- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 25 August 2019 13:45
- Hits: 2944
ปลัดพาณิชย์ ถกวอร์รูมนัดแรก วางกรอบรับมือเทรดวอร์-ดันส่งออก-เร่งค้าชายแดน-เจรจาการค้า
ปลัดพาณิชย์นัดประชุมวอร์รูมครั้งแรก วางกรอบทำงานรับมือสงครามการค้า ทำแผนผลักดันการส่งออก เพิ่มยอดการค้าชายแดน เร่งเจรจาการค้า อำนวยความสะดวกทางการค้าและใช้เงินสกุลท้องถิ่นค้าขาย และการแก้ปัญหา อุปสรรคทางการค้า พร้อมดูยาวถึง Brexit ก่อนให้รายงานความคืบหน้า กรอ.พาณิชย์ปลายก.ย.นี้
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะทำงานรองรับสถานการณ์การค้า (War Room) ที่จัดตั้งขึ้นตามมติของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เป็นครั้งแรก ว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน อย่างใกล้ชิด และทำแผนรับมือ ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่กันทั้งด้านการรับมือการเบี่ยงเบนทางการค้า การรุกตลาดและการส่งออก การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และการลงทุน
ส่วนด้านการส่งออก ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทำหน้าที่พิจารณาแผนส่งเสริมการส่งออก การส่งเสริมตลาด และช่วยเหลือ SMEs เช่น การจัดทำกลยุทธ์เป็นรายสินค้าและรายตลาด รอบ 3-6 เดือน การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างเอกชนและทูตพาณิชย์ การช่วยเหลือ SMEs เข้าถึงตลาดใหม่ หรือการผลักดันให้มีการทำประกันความเสี่ยง
ด้านการค้าชายแดน ให้กรมการค้าต่างประเทศทำหน้าที่ขับเคลื่อน โดยใช้กลไกคณะกรรมการส่งเสริมการค้าชายแดนและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีรมว.พาณิชย์เป็นประธาน เพื่อหารือกับประเทศเพื่อนบ้านหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และปลดล็อกกฎระเบียบหรืออุปสรรคต่างๆ โดยเร็วที่สุด
ด้านการเจรจาการค้า มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นหน่วยงานหลัก ในการเจรจา ทั้งกรอบความตกลงการค้าเสรี (FTA) ความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งระดับทวิภาคี พหุภาคี หรือภูมิภาค เช่น RCEP ไทย-ตุรกี ไทย-ปากีสถาน ไทย-ศรีลังกา ไทย-สหภาพยุโรป ไทย-สหราชอาณาจักร เป็นต้น
ส่วนในด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า มอบให้กรมการค้าต่างประเทศ สนค. เป็นแกนกลางในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดัน เช่น การขับเคลื่อน National Single Window ให้เสร็จสมบูรณ์ และเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (National Digital Trade Platform) ของภาคเอกชน และการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าระหว่างประเทศ
สำหรับ กฎหมาย ระเบียบ และมาตรการทางการค้า ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และกรมการค้าต่างประเทศ ช่วยกันติดตามและแจ้งเตือนอุปสรรคมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTBs/NTMs) ของกลุ่มประเทศในอาเซียน และแก้ไขปัญหาเร่งด่วน เช่น การแก้ไขปัญหาการค้ากับอินเดีย ซึ่งใช้พิกัดศุลกากรที่ล้าหลังและไม่ตรงกับไทย
นอกจากนี้ ให้มีการติดตามประเด็นการค้าที่อาจจะส่งผลกระทบต่อไทย เช่น การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นปัจจัยกดดันภาพรวมเศรษฐกิจการค้าโลก แต่ยังกระทบต่อโครงสร้างการส่งออกของไทยในทั้งช่วงปลายปีนี้และในอนาคต
“ขอให้แต่ละหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ไปทำแผนระยะสั้น 3-6 เดือน ระยะกลาง 1 ปี โดยให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคเอกชน ในการทำแผน เพื่อให้การทำงานสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และให้รายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุม กรอ.พาณิชย์ครั้งต่อไปภายในช่วงปลายเดือนก.ย.2562”นายบุณยฤทธิ์กล่าว
Click Donate Support Web