- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Saturday, 03 May 2014 18:52
- Hits: 6623
พาณิชย์ เผย ญี่ปุ่นเปิดเกมรุกขยายห่วงโซ่อุปทานในอาเซียนหวังเป็นสะพานเชื่อมโยงสู่ตลาดในเอเชียและแอฟริกา
นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นับจากอาเซียนได้มีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) และได้ลดภาษีการค้าระหว่างกันตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2552 เป็นต้นมา ส่งผลให้การค้าของทั้งสองฝ่ายขยายตัวและมีขนาดใหญ่ขึ้น ในปี 2556 มูลค่าการค้าทั้งสองฝ่าย 228,812 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2552 และญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากจีน : 442,621.01 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ด้านการลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในอาเซียนเป็นอันดับ 1 โดยในปี 2555 มูลค่าการลงทุน 1.22 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 12% ของการลงทุนของญี่ปุ่นทั่วโลก ซึ่งเป็นการลงทุนในไทยมากที่สุด (32%) รองลงมาเป็นฟิลิปปินส์ (24%) และมาเลเซีย (12%) ปัจจุบันญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อการเติบโตของอาเซียนเป็นพิเศษโดยเฉพาะนโยบาย ‘อาเบะโนมิกส์’ ที่เน้นย้ำความสัมพันธ์กับอาเซียนในหลายด้าน ทั้งการลงทุน ความช่วยเหลือ และพัฒนาด้านต่างๆ เห็นได้จากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในอาเซียนมากกว่า 5,000 บริษัท ซึ่งญี่ปุ่นมองว่าอาเซียน เป็นแหล่งผลิตและส่งออกที่สำคัญ เป็นแหล่งห่วงโซ่อุปทานสินค้า และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้อาเซียนยังเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการป้อนให้กับสายการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นที่มีเครือขายในเอเชีย อินเดีย จีน และแอฟริกาด้วย เช่น บริษัทผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนกระจายอยู่หลายประเทศในอาเซียน ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
นางอัมพวัน พิชาลัย ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า อาเซียนมีความสำคัญต่อญี่ปุ่นและญี่ปุ่นก็ให้ความสำคัญกับอาเซียน แต่ความท้าทายของอาเซียนคือความเหลื่อมล้ำในระดับการพัฒนาระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกัน ซึ่งมีผลกระทบต่อความเข้มแข็งของอาเซียน เช่น ค่าเฉลี่ยของ GDP สิงคโปร์สูงกว่าอาเซียน 14 เท่า สูงกว่าพม่า 87 เท่า ด้านประชากรอินโดนีเซียมีประชากร 245 ล้านคน (40% ของอาเซียน) มากกว่าบรูไน 570 เท่า มีความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้อินโดนีเซียสูงกว่าลาวมาก ซึ่งเหล่านี้อาเซียนจะต้องพยายามลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศสมาชิกอย่างจริงจัง ซึ่งญี่ปุ่นเองก็มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าว เช่น แนวคิด Thailand plus one ที่จะใช้ไทยเป็นฐานในการขยายการค้า/การลงทุนสู่ประเทศในอาเซียน และการช่วยเหลือเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค
แต่อย่างไรก็ตาม จากแนวคิดดังกล่าวนี้ ตนมองว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม low tech และอุตสาหกรรมปลายน้ำของไทยซึ่งจะถูกผ่องถ่ายไปสู่ประเทศอื่นๆในอาเซียนที่มีค่าแรงงานถูกกว่า เช่น อุตสาหกรรมเสื้อผ้า ประกอบยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ ด้านอุตสาหกรรมต่อเนื่องจะต้องหันไปใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เช่น การมีศูนย์วิจัยพัฒนารถยนต์ต้นแบบและศูนย์ทดสอบเป็นของตนเอง ส่วนภาคบริการก็ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเช่นกันเพื่อให้การบริการเป็นที่น่าเชื่อถือได้ ปลอดภัย เช่น การตรวจสอบผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิที่เข้มงวดและไฮเทคที่จะสร้างความมั่นใจต่อผู้โดยสาร รวมถึงการเข้าสู่ยุค 4G ซึ่งอาเซียนจำเป็นต้องมีการบริการผ่านช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดียให้มากขึ้นด้วย
สำหรับอาเซียนมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย มีประชากรรองจากจีนและอินเดีย มี GDP รองจากจีนและญี่ปุ่น และในอนาคตปี 2563 คาดว่าจะมีคนชั้นกลางในเอเชีย 1.75 พันล้านคน ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจของจีน อินเดีย และอาเซียน ดังนั้น การสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (Strategic Alliance) เป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเพื่อขยายตลาดสินค้าและบริการของอาเซียนร่วมกันในอนาคต
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย