- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 25 August 2019 12:47
- Hits: 3201
กรมทรัพย์สินทางปัญญาจับมือ 'AVIA-ทรู วิชั่น'วางแผนป้องกันละเมิดลิขสิทธิ์ทางสื่อดิจิทัล
กรมทรัพย์สินทางปัญญาจับมือสมาคมอุตสาหกรรมวิดีโอเอเชีย (AVIA) และทรู วิชั่น กรุ๊ป ติดตามสถานการณ์การละเมิดลิขสิทธิ์ทางสื่อดิจิทัล และวางแนวทางป้องกันการละเมิด “ทรู”ย้ำปัญหาละเมิดยังมีอยู่ ตั้งแต่บอลโลก จนปัจจุบันพรีเมียร์ลีก แต่ช่องทางละเมิดซับซ้อนมากขึ้น เป็นทางเน็ตและแอปฯ ด้าน AVIA ชี้การใช้มาตรการคุมขโมยคอนเทนต์ต้องตามเทคโนโลยีให้ทัน พร้อมเตือนผู้บริโภคดูของฟรีระวังเจอมัลแวร์
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมวิดีโอเอเชีย (AVIA) และทรู วิชั่น กรุ๊ป จัดการประชุมเรื่องการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดิจิทัลคอนเทนต์ โดยได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งไทยและต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมคอนเทนต์มาร่วมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดในปัจจุบัน และแนวทางการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์สื่อดิจิทัล รวมถึงอภิปรายกลยุทธ์ในการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ที่มีประสิทธิภาพของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นายจุลทัย ศาลิคุปต ผู้อำนวยการฝ่ายรายการกีฬา บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมา ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยมีอยู่มากมาย ตั้งแต่ฟุตบอลโลก รวมถึงฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษที่กำลังมีการถ่ายทอดสดกันอยู่ ซึ่งรูปแบบการละเมิดลิขสิทธิ์ แตกต่างจากในอดีตที่ละเมิดผ่านเคเบิ้ลมาเป็นช่องทางอินเทอร์เน็ต และโมบายแอปพลิเคชัน ทำให้การตรวจจับทำได้ยากยิ่งขึ้น
“หากยังคงมีการละเมิดลิขสิทธิ์กันอยู่แบบนี้ จะส่งผลกระทบให้เจ้าของลิขสิทธิ์ระดับโลกฟ้องร้องยุติการส่งสัญญาณการแข่งขันมายังประเทศไทย ทำให้แฟนบอลชาวไทยไม่สามารถติดตามรับชมการแข่งขันได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงคอนเทนต์คุณภาพอื่นๆ จากต่างประเทศ แต่ถ้าคนไทยเข้าใจและเคารพต่อกฎหมายลิขสิทธิ์กันมากขึ้น นอกจากช่วยจะป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์คอนเทนต์ของต่างประเทศแล้ว ยังสามารถช่วยปกป้องลิขสิทธิ์คอนเทนต์ของไทย และยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ของไทยให้เติบโตเทียลเท่ามาตรฐานสากลได้ด้วย”
นายหลุยส์ บอสเวล ประธานกรรมการของสมาคมอุตสาหกรรมวีดีโอเอเชีย (AVIA) กล่าวว่า ปัจจุบันหลายประเทศพยายามหามาตรการมารับมือกับการขโมยคอนเทนต์ ซึ่งมาตรการมีอยู่หลายวิธีและต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาพเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นี่เป็นโอกาสทองของไทยที่จะได้ปรับใช้มาตรการที่ประสบผลสำเร็จในต่างประเทศให้เหมาะสมกับไทย เช่น การปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ การใช้เทคโนโลยีในการป้องกัน
การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา และการทำงานร่วมกันกับตัวกลางเพื่อป้องกันการรับเงินจากรายได้ที่ผิดกฎหมาย
นายนีล เกน ผู้จัดการทั่วไทยของพันธมิตรต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ (CAP) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ AVIA กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขโมยคอนเทนต์ได้สร้างความเสียหายในทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีอีกด้านที่ผู้บริโภคและหน่วยงานกำกับดูแลของภาครัฐอาจมองข้าม คือ การละเมิดลิขสิทธิ์ทางดิจิทัลนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อผู้บริโภค ความอยากได้ของฟรีหรือจ่ายค่าสมาชิกราคาถูกเพื่อดูคอนเทนต์ละเมิดลิขสิทธิ์มักทำให้ผู้บริโภคไม่ตระหนักถึงความเสี่ยงที่แท้จริงจากการติดมัลแวร์
Click Donate Support Web