง ทั้งสงครามการค้า ฮ่องกงป่วน บาทแข็ง
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 7 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 9,025.29 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.29% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 283,685.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.56% หากหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกมีมูลค่า 4,433.09 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.59% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 139,514.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.12%
ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในช่วง 7 เดือนของปี 2562 เพิ่มขึ้น มาจากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นถึง 72.67% โดยเป็นการส่งออกเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของราคา จากราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนก.ค.2562 ราคาอยู่ที่ 1,412.98 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ และยังมีความวิตกต่อข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป (อียู) และอิหร่าน ทำให้เกิดแรงซื้อทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น โดยตลาดส่งออกทองคำ 3 อันดับแรกของไทย คือ สวิตเซอร์แลนด์ มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 56% รองลงมา คือ สิงคโปร์ และกัมพูชา
ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญหลายรายการ มีการส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น พลอยสี เพิ่ม 20.41% พลอยก้อน เพิ่ม 262.48% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 11.70% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 14.67% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 4.18% เศษหรือของที่ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า เพิ่ม 185.17% ส่วนเครื่องประดับแท้ ลด 10.53% เครื่องประดับเงิน ลด 19.75% เครื่องประดับทอง ลด 6.24% เพชร ลด 6.48% เพชรก้อน ลด 22.45% เพชรเจียระไน ลด 5.32%
สำหรับ ตลาดส่งออก พบว่า อาเซียนเติบโตแรงสุด 106.28% เป็นผลจากการส่งออกไปสิงคโปร์ที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 82% ได้เพิ่มขึ้นถึง 178% และยังส่งออกไปเวียดนามเพิ่ม 69.26% รองลงมา คือ อินเดีย เพิ่ม 91.01% จากการส่งออกวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบได้เพิ่มขึ้น ส่วนตลาดที่ยังขยายตัวติดลบ เช่น ฮ่องกง ลบ 6.66% สหภาพยุโรป ลด 10.51% สหรัฐฯ ลบ 5.59% กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ลบ 2% ญี่ปุ่น ลด 7.55% จีน ลบ 10.48% ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ลบ 25.01% รัสเซียและเครือรัฐเอกราช ลบ 76.95%
“การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในช่วง 7 เดือน ถ้าไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะได้รับผลดีจากแรงซื้อของอาเซียนและอินเดีย แต่ตลาดหลักอื่นๆ ทั้งฮ่องกง สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าที่เข้มข้นมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ทำให้คนระวังการใช้จ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย และยังได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า ที่ใช้ช่วง 7 เดือนแข็งขึ้น 7.5% เมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐ ทำให้ไทยสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน”นางดวงกมลกล่าว
นางดวงกมล กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในช่วงที่เหลือของปีนี้ มีปัจจัยบวกมาจากกลุ่มผู้มีกำลังซื้อที่ยังต้องการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย และคำสั่งซื้อสินค้าสำหรับจำหน่ายในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ ในช่วงปลายปี และน่าจะได้รับผลดีจากสงครามการค้า หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นอีก และหนึ่งในนั้นมีสินค้าในกลุ่มเครื่องประดับรวมอยู่ด้วย จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะส่งสินค้าเข้าไปทดแทนสินค้าจากจีนในตลาดสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาความไม่แน่นอนของสงครามการค้า ปัญหาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน การประท้วงในฮ่องกง ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของคู่ค้าของไทย รวมถึงเงินบาทที่ยังคงอยู่ในทิศทางแข็งค่า โดยผู้ส่งออกต้องปรับกลยุทธ์ให้ทันท่วงที เน้นการพัฒนาคุณภาพสินค้า และเจาะกลุ่มเฉพาะให้มากขึ้น เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มสาวโสด กลุ่มคนรักสัตว์ เป็นต้น และอย่าลืมบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
Click Donate Support Web