- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 18 July 2019 18:27
- Hits: 4271
'บุณยฤทธิ์' เตรียมถกปลัดเศรษฐกิจอาเซียนทบทวนแผน AEC Blueprint 2025
กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration หรือ HLTF-EI) ครั้งที่ 36 ทบทวนการดำเนินงานตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (Mid-Term Review of the AEC Blueprint 2025) และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในประเด็นต่างๆ กลางเดือนนี้
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน (High Level Task Force on ASEAN Economic Integration หรือ HLTF-EI) ครั้งที่ 36 ระหว่างวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยปลัดกระทรวงเศรษฐกิจของสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ จะพบหารือในประเด็นสำคัญ อาทิ ทบทวนการดำเนินงานตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (Mid-Term Review of the AEC Blueprint 2025) และติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในประเด็นต่างๆ จากการประชุมครั้งที่แล้ว เช่น ระบบบริหารจัดการกฎระเบียบของอาเซียน และการกำหนดกลยุทธ์ในการเจรจา FTA ของอาเซียน
นายบุณยฤทธิ์ เสริมว่า การหารือของ HLTF-EI เป็นการหารือในประเด็นเชิงนโยบายที่จะกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนต่อไปในอนาคต ซึ่งขณะนี้ถือว่าอาเซียนมีการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจตาม AEC Blueprint 2025 มาได้ครึ่งทางนับตั้งแต่การเข้าสู่ AEC ในปี 2558 จึงต้องมีการทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมาว่ามีความคืบหน้าตามแผนงานไปมากน้อยเพียงใด รวมทั้งประเมินสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการค้าโลกที่จะส่งผลต่อการรวมกลุ่มของอาเซียนในอนาคต เพื่อจะได้วางแผนและกำหนดกลยุทธ์การทำงานให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ โดยในส่วนของเศรษฐกิจนั้น อาเซียนมีงาน 5 ด้านหลักที่ต้องประเมินความสำเร็จ คือ 1) การรวมตัวทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน รวมถึงการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกทางการค้าและการปรับประสานมาตรฐานและกฎระเบียบต่างๆ ที่จะช่วยให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรี 2) การมีนโยบายและกฎระเบียบที่จะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาค เช่น นโยบายด้านการแข่งขันทางการค้า การคุ้มครองผู้บริโภค ทรัพย์สินทางปัญญา 3) ความร่วมมือระหว่างสาขาเศรษฐกิจ เช่น ด้านการขนส่ง โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่จะต้องมีการดำเนินงานร่วมกันมากขึ้น 4) การดำเนินงานที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน ได้แก่ การเสริมสร้างบทบาทของ SMEs และความร่วมมือกับภาคเอกชน และ 5) การบูรณาการกับเศรษฐกิจโลก ได้แก่ การจัดทำรวมทั้งยกระดับ FTA ที่อาเซียนมีอยู่กับคู่ค้านอกภูมิภาคของอาเซียน
นายบุณยฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะทำงานฯ จะหารือเรื่องความคืบหน้าการศึกษาระบบบริหารจัดการกฎระเบียบของอาเซียน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสอดคล้องกับหลักสากลต่อไป โดยผลการศึกษาจะเสนอให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนรับทราบในการประชุมปลายปีนี้ รวมทั้งจะได้หารือถึงการกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะใช้ดำเนินความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับคู่ค้านอกภูมิภาค เพื่อใช้ประเมินคู่ค้าที่อาจเป็นคู่เจรจา FTA ของอาเซียนในอนาคต ตลอดจนหารือรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานในประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจที่อาเซียนจะต้องดำเนินการให้สำเร็จในปีนี้ (Priority Economic Deliverable) 3 ด้าน รวม 13 ประเด็น
ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนปี 2561 มีมูลค่าการค้ารวม 113,934 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 13 โดยไทยส่งออกไปอาเซียนในปี 2561 มูลค่า 68,437 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,497 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเกินดุล 22,940 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกของไทยไปอาเซียนในปัจจุบัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย
Click Donate Support Web