- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 01 August 2019 17:18
- Hits: 2714
สสปน. จับมือ MOC Biz Club ประเทศไทย สร้างระเบียงเศรษฐกิจ 4.0 เชื่อมโยงธุรกิจชุมชนทั่วประเทศ ประเดิมหนุน 17 จังหวัดภาคเหนือ สู่แพลตฟอร์ม E-Commerce ระดับโลก
สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หรือ TCEB ร่วมกับ MOC Biz Club ประเทศไทย ศูนย์ยุทธศาสตร์ไทย-จีน และสมาคมมิตรภาพไทย-เซินเจิ้น จัดโครงการประชุมสัมมนานานาชาติเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์” (GMS - THAILAND E-COMMERCE ECONOMIC CORRIDOR : GTEC 2019) ขึ้นเพื่อสร้างเวทีเจรจาจับคู่ทางธุรกิจ ระหว่าง Platform E-Commerce รายใหญ่ของจีน นำโดย บริษัท Beidian ที่ขนผู้ประกอบการใน www.beidian88.com มากว่า 30 ร้านค้า และห้าง Carrot Mall ที่ทำตลาดทั้งรูปแบบ Offline และ Online ในประเทศจีน มาเจรจาจับคู่ทางการค้าร่วมกับผู้ประกอบการชุมชนกว่า 100 ราย ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ
นายสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการตลาดในประเทศ สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หรือ TCEB กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการสนับสนุนภายใต้แผนระยะยาวของ TCEB ในการส่งเสริมและผลักดันให้ภาคเอกชนรวมตัวกัน เพื่อเสริมประสิทธิภาพการเชื่อมโยงด้านการค้า การลงทุน โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ GMS ซึ่งโครงการดังกล่าว ถือเป็นการยกระดับการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ ที่มีการนำเอาเทคโนโลยี 4.0 เข้ามาเสริมประสิทธิภาพการเชื่อมโยง โดยการจัดงานดังกล่าว TCEB ได้เข้ามาเป็นเจ้าภาพร่วมกับภาคเอกชน โดยการเป็นผู้สนับสนุนหลักด้านงบประมาณการจัดงาน รวมถึงสนับสนุนการนำแพลตฟอร์ม MICE เข้ามาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการการจัดงาน เพื่อให้องค์ประกอบของการจัดงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการตลาดในประเทศ สสปน. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีหน้า TCEB ยังมีแผนที่จะสนับสนุนให้เกิดการกระจายการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (GTEC) ไปยังทุกภูมิภาคของประเทศ โดยจะดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมให้ภาคเอกชนกระจายการเชื่อมโยงไปยังภาคอีสานและภาคใต้ในปีถัดไป ซึ่งเมื่อการเชื่อมโยงดังกล่าว เข้าถึงผู้ประกอบการชุมชนจากทั่วทุกภูมิภาคแล้ว จะช่วยสร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนต่างๆ จากทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำมาซึ่งการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) ถือเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศอย่างแท้จริง
นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธาน Biz Club ประเทศไทย กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการนำ Platform E-commerce ยักษ์ใหญ่จากจีน มาเจรจาจับคู่ทางการค้ากับผู้ประกอบการจากชุมชนโดยตรง ซึ่งต้องขอขอบคุณสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หรือ TCEB เป็นอย่างยิ่งที่ช่วยสนับสนุนงบประมาณและผลักดันให้การจัดงานในครั้งนี้ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์แบบและคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนอกจากกิจกรรมเจรจาจับคู่ทางธุรกิจสำหรับสินค้าและบริการของผู้ประกอบการชุมชนที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อตอบโจทย์มาตรฐานและกำลังซื้อจากจีนแล้ว ภายในงานยังมีกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ กิจกรรม MOU ระหว่างคู่ค้า กิจกรรม MOU เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการ GTEC การประชุมคณะกรรมการ GTEC ครั้งที่ 1 เพื่อร่วมกันกำหนดมาตรฐาน ขอบเขตและข้อจำกัดต่างๆ เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงระบบ Ecommerce กับผู้ประกอบการชุมชนบนระเบียงเศรษฐกิจอิเล็กทรอนิกส์ GTEC ให้เป็นไปอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการสินค้าชุมชนที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมสู่การจับคู่ทางธุรกิจในอนาคตในรูปแบบ Clinic โดย Smart Business Network การเสวนาหัวข้อ “มุมมองและโอกาสบนเส้นทางระเบียง GTEC” การเสวนาการพัฒนาสินค้าไทยให้ตอบโจทย์ตลาด E-Commerce ในประเทศจีน โดยผู้ประกอบการจากประเทศจีน เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่างานดังกล่าวจะมีกลุ่มเป้าหมายที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมไม่น้อยกว่า 300 ราย
งานประชุมสัมมนา GTEC 2019 เกิดจากการรวมตัวกันของภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันสร้างเวทีเชื่อมโยงโครงข่ายผู้ประกอบการชุมชนจากทั่วประเทศไทย รวมถึงภูมิภาค CLMV ในอนาคต เข้ากับระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในลักษณะโครงข่ายระเบียงเศรษฐกิจดิจิทัลรูปแบบใหม่ โดยได้ยกรูปแบบตัวอย่างของ Tao Bao Model มาเป็นต้นแบบในการดำเนินโครงการ โดยเป็นการนำระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาเชื่อมโยงกับชุมชนต่างๆ ทางภาคตะวันตกของจีน ที่การส่งเสริมพัฒนาทางเศรษฐกิจยังเข้าไม่ถึง ซึ่งโมเดลดังกล่าว เป็นโมเดลที่ธนาคารโลกยอมรับว่า สามารถช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน และสร้างรายได้ให้แก่เศรษฐกิจชุมชนได้อย่างแท้จริง โดยรูปแบบการดำเนินโครงการนั้น ในระยะยาวจะเป็นเวทีรวบรวมภาคเอกชนและภาครัฐทั้งหมดในห่วงโซ่การพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชนของประเทศ เพื่อบูรณาการร่วมกันในการบริหารจัดการการพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการชุมชนในทุกมิติ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของกำลังซื้ออันมหาศาลจากจีน ผ่านการจัดระเบียบและเชื่อมโยงเครือข่ายในรูปแบบระเบียงเศรษฐกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและของ GMS ที่มีการนำระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มาดำเนินการเชื่อมโยงบริหารจัดการร่วมกันในลักษณะนี้
AO08013
Click Donate Support Web