- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 25 August 2019 13:41
- Hits: 3090
'พาณิชย์'ถกเอกชน คาดส่งออกไตรมาส 3-4 ดีขึ้น พร้อมเร่งทำแผนเจาะราย'สินค้า-ตลาด'ดันยอด
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศหารือภาคเอกชนประเมินทิศทางส่งออกไตรมาส 3 และ 4 เห็นตรงกันมีแนวโน้มดีขึ้น เอกชนยังประเมินทั้งปีติดลบ 0.9% แต่หากอัดฉีดกิจกรรมปั๊มยอด ทั้งเจาะรายสินค้า รายตลาด เชื่อดีขึ้นแน่ “บรรจงจิตต์”ยืนตัวเลข 3% ไว้เป็นเป้าทำงาน ลุยถกเอกชนรายกลุ่ม ทำแผนเจาะเป็นรายสินค้า รายตลาด ดันยอดส่งออกเพิ่ม
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการประชุมประเมินสถานการณ์ส่งออกไตรมาส 3 ปี 2562 ร่วมกับภาคเอกชนว่า กรมฯ ได้เชิญภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ มาให้ข้อมูลสถานการณ์ตลาด ซึ่งทางภาคเอกชนประเมินว่าการส่งออกในไตรมาส 3 และ 4 น่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยประเมินว่าการส่งออกทั้งปีจะขยายตัวติดลบน้อยลงมาอยู่ที่ ลดลง 0.9% แต่ถ้ามีการเร่งรัดผลักดันการส่งออกตามแผนที่กระทรวงพาณิชย์มุ่งเจาะตลาดเป็นรายสินค้า รายตลาด และฟื้นฟูการส่งออกในตลาดที่เคยเป็นของไทยได้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้การส่งออกในภาพรวมดีขึ้นกว่าที่ประเมินไว้
“กรมฯ ได้แจ้งภาคเอกชนว่า ยังคงยืนยันเป้าหมายการเติบโตทั้งปีที่ 3% ไว้เป็นเป้าทำงาน เพราะในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ วันที่ 16 ส.ค.2562 ก็มีการประเมินเศรษฐกิจในภาพรวม รวมถึงการส่งออก โดยเห็นด้วยกับเป้าหมายการขับเคลื่อนการส่งออกทั้งปีโต 3% และมองถึงปี 2563 โต 3.5% จากนั้นได้นำรายงาน ครม. ชุดใหญ่ วันที่ 20 ส.ค.2562 ซึ่ง ครม. ก็รับทราบตามนั้น”
สำหรับ แผนผลักดันการส่งออก กรมฯ กำลังอยู่ระหว่างการประชุมร่วมกับภาคเอกชนเป็นรายกลุ่มสินค้า เพื่อจัดทำแผนผลักดันการส่งออกเป็นรายสินค้าและรายตลาด ซึ่งจะมีการกำหนดแผนเร่งด่วนระยะสั้น กลาง ยาว ว่าจะทำอะไร เพื่อเพิ่มยอดการส่งออก โดยแผนจะกำหนดออกมาชัดเจนว่าอะไรที่ต้องทำเลย ปัญหาที่จะต้องปลดล็อกคืออะไร และระยะยาวต้องแก้ปัญหา หรือการสร้างโอกาสทางการค้าให้กับไทยต้องทำอะไร เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น การสร้างโอกาสทางการค้า จะต้องเร่งการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ให้จบภายในปีนี้ การเริ่มการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ไทย-อังกฤษ เพื่อเพิ่มโอกาสการค้า การลงทุน หลังจากที่อังกฤษจะออกจากอียู (เบร็กซิต) หรือแผนรายสินค้า เช่น ข้าว อาหาร อัญมณี ยางพารา จะผลักดันการส่งออกยังไง ตลาดไหน หรือบางตลาดที่เคยเป็นของไทย แต่ชะลอตัวลงหรือหายไป จะดึงกลับคืนมาได้ยังไง ส่วนตลาด ก็จะมีการกำหนดลงไปชัดเจนเลยว่าตลาดนี้ จะเจาะยังไง สินค้าอะไร เช่น อินเดีย จะมุ่งสินค้าเกษตร อาหาร ก่อสร้าง บริการโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เป็นต้น
นอกจากนี้ จะเปิดโอกาสให้สภาธุรกิจของประเทศต่างๆ ที่มีอยู่กว่า 20 แห่ง ให้มาทำงานร่วมกับกรมฯ ในการทำแผนขยายตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยได้หารือกับสภาธุรกิจไทย-อินเดีย และไทย-ฟิลิปปินส์ไปแล้ว จะขยายไปยังประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้น เพราะคนที่เป็นสมาชิกเป็นผู้ที่ทำธุรกิจอยู่แล้ว น่าจะมีคำแนะนำหรือมีช่องทางในการผลักดันสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดได้
ขณะเดียวกัน จะทบทวนการจัดกิจกรรมส่งเสริมและผลักดันการส่งออก เช่น การจัดงานแสดงสินค้า ที่จัดปีละประมาณ 10 งาน อาจจะปรับลดการจัดงานลง และหันไปเพิ่มกิจกรรมที่สร้างยอดการส่งออกได้เร็วและทันที อย่างการเพิ่มคณะผู้แทนการค้าออกไปเจาะตลาดเป็นรายสินค้า และการจัดเวทีเจรจาจับคู่ธุรกิจ หรืองบโครงการ SMEs Proactive ที่จะปรับเงื่อนไขให้ช่วยเหลือเป็นรายสินค้าและรายอุตสาหกรรมมากขึ้น
Click Donate Support Web