- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Wednesday, 24 July 2019 23:32
- Hits: 4953
ไทยมีสิทธิคว้าโอกาสผลักดันมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 25%
หาก RCEP มีการเปิดเสรีทางการค้า
Prof. Ludo Cuyvers ศาสตราจารย์อาคันตุกะ คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ศูนย์การศึกษาอาเซียน มหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ป (University of Antwerp) ประเทศเบลเยี่ยม ได้เปิดเผยข้อมูลการศึกษาเกี่ยวกับผลประโยชน์และศักยภาพการส่งออกของประเทศไทย (The Benefits of Full Trade Liberalization and Accessibility in RCEP for Thailand’s Export Potentials) ว่ามูลค่าการส่งออกของประเทศไทย สามารถผลักดันให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้กว่า 25% หากประเทศไทยได้รับโอกาสในการเปิดเสรีเศรษฐกิจ และมีนโยบายการเลิกกีดกันทางการค้าโดยสิ้นเชิงภายใต้ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP)
‘RCEP’ เป็นกรอบความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนและประเทศสมาชิกอีก 6 ประเทศ อันประกอบด้วยประเทศจีน ประเทศอินเดีย ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งมีการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศที่เกี่ยวข้องว่ารวมกันแล้วเท่ากับราว 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจากโครงการวิจัยเพื่อการศึกษาด้านเศรษฐกิจและการส่งออกของ Prof. Cuyvers ชื่อว่า The Benefits of Full Trade Liberalization and Accessibility in RCEP for Thailand’s Export Potentials พบว่า ในสภาวะทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกที่ได้รับสิทธิเปิดเสรีเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์ จะส่งผลให้ประเทศนั้นสามารถเข้าถึงตลาดทางการค้าของแต่ละฝ่ายได้อย่างเต็มที่ รวมถึงประเทศไทยที่จะมีศักยภาพในการส่งออกเพิ่มขึ้นอีก 25% หรือประเมินเป็นมูลค่าได้ถึง 112.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
จากการศึกษานี้ Prof. Cuyvers ใช้ระเบียบการวิจัยที่เรียกว่า ‘แบบจำลองสนับสนุนการตัดสินใจ’ หรือ Decision Support Model (DSM) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ถูกออกแบบโดยเฉพาะเพื่อช่วยในการคัดสรรตลาดส่งออกสำหรับประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งสามารถช่วยในการวางแผนและประเมินกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกได้ ซึ่งแบบจำลองนี้ประกอบด้วย ‘ตัวกรอง’ ที่เป็นระบบขั้นตอนเพื่อช่วยในการคัดเลือกการจัดคู่ประเทศและผลิตภัณฑ์ซึ่งพิจารณาแล้วว่าน่าจะก่อให้เกิด ‘โอกาสการส่งออกที่เป็นจริง’ หรือ ‘realistic export opportunities (REOs)’ ให้กับประเทศผู้ส่งออกจากการวิเคาระห์ด้วยระบบตัวกรองดังกล่าวซึ่งจะรวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้า เช่น ความเสี่ยงทางการเมือง, ความเสี่ยงทางการค้า, ขนาดและความเติบโตของการนำเข้า, เครื่องมือกีดกันทางการค้า และส่วนแบ่งในตลาด เป็นต้น
จากการศึกษาครั้งนี้ ทีมวิจัยได้อาศัยข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคจากธนาคารโลก และข้อมูลการนำเข้าของแต่ละประเทศจากฐานข้อมูล 2017 CEPII BACI เป็นข้อมูลบรรทัดฐานในการวิเคราะห์ (CEPII BACI เป็นฐานข้อมูลการค้าโลกที่พัฒนาโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและการค้าโลก CEPII ในฝรั่งเศส โดยอาศัยข้อมูลเบื้องต้นจากหน่วยจัดทำสถิติขององค์การสหประชาชาติ) หลังจากข้อมูลผ่านการกรองตามขั้นตอนของการศึกษา จะได้ค่า REOs หรือโอกาสการส่งออกที่เป็นจริง และศักยภาพการส่งออกของประเทศนั้นๆ ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะถูกนำมาคำนวณภายใต้แบบจำลองของการเปิดเศรษฐกิจเสรีและการเข้าถึงอย่างเต็มที่ ผลที่ได้นำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลบรรทัดฐานข้างต้น และเมื่อมีการตัดปัจจัยสิ่งกีดกันทางการค้าทั้งหลายที่อยู่ภายใต้ RCEP ออกไปผลปรากฏว่า REOs ‘ที่น่าสนใจที่สุด’ อยู่ในประเทศที่ REOs เพิ่มมากที่สุด ซึ่งจากงานวิจัย จะพบว่าคือ ประเทศกัมพูชา และประเทศเวียดนาม
อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศสมาชิกอื่น เช่น ประเทศจีน ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทศไทย ซึ่งมีศักยภาพในการส่งออกสูง แม้มูลค่าของศักยภาพนี้จะเพิ่มน้อยกว่าการเพิ่มของ REOs แต่รายได้จากการส่งออกจะอยู่ในระดับที่สูง ดังนั้น Prof. Cuyvers จึงแนะนำผู้ส่งออกและหน่วยงานที่ส่งเสริมการส่งออกของประเทศไทยควรใส่ใจกับ REOs ในกลุ่มประเทศ RCEP ที่มีโอกาสสร้างรายได้การส่งออกที่สูงกว่ากลุ่มประเทศ RCEP นั้นเป็นกลุ่มเดียวกับ ASEAN+6 โดยแต่เดิมอาเซียนได้ร่วมลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคี (FTA: free trade agreement) กับประเทศนอกอาเซียนทั้งหก คือ ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลีใต้ ประเทศอินเดีย ประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์ แต่ด้วยเงื่อนไขใน FTA แต่ละฉบับมีความแตกต่างกันในด้านของสินค้าตามข้อตกลงและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีก็ยังคงอยู่
FTA แบบทวิภาคีเหล่านี้จะถูกหลอมรวมในบริบทการเจรจาภายใต้ RCEP ซึ่งเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2012 ที่ประเทศกัมพูชา การเจรจาดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งการประชุมสุดยอดของอาเซียนครั้งล่าสุดที่กรุงเทพฯ ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน จากข้อมูลที่ใช้เป็นเส้นฐานในการศึกษาบ่งชี้ว่า ปัจจุบันปริมาณการส่งออกของไทยไปยังประเทศในกลุ่ม RCEP เท่ากับ 58.7% ของศักยภาพการส่งออกทั้งหมดของประเทศ และพบว่าประเทศจีนเสนอศักยภาพสูงในแง่ของมูลค่าและจำนวน REOs ซึ่งประเทศจีนเป็นประเทศเดียวที่มี REOs ถึง 477 หน่วย เมื่อคำนวณแล้วเทียบเท่าศักยภาพการส่งออกถึง 32.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ประเทศไทยมีการส่งออกไปจีนเพียง 59.4% ของศักยภาพการส่งออกเท่านั้น จึงดูเหมือนว่ายังมีช่องทางให้ผู้ส่งออกไทยส่งสินค้าไปจีนได้อีกมาก
ส่วนประเทศที่มีศักยภาพในการส่งออกลำดับต่อมา คือ สิงคโปร์ (298 REOs เทียบเท่า 13 พันล้านเหรียญ), ญี่ปุ่น (366 REOs เทียบเท่า 12.6 พันล้านเหรียญ) และเกาหลีใต้ (305 REOs เทียบเท่า 9.4 พันล้านเหรียญ) ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอื่น เช่น ประเทศมาเลเชีย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินเดีย และประเทศอินโดนีเซีย แม้ว่าจะศักยภาพการส่งออกจะมีมูลค่าสูง แต่ปริมาณ REOs ที่มากก็หมายความว่าแต่ละหน่วยของ REOs แปลงเป็นมูลค่าศักยภาพการส่งออกที่ด้อยลงมา จากงานวิจัยของ Prof. Cuyvers ยังศึกษาถึงการกระจายการส่งออกหรือส่วนแบ่งตลาดที่มีขนาดและการขยายตัวที่ต่างกัน ซึ่งรวมถึงตลาดขนาดใหญ่, ตลาดที่กำลังเติบโตในระยะสั้นและยาว ข้อสังเกตที่น่าสนใจอันหนึ่งคือ แม้ศักยภาพการส่งออกไปตลาดในกลุ่มประเทศ RCEP ของประเทศไทยมีมากและแม้ว่าจะมี REOs ที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง แต่ประเทศไทยกลับมีส่วนแบ่งตลาดโดยรวมค่อนข้างต่ำ และมักเจอกับสภาวะการแข่งขันสูง ซึ่งหมายความว่าถ้าประเทศไทยต้องการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดจะต้องใช้ความพยายามและทรัพยากรจำนวนมากทีเดียว
จากการศึกษาในครั้งนี้ ศาสตราจารย์อาคันตุกะ พบว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มี REOs มาก และมูลค่าของศักยภาพการส่งออกที่เป็นจริงสูง 5 กลุ่มแรก ประกอบด้วย 1.กลุ่มเครื่องจักรเครื่องมือไฟฟ้าเครื่องบันทึกและผลิตภาพและเสียงและชิ้นส่วน, 2.กลุ่มแร่เชื้อเพลิงน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากการกลั่น, 3.กลุ่มเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หม้อไอน้ำพร้อมเครื่องจักรและชิ้นส่วน, 4.กลุ่มพลาสติกและเครื่องใช้ที่ทำจากพลาสติก, 5.กลุ่มยานพาหนะ (ไม่รวมตู้รถไฟหรือรถราง) และชิ้นส่วนและเครื่องตกแต่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความต้องการประเภทสินค้าของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันออกไป โดยในสภาพของการเปิดเสรีทางการค้าอย่างเต็มที่ จะพบว่ากลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงของ REOs และศักยภาพการส่งออกที่เป็นจริงสูง คือ กลุ่มพลาสติกและเครื่องใช้ที่ทำจากพลาสติก กลุ่มน้ำตาลและขนมที่ทำจากน้ำตาล
โดยสรุปแล้ว ภาพจำลองที่ตัดสิ่งกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศใน RCEP ออกทั้งหมด จะพบว่า ประเทศไทยจะมี REOs เพิ่มขึ้น 6,847 หน่วย โดยเพิ่มจากจำนวน REOs ที่ใช้เป็นบรรทัดฐานถึง 75% และศักยภาพการส่งออกเพิ่มขึ้น 25% โดยประเมินเป็นมูลค่าได้ถึง 112.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดังกล่าวแล้วข้างต้น
Prof. Cuyvers เปิดเผยว่า ถ้า REOs เหล่านี้หากถูกใช้อย่างเต็มศักยภาพ จะทำให้การส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศอาเชียน เช่น ประเทศลาว และประเทศเขมรเพิ่มขึ้นมาก รวมถึงการส่งออกไปยังประเทศอินเดีย ประเทศนิวซีแลนด์ และประเทศออสเตรเลียจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก
ส่วนการส่งออกไปยังประเทศจีนนั้น แม้สมาชิกอาเซียนจะมีศักยภาพการส่งออกที่ดีมาก แต่ไทยที่มีส่วนแบ่งตลาดในการส่งออกไปยังจีนค่อนข้างมากแล้ว ทำให้ศักยภาพการส่งออกของไทยไปยังประเทศดังกล่าวไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการส่งออกของไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นและสิงค์โปร์ ทั้งนี้ Prof. Cuyvers ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า จากผลการศึกษาประเทศไทยควรสนับสนุนการเปิดเสรีเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ในภูมิภาค
อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์อาคันตุกะ กล่าวว่า “การเปิดเสรีเศรษฐกิจอย่างสมบูรณ์นั้นในความเป็นจริงคงไม่เกิดขึ้น เพราะแม้จะมีการลดภาษีจนเหลือศูนย์ก็ยังมีสิ่งกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่รูปแบบภาษีอยู่ (non-tariff barriers) เช่น มาตรฐานสินค้า ขั้นตอนการผ่านพิธีการศุลกากร เป็นต้น แม้กระทั่งการพัฒนาระบบโลจิสติกส์หรือระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพแตกต่างกันของแต่ละประเทศก็สามารถทำให้การเข้าถึงแต่ละตลาดเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นได้เช่นกัน”
AO07263
Click Donate Support Web