- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Tuesday, 23 September 2014 22:14
- Hits: 2655
พาณิชย์ วางยุทธศาสตร์ดันตลาดออร์แกนิค เร่งส่งเสริมการผลิต
แนวหน้า : พาณิชย์วางยุทธศาสตร์ดันตลาดออร์แกนิค เร่งส่งเสริมการผลิต มุ่งเป็นฮับในอาเซียน
นางมาลี โชคล้ำเลิศ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้วางแนวทางจะส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ (ออร์แกนิค) ของไทย ให้เป็นผู้นำทางการค้าและการบริโภคสินค้าอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน ภายในปี 2563 โดยการวางยุทธศาสตร์ไว้ 5 ข้อหลัก คือ 1.การสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการตลาดอินทรีย์ตลอดห่วงโซ่อุปทาน, 2.การพัฒนาฐานข้อมูลที่ทันสมัยเพื่อใช้ในการวางแผนการตลาดเชิงรุก, 3.การขยายตลาดสินค้าอินทรีย์ทั้งในและต่างประเทศ, 4.การสร้างความหลากหลายของสินค้าอินทรีย์ตรงกับความต้องการของตลาด และ5.การสนับสนุนเชิงนโยบาย เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) เรื่องสินค้าอินทร์ในอาเซียน
“การเป็นฮับของอาเซียน ไม่จำเป็นที่ไทยต้องทำเองในทุกส่วน อาจมีการสร้างประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนให้เป็นฐานการผลิต และไทยเป็นผู้ทำการตลาดให้ เป็นต้น ทั้งนี้สินค้าอินทรีย์มีราคาที่สูงกว่าสินค้าปกติ 1.5-2 เท่า เนื่องจากการผลิตที่ได้มีปริมาณน้อยกว่าสินค้าปกติ ทำให้มีผู้ผลิตและผู้บริโภคจำนวนไม่มาก กระทรวงพาณิชย์จึงต้องหาแผนเข้ามาดูแลในส่วนนี้ ในขณะที่กลุ่มเป้าหมายสินค้าอินทรีย์จะเน้นไปยังกลุ่มผู้รักสุขภาพ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มแม่และเด็ก”นางมาลี กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องของสินค้าอินทรีย์โดยเฉพาะอยู่แล้ว ภายใต้การดูแลหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ก็ยังมีการทำงานที่ไม่เร่งรัดนัก ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ ที่เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ดูแลในเรื่องนี้ จึงได้พยายามทำการส่งเสริมการตลาดสินค้าอินทรีย์ในขอบเขตที่สามารถทำได้ ทั้งการขอความร่วมมือไปยังจังหวัดต่างๆในการมองหาสินค้าอินทรีย์ที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดทางการตลาดได้ รวมถึงได้มีการมองไปถึงตลาดต่างประเทศ ซึ่งในระหว่างวันที่ 23-27 กันยายน 2557 จะมีการนำผู้ประกอบการไทย 5 ราย ที่เป็นผู้ประกอบการข้าวอินทรีย์ ขนมขบเคี้ยวอินทรีย์ ไปแสดงสินค้าและทดลองตลาดที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน เพื่อเป็นช่องทางกระจายสินค้าอินทรีย์ของไทยในต่างประเทศ
สำหรับ การค้าสินค้าอินทรีย์ของโลกในปี 2555 มีมูลค่า 63,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีพื้นที่การเพาะปลูก 234.3 ล้านไร่ ขณะที่ในส่วนของไทยระหว่างปี 2552-2557 มีการเก็บสถิติการส่งออกเพียงข้าวหอมมะลิอินทรีย์เท่านั้น โดยปี 2552 มีมูลค่าการค้า 5,228,164 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนปี 2557 มีมูลค่าการค้า 10,036,613 เหรียญสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าสินค้าอินทรีย์มีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอนาคต