- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 23 July 2019 12:34
- Hits: 3786
การส่งออกของไทย มิถุนายน 2562 มีมูลค่า 21.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวที่ร้อยละ 2.15 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน
ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนมิถุนายน 2562
การส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน 2562 มีมูลค่า 21.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวที่ร้อยละ 2.15 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ 6.2 การส่งออกของไทยมีทิศทางสอดคล้องกับการค้าโลก อุปสงค์ของคู่ค้าสำคัญและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกชะลอตัวต่อเนื่องนับจากปลายปี 2561 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการดำเนินนโยบายตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ และจีน ประกอบกับความพยายามในการเจรจาแต่ละครั้งเพื่อให้ได้ข้อเสนอดีที่สุดของทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ความขัดแย้งของประเทศคู้ค่าอื่นๆ ยังเป็นสถานการณ์ซ้ำเติมบรรยากาศการค้าโลก ทำให้ความไม่แน่นอนและความกังวลของผู้บริโภคและนักลงทุนทั่วโลกเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และยังมีโอกาสขยายตัวได้ดีในหลายตลาด อาทิ สหรัฐฯ อินเดีย และเวียดนาม เป็นต้น สำหรับรายสินค้า พบว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารยังขยายตัว โดยเฉพาะการส่งออกยางพารากลับมาขยายตัวและมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือน ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งปริมาณและราคา นอกจากนี้ เครื่องเทศและสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี อาหารสำเร็จรูปอื่นๆ และเครื่องดื่ม ขยายตัวดี ด้านสินค้าไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากจำนวนนักเที่ยวท่องเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องสำอางขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและของใช้ในบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวและน่าจับตามอง ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ และโทรทัศน์ และนาฬิกาและส่วนประกอบ ที่เริ่มเห็นทิศทางการขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา รวม 6 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกหดตัวร้อยละ 2.9
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท
เดือนมิถุนายน 2562 การส่งออก มีมูลค่า 676,838 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 583,094 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.2 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 93,745 ล้านบาท รวม 6 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 3,881,308 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 2.7) การนำเข้ามีมูลค่า 3,812,240 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 2.1) และการค้าเกินดุล 69,068 ล้านบาท
มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ
เดือนมิถุนายน 2562 การส่งออก มีมูลค่า 21,409 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 2.15 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 18,197 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 9.4 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 3,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวม 6 เดือนแรก ปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 122,971 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 2.9) การนำเข้ามีมูลค่า 119,027 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 2.4) และการค้าเกินดุล 3,943 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 9.0 (YoY) สินค้าเกษตรสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 11.8 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ อินเดีย ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์) เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 2.8 (ขยายตัวในตลาดกัมพูชา จีน ลาว สิงคโปร์ และเกาหลีใต้) สินค้าเกษตรที่หดตัว ได้แก่ ข้าว หดตัวร้อยละ 34.6 (หดตัวในตลาดเบนิน แอฟริกาใต้ และฮ่องกง แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ และจีน) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 19.4 (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และซูดาน แต่ยังขยายตัวในตลาดมาเลเซีย กัมพูชา และจีน) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 9.5 (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และอียิปต์ แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย) ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 10.0 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม ญี่ปุ่น ฮ่องกง และเกาหลีใต้ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดจีน) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 17.5 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์) รวม 6 เดือนแรกของปี 2562 สินค้าเกษตรหดตัวที่ร้อยละ 2.2
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.04 (YoY) สินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ ทองคำ ขยายตัวร้อยละ 317.4 (ขยายตัวในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง อินโดนีเซีย และอินเดีย) เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ขยายตัวร้อยละ 10.0 (ขยายตัวในตลาดจีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย) เครื่องปรับอากาศ ขยายตัวร้อยละ 9.0 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น เวียดนาม ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 5.7 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน สหราชอาณาจักร อินโดนีเซีย และบราซิล) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวเกือบทุกตลาดที่ร้อยละ 22.0 (หดตัวในตลาดจีน กัมพูชา เวียดนาม อินเดีย และอินโดนีเซีย แต่ยังขยายตัวในตลาดมาเลเซีย และเกาหลีใต้) แผงวงจรไฟฟ้า หดตัวเกือบทุกตลาดที่ร้อยละ 20.6 (หดตัวในตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ แต่ยังขยายตัวได้ในตลาดเม็กซิโก เบลเยียม และเวียดนาม) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 15.5 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง จีน และเยอรมนี แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดเนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ หดตัวที่ร้อยละ 15.5 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย แต่ยังขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย เวียดนาม และไต้หวัน) รวม 6 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวที่ร้อยละ 2.6
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปตลาดสำคัญๆ ส่วนมากยังได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีการนำเข้าของสหรัฐฯ และจีน ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงต่อสินค้าที่ถูกปรับขึ้นภาษี และผลกระทบทางอ้อมผ่านเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอลง และบรรยากาศการค้าที่มีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกของโลกและไทยได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักหดตัวร้อยละ 3.7 เป็นผลจากการส่งออกไปญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปหดตัว ร้อยละ 1.9 2.1 และ 7.7 ตามลำดับ ด้านการส่งออกไปตลาดศักยภาพหดตัวร้อยละ 7.9 เป็นผลมาจากการส่งออกไป จีน CLMV และอาเซียน-5 หดตัว ร้อยละ 14.9 9.3 และ 3.5 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดอินเดียยังขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 8.0 สำหรับตลาดศักยภาพระดับรองหดตัวที่ร้อยละ 9.1ตลาดญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 1.9 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก และทองแดงฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ โทรทัศน์และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศฯ ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 2.0
ตลาดญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 1.9 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก และทองแดงฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ โทรทัศน์และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศฯ ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 2.0
ตลาดสหรัฐอเมริกา หดตัวร้อยละ 2.1 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และแผงวงจรไฟฟ้า ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลฯ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 17.3
ตลาดสหภาพยุโรป(15) หดตัวร้อยละ 7.7 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ และเหล็กและผลิตภัณฑ์ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 7.1
ตลาดจีน หดตัวร้อยละ 14.9 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป และ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ยางพารา ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 9.7
ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 0.3 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ มอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์รักษาผิว และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 2.2
ตลาด CLMV หดตัวร้อยละ 9.3 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำตาลทราย น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 1
ตลาดอาเซียน-5 หดตัวร้อยละ 3.5 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปฯ และ เครื่องจักรกลฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 8.2
ตลาดลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 10.0 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปฯ และเครื่องจักรกลฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 5.0
ตลาดตะวันออกกลาง หดตัวร้อยละ 10.0 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศฯ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และ ข้าว ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 7.8
ตลาดทวีปออสเตรเลีย หดตัวร้อยละ 0.3 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และ เคมีภัณฑ์ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ และ เครื่องปรับอากาศฯ ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 9.6
ตลาดรัสเซีย และกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 8.5 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าฯ เครื่องยนต์สันดาปฯ และ เม็ดพลาสติก ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ขณะที่ 6 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 4.8
แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2562
แนวโน้มการส่งออกในครึ่งหลังของปี 2562 ยังมีความท้าทาย อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยยังมีปัจจัยเชิงบวกที่สำคัญ คือ
(1) ภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่ดีในสายตาของต่างชาติ
(2) โอกาสทดแทนสินค้าจากการดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าของประเทศต่างๆ
(3) สินค้าที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวยังขยายตัวดี และ
(4) โอกาสส่งออกในพื้นที่การค้าใหม่ ตามนโยบายส่งเสริมการค้าเชิงรุกเจาะรายพื้นที่
ขณะที่ปัจจัยเชิงลบที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
(1) ความยืดเยื้อของข้อพิพาททางการค้า ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนในการเจรจาหาข้อยุติ
(2) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจปี 2562 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 ซึ่งขยายตัวต่ำสุดนับจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2551-2552
(3) การลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก อันเป็นผลกดดันให้ราคาสินค้าเกษตรส่งออกของไทยอยู่ระดับต่ำ
(4) การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายของประเทศสำคัญทางเศรษฐกิจของโลก ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าครึ่งปีแรกและมีความผันผวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
(5) วัฏจักรสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญอยู่ในช่วงขาลง โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และ
(6) ความท้าทายกับการปรับตัวเข้าสู่การผลิตเพื่อให้ตรงกับความต้องการสินค้าใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น
กระทรวงพาณิชย์มีแผนผลักดันการส่งออกปี 2562 โดยในระยะเร่งด่วน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) สั่งการให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนกระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการส่งออก เพื่อผลักดันให้การส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวได้มากขึ้น
นอกจากนี้ จะใช้นโยบายการค้าควบคู่กับการลงทุนและการบริการ ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศนำสินค้าไทยเข้าไปด้วย และกลยุทธ์เจาะตลาดรายพื้นที่ โดยขยายโอกาสการส่งออกในตลาดที่แข็งแกร่ง อาทิ สหรัฐฯ และอินเดีย และเปิดตลาดใหม่ที่เริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น แคนาดา รวมทั้งเร่งขยายความร่วมมือและเจรจาความตกลงทางการค้า การรักษามาตรฐานสินค้า ขยายช่องทางการขายสู่ออนไลน์ ตลอดจนให้ความสำคัญกับสินค้าที่ขยายตัวสูง และมีศักยภาพในการส่งออกทดแทน อาทิ สินค้าเกษตร ประมงและอาหาร (สดและแปรรูป) ไก่ รวมถึงการผลักดันสินค้าดาวรุ่งใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อชดเชยการชะลอตัวของสินค้าหลักกลุ่มเดิม อาทิ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องดื่ม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น ทั้งนี้ ในช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน ผู้ส่งออกควรเร่งทำประกันความเสี่ยง และจูงใจให้ผู้นำเข้าทำสัญญาระยะยาวเพื่อเป็นหลักประกันการซื้อขายและลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนของข้อพิพาททางการค้า
โดย สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์
Click Donate Support Web