- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 08 February 2019 19:01
- Hits: 7896
‘สมคิด’คงเป้าส่งออกปีนี้โต 8% สั่งพาณิชย์เร่งทำงาน-เรียกเชื่อมั่น
‘สมคิด’ ย้ำเป้าส่งออกปีนี้โต 8% สั่งพาณิชย์เร่งทำงาน กระตุ้นรากหญ้า - เกษตรกร พร้อมเร่งเดินหน้าเรียกความเชื่อมั่นต่างชาติผ่าน CPTPP และ RCEP
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายและติดตามงานของกระทรวงพาณิชย์ว่า ยังคงเป้าหมายส่งออกปีนี้ไว้ที่ 8% มอบนโยบายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สั่งการทูตพาณิชย์ รักษาและขยายส่วนแบ่งตลาดทั้ง ตลาดเก่า และตลาดใหม่
ส่วนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากยังต้องเดินหน้าอย่างเต็มที่ โดยให้พาณิชย์จังหวัด และการค้าภายในจังหวัดจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกร และลดต้นทุนการผลิต ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ จัดหาปุ๋ยราคาถูกกว่าท้องตลาดเข้าไปวางจำหน่ายในร้านธงฟ้าประชารัฐ เพื่อให้เกษตรกรหาซื้อได้ง่ายขึ้น คาดว่าจะเริ่มวางจำหน่ายได้ในเร็ว ๆ นี้
" ให้กระทรวงพาณิชย์สั่งการทูตพาณิชย์ให้ส่งสัญญาณเชิงบวกต่อนักลงทุนทั่ว โลกว่า ปีนี้ประเทศไทยมีแต่เรื่องดี ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นถึง 3 เรื่อง ทั้งพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก, การเลือกตั้ง และเป็นประธานอาเซียน ซึ่งต้องใช้โอกาสนี้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ" นายสมคิดกล่าว
นอกจากนี้ ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วน ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (CPTPP) หลังจากมีผลบังคับใช้เมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา โดยได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เตรียมยื่นหนังสือแสดงเจตจำนง รวมถึงเร่งบรรลุการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาค (RCEP) ระหว่างอาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจา 6 ประเทศคือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ให้เสร็จภายในปีนี้
พาณิชย์ แนะภาคส่งออกเตรียมส่งข้าวสู่ตลาดออสเตรเลีย หลังเจอวิกฤตภัยแล้ง
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแจ้งข่าวผู้ส่งออกไทย เตรียมพร้อมผลักดันการส่งออกข้าว ธัญพืช และอาหารสัตว์ป้อนตลาดออสเตรเลีย หลังประสบวิกฤตภัยแล้งอย่างหนัก ทำให้ผลผลิตเสียหาย และต้องหาแหล่งนำเข้าเพิ่ม
นางสลิลา เทพเกษตรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย เปิดเผยว่า สำนักงานฯ ได้ติดตามปัญหาวิกฤตภัยแล้งในออสเตรเลียที่เริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนส.ค.2561 ที่ผ่านมา โดยพบว่ามีความรุนแรงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในรัฐ New South Wales มีปริมาณน้ำฝนเพียง 190.9 มิลลิเมตร ต่ำสุดในรอบ 20 ปี และร้อยละ 49 ของพื้นที่การเกษตรในรัฐ Queensland รัฐ New South Wales และรัฐ Victoria จะเป็นพื้นที่ที่ประสบกับภัยแล้งที่รุนแรงที่สุด ซึ่งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของออสเตรเลียลดลง
ทั้งนี้ ได้มีการคาดกันว่าพื้นที่เพาะปลูกข้าวจะลดลงร้อยละ 10 ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงตามไปด้วย ฝ้ายและข้าวสาลีจะมีผลผลิตลดลงเช่นเดียวกัน ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น แต่ผัก ผลไม้ น้ำตาล คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่วนภาคปศุสัตว์ ปริมาณวัวและแกะในฟาร์มจะลดลง เนื่องจากราคาอาหารสัตว์เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ฟาร์มปศุสัตว์เร่งจำหน่ายวัวให้กับโรงฆ่าสัตว์ ส่งผลให้ราคาเนื้อในตลาดถูกลง แต่ยังมีบางฟาร์มที่ยังคงเลี้ยงต่อ โดยใช้ชานอ้อยในการเลี้ยง หรือเคลื่อนย้ายสัตว์ไปยังพื้นที่ที่สัตว์สามารถหากินเองได้
“จากปัญหาภัยแล้งดังกล่าว ได้ทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าว ธัญพืช และการเลี้ยงสัตว์ลดลง ทำให้ออสเตรเลียต้องนำเข้าข้าว ฝ้ายและธัญพืชอื่นๆ รวมถึงอาหารสัตว์จากต่างประเทศ จึงเป็นโอกาสดีของผู้ส่งออกไทยที่จะวางแผนในการส่งออกสินค้าดังกล่าวเข้าสู่ตลาดออสเตรเลีย เพื่อทดแทนในส่วนที่ขาดหายไป โดยเฉพาะข้าว ไทยมีโอกาสสูงมาก เพราะปัจจุบัน ข้าวไทยได้รับความนิยม และมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในออสเตรเลียอยู่แล้ว การขยายตลาดจึงทำได้ไม่ยาก ส่วนอาหารสัตว์ ก็มีโอกาส โดยเฉพาะมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ที่จะผลักดันส่งออกเข้าสู่ตลาดออสเตรเลียได้เพิ่มขึ้น”นางสลิลากล่าว
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดรัฐบาลออสเตรเลียได้ประกาศจะจัดสรรงบประมาณมูลค่า 5 พันล้านเหรียญออสเตรเลียในโครงการ $ 5 Billion Future Drought Fund ในระหว่างการประชุม National Drought Summit โดยจะแบ่งเป็นงบประมาณช่วยเหลือเริ่มต้นมูลค่า 3.9 พันล้านเหรียญออสเตรเลีย และจะจัดสรรงบประมาณมูลค่า 100 ล้านเหรียญออสเตรเลียต่อปี เริ่มตั้งแต่ปี 2563 ไปจนถึงปี 2571 เพื่อช่วยเหลือและเตรียมความพร้อมในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือกับภาวะภัยแล้งแก่เกษตรกร แต่การจัดสรรงบประมาณดังกล่าว ต้องผ่านรัฐสภาก่อนจึงจะเริ่มมีผลบังคับใช้
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย