- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 26 July 2019 18:25
- Hits: 8385
คต. เผยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า 5 เดือนแรก ขยายตัวร้อยละ 2.76% จับตาสงครามการค้า อาจส่งผลต่อเป้าหมายการใช้สิทธิ ปี 62
กรมการค้าต่างประเทศเผยมูลค่าการใช้สิทธิ FTA และ GSP 5 เดือนปี 62 มีมูลค่า 30,668.86 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.76% มีอัตราการใช้สิทธิ 79.23% โดยการใช้สิทธิ FTA มีมูลค่า 28,503.61 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.75% อาเซียนนำโด่งใช้สิทธิสูงสุด ส่วนการใช้สิทธิ GSP มีมูลค่า 2,165.25 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 18.25% สหรัฐฯ ยังครองอันดับหนึ่งอย่างต่อเนื่อง จับตาสงครามการค้าฉุดเป้าหมายการใช้สิทธิปี 62 พร้อมแนะผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จาก FTA อาเซียน-จีน ส่งสินค้าไปขาย
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม-พฤษภาคม) มีมูลค่าการใช้สิทธิรวม 30,668.86 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.76% มีอัตราการใช้สิทธิ 79.23% ของการได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งหมด แยกเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA จำนวน 12 ฉบับ (ไม่รวมความตกลงอาเซียน-ฮ่องกง) คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 28,503.61 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 80.40% ของมูลค่าการส่งออกรวมภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไปยังประเทศคู่ภาคีความตกลง เพิ่มขึ้น 1.75% และการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP จำนวน 4 ระบบ ประกอบด้วย สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ (ญี่ปุ่นตัดสิทธิการให้ GSP ไทยตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2562) มีมูลค่า 2,165.25 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการใช้สิทธิ 66.43% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ขยายตัว 18.25%
ทั้งนี้ ในด้านการใช้สิทธิ FTA ส่งออก พบว่า ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) อาเซียน มูลค่า 10,284.62 ล้านเหรียญสหรัฐ (2) จีน มูลค่า 7,947.08 ล้านเหรียญสหรัฐ (3) ออสเตรเลีย มูลค่า 3,473.94 ล้านเหรียญสหรัฐ (4) ญี่ปุ่น มูลค่า 3,238.11 ล้านเหรียญสหรัฐ และ (5) อินเดีย มูลค่า 1,956.82 ล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ พบว่าตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ เปรู ซึ่งมีอัตราการขยายตัว 43.53% รองลงมาคือ จีน ซึ่งมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 12.73% และนิวซีแลนด์ มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 9.44% สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ไทย-ชิลี 101.26% (2) ไทย-เปรู 98.79% (3) อาเซียน-จีน 98.73% (4) ไทย-ญี่ปุ่น 92.88% และ (5) อาเซียน-เกาหลี 84.52% และรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียนสด น้ำตาลจากอ้อย และผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุดสดหรือแห้ง
ส่วนของการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP พบว่า สหรัฐฯ ยังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือประมาณ 92% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด มีมูลค่า 1,987.73 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราการใช้สิทธิ 74.85% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 2,655.78 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.86% โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง เครื่องดื่มอื่นๆ เลนส์แว่นตา และแว่นตาอื่นๆ
นายอดุลย์ กล่าวว่า การใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 5 เดือน ที่มีมูลค่ารวม 30,668.86 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 37.85% ของเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่ตั้งไว้ที่ 81,025 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% โดยจากนี้ไป ต้องจับตาปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก เช่น ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว รวมถึงค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่ามากขึ้น เป็นต้น เพราะปัจจัยเหล่านี้อาจจะส่งผลต่อเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในปี 2562 ได้
อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้ติดตามและศึกษาสถานการณ์สงครามการค้าดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนที่อาจจะเป็นโอกาสและความเสี่ยงกับการค้าของไทย โดยผลจากการศึกษาเบื้องต้น พบว่า มีโอกาสจาก FTA กรอบอาเซียน-จีน (ASEAN – China Free Trade Area: ACFTA) จึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้โอกาสในการขยายตลาดและขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีศุลกากรขาเข้าให้กับสินค้าไทยในการส่งออกสินค้าไปทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีน
“แม้ภาพรวมการค้าทวิภาคีระหว่างไทย-จีนในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) ของปี 2562 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ 3.38% โดยการส่งออกสินค้าจากไทยไปจีนในช่วงเวลาดังกล่าวมีมูลค่า 11,599.10 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.73% แต่สถิติการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่กรมฯ ส่งเสริมกลับมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้ส่งออกไทยมีสัดส่วนการขอใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ ACFTA สูงถึง 98.73% ของมูลค่าการส่งออกรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ถึง 83.87% โดยคิดเป็นมูลค่าส่งออก7,947.08 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.73% จากช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีการขอใช้สิทธิฯ 7,049.88 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าที่มาขอใช้สิทธิฯ จาก FTA กรอบอาเซียน-จีน โดยหากพิจารณาจากสถิติการขอ Form E กับกรมฯ เพื่อนำไปใช้สิทธิประโยชน์ลด/ยกเลิกภาษีนำเข้าที่จีนที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 คือ กลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มผลไม้ได้แก่ ทุเรียนสด มังคุดและมะม่วง ลำไย และมะพร้าว (ทั้งกะลา) นอกจากนี้ยังมีสินค้าเกษตรอื่น อาทิ เนื้อและเครื่องในไก่แช่แข็ง และกุ้งแช่แข็ง ตามลำดับ”นายอดุลย์กล่าว
นายอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ ยังเน้นการสร้างเสริมความรู้ให้แก่ผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบ ว่า กรมฯ มีการควบคุมการนำเข้าและป้องกันปัญหาสินค้าทะลัก (พ.ร.บ.2522) และเตรียมการใช้มาตรการเยียวยาทางการค้าได้ หากมีการทะลักของสินค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำร้องขอให้กรมฯ พิจารณาใช้มาตรการดังกล่าวได้หากอุตสาหกรรมภายในได้รับผลกระทบ รวมทั้งได้เฝ้าระวังและติดตามการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าไทยโดยมีการหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการออก C/O ทั่วไป พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำระบบเตือนภัยผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและเสริมความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการไทย กรมฯ ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดสัมมนาให้ความรู้กับผู้ประกอบการ ภายใต้หัวข้อ “มหากาพย์สงครามการค้า...เมื่อพญาอินทรีไล่ขยี้พญามังกร” ในวันอังคารที่ 13 สิงหาคม 2562 ณ ห้องเมย์แฟร์ แกรนด์ บอลรูม โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ โดยผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385 และเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th
Click Donate Support Web