- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Monday, 29 September 2014 22:39
- Hits: 2414
พาณิชย์ เล็งหั่นเป้าส่งออกปีนี้ลง จากเดิมคาดโต 3.5% เบื้องต้นคาดโตแค่ 0.5-1% เหตุ ศก. ฟื้นตัวช้า ขณะที่ส่งออก ส.ค.57 ติดลบ 7.40.%
พาณิชย์ เล็ง หั่นเป้าส่งออกปีนี้ลง จากเดิมที่คาดโต 3.5% เบื้องต้นคาดโตได้เพียง 0.5-1% เหตุ ศก. ฟื้นตัวช้า ขณะที่ส่งออก ส.ค.57 ติดลบ 7.40.%นำเข้าติดลบ 14.17% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เกินดุลการค้า 1.14 พันล้านดอลล์
นางนันทวัลย์ ศกุลตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่เติบโต 3.5% คาดว่าจะไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยจะมีการปรับลดเป้าหมายอีกครั้ง ภายหลังการประชุมและหารือกับนักวิชาการ ภาคเอกชน ทูตพาณิชย์ ครั้งแรกในวันที่ 18 ต.ค.นี้ รวมทั้งจะมีการหารือกับทูตพาณิชย์ทั่วโลกในวันที่ 20 ต.ค.นี้ด้วย เนื่องจาก เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า ทำให้ตลาดส่งออกหลักๆ ยังไม่ค่อยดีขึ้น
"เราหวังว่าส่งออกจะได้ 0.5-1% แต่จะเป็นตัวเลขเท่าไหร่ ตอนนี้ยังคงตอบอะไรไม่ได้ ขอให้ผ่านการประชุมกับนักวิชาการทูตพาณิชย์ถึงภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน การค้าโลกจะไปในทิศทางไหนก่อน รวมถึงจะมีมาตรการใหม่อะไรออกมาสนับสนุนบ้าง เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ และปรับเป้าการส่งออกต่อไป เนื่อง"นางนันทวัลย์ กล่าว
สำหรับ มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 57 มีมูลค่า 18,943.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -7.40 (YoY) และระยะ 8 เดือน (ม.ค. - ส.ค. 57) มีมูลค่า 150,543.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -1.36 (AoA)
โดยสินค้าส่งออกหลัก (ไม่รวมสินแร่เชื้อเพลิง และทองคำ) มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 17,588.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -1.48 (YoY) คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 92.9 ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่การส่งออกสินแร่ เชื้อเพลิง และทองคำซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 7.1 ของมูลค่าการส่งออกรวม หดตัวถึงร้อยละ -47.98
ด้าน การนำเข้าเดือน ส.ค. 57 ของไทยมีมูลค่า 17,797.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -14.17 (YoY)และระยะ 8 เดือน (ม.ค. - ส.ค. 57) มีมูลค่า 150,263.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -12.69 (AoA)
การนำเข้าสินค้ายังคงลดลง จากความต้องการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกในช่วงเวลาที่ผ่านมาชะลอตัว รวมทั้งการความต้องการซื้อรถยนต์ในประเทศลดลงจากปีก่อน ภายหลังสิ้นสุดโครงการรถคันแรก ส่งผลให้การนำเข้าลดลงทุกหมวดสินค้า โดยสินค้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป สินค้าอุปโภค/บริโภค และสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ มีการนำเข้าลดลงร้อยละ -10.2, -7.1 และ-24.2 (YoY) ตามลำดับ ,
ขณะที่หมวดสินค้าเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ -11.7 โดยการนำเข้าน้ำมันดิบมีสัดส่วนร้อยละ 17.9 ของมูลค่าการนำเข้ารวม มูลค่าลดลงร้อยละ -10.1 ขณะที่เชิงปริมาณลดลงร้อยละ -8.9 ทั้งนี้ มีการนำเข้าสินค้าน้ำมันสำเร็จรูปสูงขึ้นถึงร้อยละ 38.1 ในส่วนสินค้ากลุ่มทุนมีการนำเข้าลดลงร้อยละ -21.1 เนื่องจากเครื่องจักรมีการนำเข้ามาในช่วงก่อนหน้าภายหลังช่วงฟื้นฟูจากปัญหาอุทกภัย รวมถึงผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อมได้ให้ความสำคัญกับการสั่งซื้อเครื่องจักรภายในประเทศเพื่อประหยัดต้นทุนการจัดซื้อและการบำรุงรักษา
ส่งผล ดุลการค้าระหว่างประเทศ เดือน ส.ค. 57 เกินดุลการค้ารวม 1,146.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และระยะ 8 เดือน (ม.ค. - ส.ค. 57) เกินดุลการค้ารวม 280 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
สค.รับลูกนโยบายขับเคลื่อนการค้า
บ้านเมือง : นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้รับมอบนโยบายจาก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงแนวทางการขับเคลื่อนการค้าการส่งออกของไทยในปีงบประมาณ 2558 ตามแนวยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงพาณิชย์ ปี 2557-58 ภายใต้ภารกิจสำคัญเร่งด่วนทั้งภายในและภายนอกประเทศให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี โดยพร้อมให้การสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ในแนวทางในการกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงการสร้างความเข้าใจในการเข้ามาบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนเข้าสู่โรดแม็พในขั้นที่ 3 ที่จะมีการเลือกตั้งต่อไป
"ภารกิจสำคัญเร่งด่วน คือ การขับเคลื่อนการส่งออกและพัฒนาการค้าสู่อาเซียน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจ ส่วนภารกิจรองเพื่อการวางรากฐาน คือ การส่งเสริมความเป็นอยู่ของเกษตรกรและยกระดับสินค้าเกษตรกรรม รวมถึงการบูรณาการเพื่อพัฒนาวางรากฐานระบบโลจิสติกส์ พร้อมให้การสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ในแนวทางในการกำหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน"นางนันทวัลย์ กล่าว
สำหรับ การขับเคลื่อนการส่งออกนั้น จะเน้นการลดอุปสรรคการส่งออกเพื่อให้มีความคล่องตัว และสะดวกรวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายการส่งออก ยุทธศาสตร์การส่งออกของประเทศจะต้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ธุรกิจบริการ การท่องเที่ยวและการลงทุน ส่งเสริมการออกแบบให้ทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของตลาดเป้าหมาย การแสวงหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป การขยายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน การกระชับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
"การตั้งเป้าหมายการส่งออกให้สูงเพื่อสร้างความท้าทายในการทำงาน การเจรจาการค้าระหว่างประเทศต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนและหารือในระดับผู้บริหารก่อนทุกครั้ง และไทยต้องกลับมามีบทบาทนำในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศทั้งระดับทวิภาคี ภูมิภาคและพหุภาคี เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป การขยายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน"นางนันทวัลย์ กล่าว
นางนันทวัลย์ กล่าวว่า การพัฒนาการค้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) ใช้โอกาสในเออีซีให้ครอบคลุมทั้งการค้าการลงทุน ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจทุกด้าน เพิ่มประสิทธิภาพผู้ประกอบการ ลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบ ให้ความสำคัญด้านยุทธศาสตร์การใช้อาเซียนเป็นฐานสู่เวทีภูมิภาคและเวทีโลก นอกจากนี้ต้องเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจ มีตราสินค้าของตนเอง สนับสนุนการจดทะเบียนตราสินค้า ผลักดันตราสินค้าไทยให้พัฒนาด้านการออกแบบ ลดจุดอ่อนของผู้ประกอบการ
สำหรับ ยุทธศาสตร์การวางรากฐานเศรษฐกิจการค้าของประเทศสู่อนาคตนั้น ต้องบูรณาการเพื่อพัฒนาการวางรากฐานระบบโลจิสติกส์ ซึ่งถือเป็นต้นทุนสินค้าสำคัญ โดยขอเข้าไปมีส่วนร่วมกับหน่วยงานเจ้าภาพด้านโลจิสติกส์อื่น ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต การบรรจุภัณฑ์และคลังสินค้า เชื่อมโยงไปถึงการขนส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดถึงผู้บริโภค รวมถึงการขยายเขตเศรษฐกิจชายแดน นอกจากนี้การพัฒนาสินค้าภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยบูรณาการกับหน่วยงานอื่น เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์แห่งชาติในการพัฒนากลุ่มสินค้าเป้าหมาย เน้นการยกระดับการพัฒนาสินค้าและบริการของไทยให้มีมูลค่าเพิ่มสูงตามห่วงโซ่มูลค่า เป็นต้น
ด้านการวางเป้าหมายตลาดส่งออกจะเชิญทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) 66 แห่งทั่วโลกมาประชุม เพื่อรับทราบนโยบายการค้า เสนอแผนงานและเป้าหมายผลักดันการส่งออกของแต่ละภูมิภาคสำคัญ อาทิ อเมริกา ยุโรป แอฟริกา พร้อมสัมมนาร่วมกับภาคเอกชนระหว่างวันที่ 18-21 ตุลาคมนี้
"การวางกลยุทธ์และเป้าหมายแต่ละตลาดส่งออกจะให้ทูตพาณิชย์ทำแผนในเบื้องต้น จะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทางการค้าการลงทุนและภาคเอกชน 3 สถาบัน คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย พร้อมด้วยสภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และตัวแทนกลุ่มสินค้าจากสมาคมต่างๆ เพื่อร่วมกันระดมสมองถึงสถานการณ์ แนวโน้ม ปัจจัยที่มีผลต่อการค้าการส่งออก โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศเกิดขึ้นหลายประเด็นและไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงมาตรการเร่งรัดผลักดันการส่งออกรายภูมิภาคในช่วงไตรมาสสุดท้าย (ตุลาคม-ธันวาคม 2557)" นางนันทวัลย์ กล่าว
พาณิชย์เรียกถกทูตพาณิชย์ 20 ต.ค.ทบทวนเป้าส่งออกปีนี้รับโตต่ำว่า 3.5%
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวยอมรับว่าการส่งออกในปีนี้คงจะเติบโตไม่ถึงตามเป้าหมายที่ 3.5% โดยคาดว่าจะเติบโต 0.5-1% จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ประเมินไว้ที่ 0% เนื่องจากช่วงที่เหลือของปีนี้การส่งออกไม่ได้ดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นตลาดหลักของไทย
อย่างไรก็ดี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้มีการประชุมทูตพาณิชย์ในวันที่ 20 ต.ค. หลังจากวันที่ 18 ต.ค.จะมีการประชุมระดมความเห็นร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน ตลอดจนนักวิชาการเพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจและภาวะการค้าโลกในปัจจุบันว่าจะมีทิศทางในอนาคตอย่างไร รวมถึงมาตรการใหม่ๆ ที่ประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมรองรับ
"ยอมรับว่า การส่งออกอาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เดิม 3.5% โดยหวังว่าจะโต 0.5-1% จากที่แบงก์ชาติประเมิน 0% แต่ยังไม่ใช่ข้อสรุป ต้องรอวันที่ 20 ต.ค.ก่อน"นางนันทวัลย์ กล่าว
ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนส.ค.ที่ลดลงมากถึง 7.4% เนื่องจากมีการส่งออกทองคำลดลงหลังราคาทองในตลาดโลกปรับลดลงมาก ซึ่งหากไม่รวมการส่งออกทองคำและน้ำมัน จะทำให้ยอดการส่งออกลดลงเพียง -1.5% เท่านั้น
อินโฟเควสท์
นันทวัลย์ วางยุทธศาสตร์ทำงานปี 58 เร่งผลักดันสินค้า-บริการไทยสู่ตลาดโลก
ไทยโพสต์ : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) ได้มีการจัดทำแผนงานและยุทธศาสตร์การทำงานที่สำคัญที่จะนำมาใช้ในการดำเนินงานเป็นประจำทุกปี และในปีงบประมาณ 2558 ก็ได้มีการจัดทำแผนงานสำคัญที่จะนำมาใช้ โดยได้มีการปรับแผนให้สอดคล้องกับนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้ภาคการส่งออกเป็นเครื่องจักรสำคัญอีกตัวหนึ่งในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ในการจัดทำยุทธศาสตร์การทำงานสำหรับปี 2558 มีโจทย์สำคัญ คือ การผลักดันให้การส่งออกขยายตัวในอัตรา 4% ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าไว้ในเบื้องต้น รวมทั้งจะต้องจัดทำแผนการทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและแนวโน้มของตลาดโลก ซึ่งนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญในการจัดทำมาตรการต่างๆ ที่จะต้องเน้นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับสินค้าและบริการของไทย โดยยุทธศาสตร์สำคัญที่จะนำมาใช้ในการทำงาน ได้แก่
ด้านการผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะมุ่งขยายการค้า การลงทุนของไทย โดยใช้ FTA และ AEC เปิดตลาดให้กับผู้ประกอบการของไทย โดยมีแผนที่จะพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการในการขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดที่ไทยทำ FTA และอาเซียน ผ่านการพัฒนาฐานข้อมูลเชิงลึก และการให้บริการข้อมูล คำปรึกษาด้านการค้า การลงทุน ที่เจาะจงมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดอาเซียน จะมีศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในอาเซียนมากถึง 9 แห่ง ที่จะคอยให้บริการผู้ประกอบการไทย
นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มกิจกรรมในการขยายตลาด โดยเน้นการจัดงานแสดงสินค้าไทยขนาดใหญ่ ทั้งการจัดไทยแลนด์ วีค เพื่อจัดแสดงและโชว์ศักยภาพสินค้าไทย การจัดคณะผู้แทนการค้าออกไปทำตลาดแบบเจาะจงมากขึ้น และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ โดยเจาะจงสินค้าที่คาดว่าจะสร้างโอกาสในการส่งออกให้กับไทย
ด้านการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป จะเน้นการจัดเทศกาลส่งเสริมและสร้างภาพลักษณ์อาหารไทย ทั้งการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารที่สำคัญทั่วโลก การส่งเสริมสินค้าฮาลาล การจัดงานแสดงสินค้าอาหารระดับนานาชาติในไทย รวมทั้งการร่วมมือกับร้านอาหารไทยในต่างประเทศจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อกระตุ้นการบริโภคและโปรโมตภาพลักษณ์อาหารไทย และจะเร่งมอบตราสัญลักษณ์ไทยซีเล็กซ์ให้กับร้านอาหารไทยและอาหารไทยที่ได้มาตรฐานให้ได้เพิ่มมากขึ้น
ด้านการส่งเสริมการเป็น Trading Nation และ Internationalization จะเร่งพัฒนาผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถในการทำการค้าระหว่างประเทศให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น ผลักดันให้ธุรกิจไทยออกไปลงทุนและทำธุรกิจในต่างประเทศ โดยกรมฯ จะสนับสนุนด้านข้อมูล ช่องทาง และเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเต็มที่
ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างแบรนด์สินค้าและบริการ จะเร่ง พัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก การเพิ่มนวัตกรรมในสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่มีการพัฒนาสินค้าและทำตลาดต่างประเทศด้วยการใช้ตราสินค้าของตนเอง และผลักดันให้ไทยมีนักออกแบบให้เพิ่มมากขึ้น
เพื่อรองรับแนวโน้มความต้องการใหม่ๆ ของตลาดโลก จะเร่งพัฒนาสินค้ารองรับตลาดแนวโน้มใหม่ของโลก เช่น ตลาดผู้สูงอายุ ตลาดสถาบัน สินค้าสีเขียว การผลักดันการส่งออกเป็นคลัสเตอร์ เช่น เกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมหนักและทั่วไป แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ สินค้า OTOP ธุรกิจบริการและโลจิสติกส์ และการร่วมมือกับองค์กรสำคัญๆ ของโลกในการขยายตลาดส่งออกไทย
ด้านการสร้างภาพลักษณ์ประเทศจะผลักดันให้ลูกค้าที่ซื้อสินค้าและบริการไทยมีความเชื่อมั่นประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีความน่าเชื่อถือ
ด้านการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสื่อดิจิตอลและรูปแบบการค้าสมัยใหม่อื่นๆ จะผลักดัน ให้มีการนำรูปแบบการค้าสมัยใหม่มาใช้เป็นช่องทางในการผลักดันการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดโลกให้ได้เพิ่มมากขึ้น เช่น การค้าขายผ่านทีวีช้อปปิ้ง อี-คอมเมิร์ซ และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เป็นต้น
ด้านการพัฒนาบุคลากร จะมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการทำงาน การปรับปรุงข้อมูลการค้าเพื่อการบริการ และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งเสริมและผลักดันการส่งออก
พาณิชย์ เผยส.ค.ส่งออกหด 7.4% นำเข้าหด 14.17% เกินดุล 1.14 พันล้านดอลล์
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ภาวะการส่งออกในเดือน ส.ค.57 หดตัวลง 7.4% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนมาที่มูลค่า 18,943 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้าลดลง 14.17% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน มาที่มูลค่า 17,797 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,146 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่ช่วง 8 เดือนปีนี้(ม.ค.-ส.ค.57) มูลค่าการส่งออกลดลง 1.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาที่ 150,543 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนมูลค่าการนำเข้าลดลง 12.69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน มาที่ 150,263 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ดุลการค้ายังเกินดุล 280 ล้านเหรียญสหรัฐ
"การส่งออกในครึ่งปีหลังฟื้นช้ากว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกของไทยกลับมาหดตัวต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน ปัจจัยหลักมาจากการหดตัวในสินค้าทองคำและน้ำมันสำเร็จรูป ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะยางพาราที่ยังหดตัวต่อเนื่องในระดับสูงในช่วงครึ่งปีหลัง" นางนันทวัลย์ กล่าว
อินโฟเควสท์
ไม่หวั่น ธปท.ลดเป้าปีนี้เหลือ 0%พาณิชย์ ดิ้นฟื้นส่งออก
แนวหน้า : กรมการค้าต่างประเทศ ใช้สารพัดวิธีดันตัวเลขส่งออก ล่าสุดวางยุทธศาสตร์เจาะลูกค้าต่างประเทศโดยผ่าน “ทีวีช้อปปิ้ง-ห้างสรรพสินค้า” ส่วนวันที่ 18-21 ต.ค. เชิญ“ทูตพาณิชย์” มาร่วมประเมินแนวโน้มการค้าช่วงที่เหลือของปีนี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก กระทรวงพาณิชย์ ว่า ในวันที่ 29 ก.ย.2557 นี้ เวลา 11.00น.กระทรวงพาณิชย์ จะแถลงตัวเลขส่งออกเดือนส.ค.2557 ในเบื้องต้นเป้าหมายการส่งออกปี 2557 ยังคงเป้าไว้ที่ 3.5% ส่วนในปี 2558 คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 4% ซึ่งต้องจับตาว่าจะมีการทบทวนตัวเลขหรือไม่หลังจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดย คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ได้พิจารณาปรับลดอัตราการเติบโตการส่งออกในปี 2557 ลงมาอยู่ที่ 0% ต่อปี จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะโต 3% ต่อปี ส่วนปีหน้า คาดว่าการส่งออกโต 4% จากเดิมที่คาด 6% ต่อปี เนื่องจากการส่งออกสินค้าฟื้นตัวช้าจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวลงเล็กน้อยโดยเฉพาะกลุ่มประเทศยูโร และญี่ปุ่น และปัจจัยอื่นๆ
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายการส่งออกปี2557นั้น ในวันที่ 18-21 ต.ค. 2557 กรมฯ จะเชิญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(ทูตพาณิชย์) ให้มารับฟังนโยบายจาก รมว.พาณิชย์ และร่วมกันประเมินสถานการณ์การส่งออกที่เหลือของปีนี้ และประเมินแนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยในปี2558 ด้วย รวมทั้งร่วมกันจัดทำมาตรการส่งเสริม และผลักดันการส่งออกร่วมกับภาคเอกชน โดยการวางกลยุทธ์และเป้าหมายแต่ตลาดส่งออกจะให้ทูตพาณิชย์ทำแผน
ในเบื้องต้นจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทางการค้าการลงทุนและภาคเอกชน 3 สถาบัน คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย พร้อมด้วยสภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และตัวแทนกลุ่มสินค้าจากสมาคมต่างๆเพื่อร่วมกันระดมสมองถึงสถานการณ์ แนวโน้มปัจจัยที่มีผลต่อการค้าการส่งออก โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศเกิดขึ้นหลายประเด็นและไม่สามารถควบคุมได้ รวมถึงมาตรการเร่งรัดผลักดันการส่งออกรายภูมิภาคในช่วงไตรมาสสุดท้าย(ต.ค.- ธ.ค.2557)
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้จัดทำยุทธศาสตร์ 8 ข้อในการผลักดันการส่งออกสินค้าไทย ตามนโยบายของพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เพื่อนำมาเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกให้กับสินค้าและบริการของไทย และผลักดันให้การส่งออกมีอัตราการขยายตัวในอัตราที่ดี โดยกรมฯ จะให้ความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากสื่อดิจิตอลและรูปแบบการค้าสมัยใหม่อื่นๆ มาสนับสนุนการส่งออก เช่น การค้าขายผ่านทีวีช้อปปิ้ง และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ของต่างประเทศ เนื่องจากวิธีนี้สามารถเจาะตลาดผู้บริโภคได้โดยตรง
รวมถึงจะมีการใช้ยุทธศาสตร์อื่น เช่น การใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ) และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) โดยจะผลักดันให้ผู้ส่งออกเข้าไปทำตลาดในประเทศที่ทำเอฟทีเอ และอาเซียนให้มากขึ้น ซึ่งมี ข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนที่เจาะลึก และยังมีศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในอาเซียนถึง 9 แห่ง ที่จะคอยให้บริการ รวมถึงยังจะมีการเพิ่มกิจกรรมเพื่อกระตุ้นการสั่งซื้อสินค้าไทย ทั้งการจัดไทยแลนด์ วีค การจัดคณะผู้แทนการค้าไปทำตลาดแบบเจาะจง และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า
“การสร้างภาพลักษณ์ประเทศก็ยังถือเป็นว่ายุทธศาสตร์ที่สำคัญในการส่งออกเช่นกัน เพราะสามารถผลักดันให้ลูกค้าที่ซื้อสินค้าและบริการไทยมีความเชื่อมั่น ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีความน่าเชื่อถือ ประกอบกอบการรุกตลาดส่งออกในหลายช่องทางก็จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนการส่งออก ได้เป็นอย่างดี"นางนันทวัลย์ กล่าว