- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 06 January 2019 16:56
- Hits: 4215
พาณิชย์ เผย CPI เดือน ธ.ค.61 ขยายตัว 0.36% ทั้งปี 61 โต 1.07% วางกรอบคาดการณ์ทั้งปี 62 ที่ 0.7-1.7%
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนธ.ค.61 อยู่ที่ 101.73 ขยายตัว 0.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.65% จากเดือนพ.ย. 61
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) อยู่ที่ 102.30 ขยายตัว 0.68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.01% เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า
ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 102.62 ขยายตัว 0.90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.36% เมื่อเทียบเดือน พ.ย.61 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 101.25 ขยายตัว 0.06% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.81% เมื่อเทียบเดือน พ.ย.61
ทั้งนี้ ส่งผลให้ CPI ปี 61 ขยายตัวเฉลี่ย 1.07% ส่วน Core CPI ขยายตัว 0.71%
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค.เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ธ.ค.61 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 แต่ถือว่าขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งการชะลอตัวของเงินเฟ้อมีสาเหตุสำคัญจากการลดลงของราคาพลังงาน และราคาผลผลิตทางการเกษตรบางชนิดตามปริมาณผลผลิตที่ออกมา ในขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นยังขยายตัวได้ สอดคล้องกับเครื่องชี้อุปสงค์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ส่วนอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 61 ขยายตัว 1.07% อยู่ในกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ 0.8-1.6% โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากทั้งด้าน demand และ supply ได้แก่ 1.ราคาพลังงาน ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการต่อเนื่องกับราคาพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อในปี 61
2.ราคาผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ (อาหาร) ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของฤดูกาลและเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิต รวมทั้งความต้องการจากในประเทศและต่างประเทศที่ส่งผลต่อราคาทั้งด้านบวกและลบ แต่โดยเฉลี่ยแล้วราคาผลผลิตสินค้าเกษตรก็เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
3.อุปสงค์ โดยความต้องการในประเทศยังขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป สอดคล้องกับอัตราค่าจ้างเฉลี่ย และรายได้จาก VAT ที่ขยายตัวสูงกว่าเงินเฟ้อ รวมทั้งการใช้จ่ายและมาตรการภาครัฐต่างๆ ที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและเพิ่มกำลังซื้อในหลากหลายรูปแบบ ในขณะที่ความต้องการในต่างประเทศสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อการส่งออก การลงทุนภาครัฐและเอกชนที่ยังขยายตัวได้ดี
"อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 61 ที่ขยายตัว 1.07% ถือว่าเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ และอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ 0.8-1.6%" น.ส.พิมพ์ชนกระบุ
สำหรับ แนวโน้มเงินเฟ้อในปี 62 นี้ ผู้อำนวยการ สนค. ประเมินว่า เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 1.23% หรืออยู่ในกรอบ 0.7-1.7% ภายใต้สมมติฐาน 3 ด้านสำคัญ คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ 3.5-4.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนทั้งปีเฉลี่ยที่ 32.50-33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 1/62 ขยายตัว 0.86% ไตรมาส 2/62 ขยายตัว 0.98% ไตรมาส 3/62 ขยายตัว 1.27% และไตรมาส 4/62 ขยายตัว 1.81%
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในปีนี้มาจาก 1.ราคาพลังงาน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 61 แต่ยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนในโครงสร้างการผลิตและความต้องการโลก รวมทั้งการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออก และตะวันออกกลาง ซึ่ราคาพลังงานนี้เป็นปัจจัยกดดันให้มีการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารในประเทศ
2.การลงทุน ทั้งภาครัฐและเอกชนคาดว่าปีนี้จะมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากมีสัญญาณจากปัจจัยชี้นำต่างๆ ทั้งความคืบหน้าการลงนามในสัญญาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ และความต่อเนื่องของโครงการลงทุนเดิมที่ยังไม่แล้วเสร็จ ตลอดจนความสนใจในการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในโครงการต่างๆ เพิ่มเติม
3.ราคาสินค้าเกษตร ซึ่งราคาสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว และมันสำปะหลัง ยังมีแนวโน้มที่ดีกว่าปี 61 เพราะยังมีผลผลิตต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ในขณะที่ปาล์มน้ำมันและยางพาราจะมีสัญญาณที่ดีจากมาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งน่าจะทำให้สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรเหล่านี้ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 61
4.ราคาสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งสินค้าอุตสาหกรรมหลายตัวที่ผลิตในประเทศมีสัญญาณต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีแรงกดดันจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการนำเข้า ทำให้ราคาสินค้าอุตสาหกรรมน่าจะมีทิศทางที่ปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก
5.การส่งออก คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และยังมีแรงส่งต่อเนื่องประกอบกับโอกาสในการย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกหลายชนิดมายังประเทศไทยยังมีสูง ทำให้การส่งออกน่าจะยังขยายตัวได้ดี ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อราคาและกำลังซื้อในประเทศ
6.ค่าเงินบาท มีทิศทางอ่อนค่าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้เงินทุนไหลเข้าในประเทศน้อยลง ส่งผลต่อต้นทุนนำเข้าและเพิ่มรายได้จากการส่งออกเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนเงินเฟ้อได้
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวด้วยว่า อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกของปีนี้มีโอกาสจะขยายตัวได้มากกว่าระดับที่ประมาณการไว้ที่ 0.86% ซึ่งอาจจะอยู่ในระดับ 1% ได้ เนื่องจากในช่วงเดือน ก.พ.62 ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศเกิดขึ้นคาดว่าจะส่งผลให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียง เช่น วัสดุอุปกรณ์ทำป้ายผู้ลงสมัคร, รถกระบะ เป็นต้น นอกจากนี้ การเลือกตั้งยังมีผลต่อความเชื่อมั่นของทั้งประชาชนและนักลงทุนในการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นด้วย
อินโฟเควสท์
พาณิชย์คาดเงินเฟ้อปี'62โต 1.23%ชี้ช่วงหาเสียงเลือกตั้งหนุนจับจ่ายเพิ่ม
แนวหน้า : น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 101.73 ขยายตัว 0.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.65% จากเดือนพฤศจิกายน 2561 ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภค พื้นฐาน (Core CPI) อยู่ที่ 102.30 ขยายตัว 0.68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ขยายตัว 0.01% เมื่อเทียบเดือนก่อนหน้า
ขณะที่ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ไม่มีแอลกอฮอล์อยู่ที่ 102.62 ขยายตัว 0.90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.36% เมื่อเทียบเดือนพฤศจิกายน 2561 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและ เครื่องดื่มอยู่ที่ 101.25 ขยายตัว 0.06% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.81% เมื่อเทียบเดือนพฤศจิกายน 2561 ส่งผลให้ CPI ปี 2561 ขยายตัวเฉลี่ย 1.07% ส่วน Core CPI ขยายตัว 0.71%
"เงินเฟ้อเดือนธันวาคม 2561 ขยายตัว ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 แต่ถือว่าชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สาเหตุสำคัญจากการลดลงของราคาพลังงาน และราคาผลผลิตทางการเกษตรบางชนิดตามปริมาณผลผลิตที่ออกมาขณะที่ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นยังขยายตัว ได้ สอดคล้องกับเครื่องชี้อุปสงค์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)ส่วนอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2561 ขยายตัว 1.07% อยู่ในกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ 0.8-1.6%" น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
สำหรับ แนวโน้มเงินเฟ้อในปี 2562 ประเมินว่าเฉลี่ยทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 1.23% หรืออยู่ในกรอบ 0.7-1.7% ภายใต้สมมุติฐาน 3 ด้านสำคัญ คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ 3.5-4.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนทั้งปีเฉลี่ยที่ 32.50-33.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 1/62 ขยายตัว 0.86% ไตรมาส 2/62 ขยายตัว 0.98% ไตรมาส 3/62 ขยายตัว 1.27% และไตรมาส 4/62 ขยายตัว 1.81%
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อมาจากราคาพลังงานซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนที่คาดว่าจะดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรข้าว และมันสำปะหลัง ยังมีแนวโน้มที่ดีกว่าปีก่อน สินค้าอุตสาหกรรมหลายตัวที่ผลิตในประเทศมีสัญญาณต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น การส่งออกยังขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาท มีทิศทางอ่อนค่าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐ
"เงินเฟ้อในไตรมาสแรกมีโอกาสจะขยายตัว ได้มากกว่าระดับที่ประมาณการไว้ที่ 0.86% ซึ่งอาจจะอยู่ในระดับ 1% ได้ เนื่องจากช่วงเดือนกุมภาพันธ์จะมีการเลือกตั้งคาดว่าจะส่งผลให้มีการใช้จ่ายเพิ่มในสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียง เช่น วัสดุอุปกรณ์ทำป้ายผู้ลงสมัคร, รถกระบะ เป็นต้น อีกทั้งยังมีผลต่อความเชื่อมั่นของทั้งประชาชน และนักลงทุนในการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นตามไปด้วย"