- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 01 August 2019 17:56
- Hits: 3217
พาณิชย์ เตรียมฟื้นการเจรจา FTA ไทย – อียู หลังการเมืองนิ่ง
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รับข้อสั่งการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (อียู) หลังหยุดชะงักมานาน ย้ำที่ผ่านมาได้ศึกษานโยบายและมาตรการทางการค้าของอียูเป็นระยะ เตรียมเร่งหารือภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ประเมินผลกระทบและประโยชน์กับไทยอย่างรอบคอบ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เตรียมความพร้อมรับข้อสั่งการของ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ที่ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา เรื่องนโยบายขยายความร่วมมือทางการค้ากับกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่หยุดชะงักมานาน เนื่องจากสถานการณ์การเมือง โดยที่ผ่านมา กรมฯ ได้ศึกษาติดตามพัฒนาการด้านนโยบายและมาตรการทางการค้าของอียูมาเป็นระยะ นับตั้งแต่การเจรจาหยุดชะงักไปในปี 2557 รวมทั้งศึกษาความตกลงเอฟทีเอที่อียูทำกับประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม และสิงคโปร์ เป็นต้น เพื่อประเมินผลกระทบต่อไทย รวมถึงความคาดหวังของอียูในการทำเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ
หลังจากนี้ กรมฯ มีแผนจะหารือกับภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อเตรียมการฝ่ายไทยอย่างรอบคอบและรอบด้าน และจะประสานกับฝ่ายอียูเพื่อหารือกระบวนการ และช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายพร้อมกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจา เนื่องจากขณะนี้อียูยังอยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูง หลังจากที่มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาใหม่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
นางอรมน เสริมว่า อียูเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญในประชาคมโลก มีประเทศในยุโรปเป็นสมาชิกถึง 28 ประเทศ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ประชากรรวมประมาณ 500 ล้านคน อีกทั้งยังเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 ของไทย รองจากอาเซียน จีน และญี่ปุ่น และเป็นนักลงทุนลำดับ 2 ของไทย มีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ที่เกื้อหนุนเชิงยุทธศาสตร์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย การจัดทำเอฟทีเอกับอียูจะเป็นการขยายตลาดและสร้างโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทย รวมทั้งดึงดูดการลงทุนสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้ไทยเป็นฐานหรือศูนย์กลางการผลิตและกระจายสินค้า
ทั้งนี้ ในปี 2561 การค้าไทย-อียู มีมูลค่า 47,322 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.4 ของการค้าไทยกับโลก ขยายตัวร้อยละ 6.5 จากปี 2560 โดยไทยส่งออกไปอียู 25,041 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 และนำเข้าจากอียู 22,281 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอียู เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอียู เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น สำหรับการลงทุนไทยในอียูมีแนวโน้มสูงขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2561 คิดเป็น 11,339 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าการลงทุนจากอียูเข้ามาในไทย ซึ่งอยู่ที่ 7,065 ล้านเหรียญสหรัฐ
Click Donate Support Web