- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 25 August 2019 14:29
- Hits: 3378
'พาณิชย์'เผยใช้สิทธิ์ FTA-GSP ส่งออกครึ่งปี มูลค่า 36,358.24 ล้านเหรียญ ลดลง 1.35%
กรมการค้าต่างประเทศเผยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในช่วง 6 เดือนปี 62 มีมูลค่า 36,358.24 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.35% ระบุการใช้สิทธิ์ FTA อาเซียนยังคงนำโด่ง ส่วน GSP สหรัฐฯ ครองแชมป์เหมือนเดิม จับตาสงครามการค้า เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว บาทแข็ง กดดันการใช้สิทธิ์ เตรียมเดินหน้ากระตุ้นการใช้สิทธิ์ต่อ หวังดันทั้งปีเข้าเป้า 8.1 หมื่นล้านเหรียญ เพิ่ม 9%
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วง 6 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 36,358.24 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ที่ 78% ลดลง 1.35% โดยแบ่งเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA จำนวน 13 ฉบับ ยกเว้น FTA อาเซียน-ฮ่องกงที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ 11 มิ.ย.2562 มีมูลค่ารวม 33,755.81 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 79.02% ของสินค้าที่ได้รับสิทธิ์มูลค่า 42,720.04 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.65% และการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP จำนวน 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ มูลค่า 2,602.43 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 66.88% ของการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ์มูลค่า 3,891.08 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.34%
ทั้งนี้ ในด้านการใช้สิทธิ์ FTA ส่งออก 5 อันดับแรก ตลาดอาเซียนมีการใช้สิทธิ์สูงสุด มูลค่า 12,386.53 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมา คือ จีน มูลค่า 9,222.44 ล้านเหรียญสหรัฐ ออสเตรเลีย มูลค่า 4,078.06 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น มูลค่า 3,822.76 ล้านเหรียญสหรัฐ และอินเดีย มูลค่า 2,299.26 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP สหรัฐฯ ยังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือ ประมาณ 92% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด มีมูลค่าการใช้สิทธิอยู่ที่ 2,382.93 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 75.16% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 3,170.52 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.59%
นายอดุลย์ กล่าวว่า แนวโน้มการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังคงกดดันเศรษฐกิจการค้าโลก ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าของคู่ค้าชะลอตัวตาม และยังมีภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว รวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้สินค้าไทยมีราคาแพงขึ้น ซึ่งหากส่งออกได้ลดลง ก็จะกระทบต่อการใช้สิทธิ์ลดลงตามไปด้วย แต่กรมฯ จะเดินหน้าผลักดันการใช้สิทธิประโยชน์ทั้ง FTA และ GSP ต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ที่ 81,025 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% เพราะหลายๆ ตลาดยังมีโอกาส อย่างจีน อินเดีย เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และเปรู เป็นต้น
Click Donate Support Web