- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 25 September 2014 23:11
- Hits: 2415
กรมทรัพย์สินฯ รับลูกรัฐบาล-คสช. เร่งรับจดลิขสิทธิ์ งานหัตถศิลป์ชั้นสูง
แนวหน้า : นางกุลณี อิศดิศัย รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจและบทบาทสำคัญในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ได้เร่งสานต่อนโยบายของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช. )ในการตรวจสอบและดำเนินการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องต่างๆ ของไทยให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยในเบื้องต้น กรมฯ เห็นว่าผลงานศิลป์แผ่นดิน ซึ่งสถาบันสิริกิติ์ได้สร้างสรรค์ขึ้น เป็นผลงานทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการคุ้มครองและบันทึกเป็นฐานข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งกล่าวได้ว่าน่าจะเป็น The Best of ASEAN ในด้านของความประณีต วิจิตรบรรจงได้เป็นอย่างดี
และจากการหารือกับสถาบันสิริกิติ์ จะได้มีการรวบรวมผลงานหัตถศิลป์ประณีตชั้นสูงที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ โดยช่างศิลปาชีพชั้นสูงของสถาบันฯ กว่า 200 ผลงาน ไม่ว่าจะเป็นผลงานชิ้นเอก อาทิ'ฉากไม้แกะสลัก" เรื่อง สังข์ทองและป่าหิมพานต์'ฉากผ้าปักไหมน้อย'เรื่อง อิเหนา'ฉากถมทอง'เรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น รวมถึงงานถมเงินถมทอง เครื่องเงินเครื่องทอง คร่ำ ลงยาสี ปักผ้า แกะสลักไม้ หรือเขียนลาย อื่นๆ อีกมากมาย เพื่อรับจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา อันได้แก่ สิทธิบัตร และรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ เพื่อปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของชาติ และบันทึกเป็นฐานข้อมูลมรดกภูมิปัญญาของไทย ซึ่งคาดว่า เมื่อรวบรวมรายละเอียดของผลงานได้ครบถ้วนแล้ว จะสามารถรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ได้ทันที ส่วนสิทธิบัตรจะเร่งดำเนินกระบวนการตรวจสอบตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
นอกจากนี้ กรมฯ ได้จัดประชุมหารือระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมและคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรพันธุกรรม และการแสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิม เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น
ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า เนื่องจากปัจจุบันระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ยังไม่รองรับการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรพันธุกรรม และการแสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิม และยังไม่มีกฎหมายหรือพันธกรณีระหว่างประเทศที่ให้การคุ้มครองงานดังกล่าว จึงควรมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และมีหน่วยงานหลักในการบริหารการคุ้มครอง อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงดำเนินการเพื่อให้มีกฎหมายคุ้มครองอย่างเหมาะสม มีการจัดทำฐานข้อมูล และเชื่อมโยงฐานข้อมูล และสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย