- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 05 August 2019 14:42
- Hits: 2967
จุรินทร์ ปลดล็อคอาร์เซ็ป ! ได้รับเสียงชื่นชมจากรัฐมนตรีการค้าและพาณิชย์ 16 ประเทศ
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากจบภารกิจเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป สมัยพิเศษ ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 1-3 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ซึ่งการประชุมประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง โดยสามารถหาข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมได้ในทุกประเด็นสำคัญ โดยรัฐมนตรีอาร์เซ็ปจากทุกประเทศต่างกล่าวชื่นชมนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานการประชุมที่สามารถควบคุมการประชุมได้กระชับและมีประสิทธิภาพ สามารถปลดล็อคอุปสรรคบางประเด็นที่ตัดสินใจกันไม่ได้มาในช่วงหลายปีไปได้
"ขอบคุณท่านรองนายกรัฐมนตรีจุรินทร์ในการควบคุมการประชุมได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ" Ms.Myung Hee Yoo รัฐมนตรีพาณิชย์ ประเทศเกาหลี กล่าว
"ต้องขอบคุณท่านจุรินทร์ รองนายกรัฐมนตรีจากไทยที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าของการเจรจาอาร์เซ็ปครั้งนี้" Mr.Chan Chun Sing รัฐมนตรีพาณิชย์ ประเทศสิงคโปร์ กล่าว
รายงานแจ้งว่ารัฐมนตรีพาณิชย์สิงคโปร์ผู้นี้เคยเป็นผู้บัญชาการทหารและเคยมาใช้เวลาอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรีของไทยซึ่งเขากล่าวเรื่องนี้ต่อนายจุรินทร์ด้วยความยินดี และรัฐมนตรีสิงคโปร์เป็นผู้ที่มีทักษะในการประชุมดีมากคนหนึ่ง นอกจากนั้นรัฐมนตรีพาณิชย์ของหลายๆประเทศต่างมาแสดงความยินดีและชื่นชมต่อนายจุรินทร์ พร้อมเปิดเผยถึงความพึงพอใจในการประชุมครั้งนี้และต่างยืนยันจะให้ความร่วมมือในการผลักดันเป้าหมายของการประชุมที่จะพยายามเจรจาตกลงกันให้สำเร็จก่อนสิ้นปีนี้
รายงานข่าวระบุว่า นายจุรินทร์ใช้ทักษะทางการเมืองที่เต็มไปด้วยประสบการณ์เดินหน้าหารือกับผู้นำเกือบทุกประเทศรวมทั้งประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และนอกจากเวทีทวิภาคีใน 2 วันก่อนการประชุมแล้วนายจุรินทร์ยังใช้เวลาช่วง Welcome Dinner ของทางการจีนนั้นเดินหารือรัฐมนตรีแต่ละประเทศเป็นรายคนเพื่อย้ำเป้าหมายการประชุม
ส่วนทางด้านรายงานสรุปอย่างเป็นทางการนั้น รัฐมนตรี 16 ประเทศของอาร์เซ็ป คือ 10 ประเทศอาเซียนบวกกับจีน เกาหลีใต้ อินเดีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย สรุปร่วมกันว่าการเจรจาในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่การประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปสมัยพิเศษ ครั้งที่ 7 เมื่อเดือนมีนาคม 2562 ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา มีความคืบหน้าขึ้นมาก โดยในด้านการเจรจาเปิดตลาดสมาชิกตกลงกันได้แล้วกว่า 2 ใน 3 ของการเจรจาเปิดตลาดทั้งหมด สามารถสรุปในเรื่องโทรคมนาคม การเงิน วิชาชีพ ซึ่งเป็นภาคผนวกของการค้าบริการได้แล้ว ทำให้ปัจจุบันอาร์เซ็ปสามารถสรุปได้แล้ว 7 เรื่องและ 3 ภาคผนวก จากทั้งหมด 20 เรื่อง และ 3 ภาคผนวก
สำหรับ เรื่องที่ยังคงค้างนั้นใกล้จะสามารถหาข้อสรุปได้ในเร็ววันนี้ โดยรัฐมนตรีอาร์เซ็ปต่างแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันหาทางออกและเร่งสรุป 13 เรื่องที่ค้างอยู่ให้ได้ เพื่อประกาศสรุปผลการเจรจาความตกลงอาร์เซ็ปภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่กรุงเทพฯ และการประชุมอาร์เซ็ปที่เหลือในปีนี้ ประกอบด้วยการประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ปนัดพิเศษ ในปลายเดือนสิงหาคม ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย การประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปครั้งที่ 7 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในต้นเดือนกันยายน 2562 ณ กรุงเทพฯ การประชุมคณะกรรมการเจรจาฯ ครั้งที่ 28 ในปลายเดือนกันยายน 2562 ณ เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม และ การประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปก่อนการประชุมผู้นำอาร์เซ็ปในต้นเดือนพฤศจิกายน 2562
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ประเทศไทย ระบุว่า สินค้าไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมเมื่อเปรียบเทียบกับ FTA ที่ไทยมีอยู่ เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางล้อ เส้นใย สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสัมปะหลัง และกระดาษรวมถึงส่งเสริมให้การออกกฎระเบียบ และมาตรการด้านการลงทุนมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นและไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนจนเกินจำเป็น และช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในประเทศภาคีอาร์เซ็ปในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก ธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และบันเทิง พวกเทคนิคตัดต่อภาพและเสียง การผลิตแอนนิเมชั่น และเปิดรับการลงทุนคุณภาพที่ไทยยังมีความต้องการ เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นในประเทศ และต่อยอดเป้าหมายการส่งเสริมอุตสาหกรรม S curve เช่น การวิจัยและพัฒนา สิ่งแวดล้อม โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ การศึกษา การซ่อมบำรุงรักษาชิ้นส่วนอากาศยาน เป็นต้น
นอกจากนี้ นายบุญยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเสริมว่า ท่ามกลางวิกฤติทางการค้าโลกในปัจจุบัน การสรุปผลการเจรจาอาร์เซ็ปให้ได้โดยเร็วจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการค้าและการลงทุน สร้างความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวทางการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค รวมถึงกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้ง 16 ประเทศอย่างยั่งยืน และครั้งนี้ถือว่าเราได้รับข่าวดีถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ท่านรองนายกฯทำให้เกิดความคืบหน้าที่สำคัญมาก
Click Donate Support Web