- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Sunday, 18 May 2014 23:19
- Hits: 3346
พาณิชย์ สั่งห้างตรึงราคาอาหารจานด่วนอีก 6 เดือน พบจำหน่ายเกินราคา มีโทษจำคุก 7 ปี หรือปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และห้างสรรพสินค้า เพื่อหามาตรการดูแลราคาอาหารปรุงสำเร็จร่วมกับ เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี เดอะมอลล์ เซ็นทรัล และท็อปส์ ซุปเปอร์มาเก็ต ว่า ได้ขอความร่วมมือให้ห้างตรึงราคาอาหารที่จำหน่ายในฟูดคอร์ท 6 เดือน โดยให้ยืนราคาเดิมที่จำหน่ายอยู่ในขณะนี้ ห้ามปรับขึ้น ทั้งนี้ กรมฯ ขอให้ห้างส่งรายละเอียดราคาที่จำหน่ายในแต่ละห้างมายังกรมฯ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูล ขณะที่สัปดาห์หน้ากรมการค้าภายในจะส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบราคาอาหารแต่ละห้าง เพื่อเป็นฐานข้อมูลไม่ให้ปรับราคาในช่วงเวลาดังกล่าว
พร้อมกันนี้ กรมการค้าภายใน ได้กำหนดราคารายการอาหารแนะนำ 10 รายการ โดยได้ปรับขึ้นจากราคาแนะนำเมื่อ 2 ปีก่อน เพราะพบว่าต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นจริง ทั้งเนื้อหมู ไข่ไก่ ผัก และก๊าซหุงต้ม และยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่สูงขึ้น โดยราคาดังกล่าวได้มีการวิเคราะห์ภายใต้ต้นทุนที่เป็นจริง และหาราคาที่เหมาะสมออกมาโดยให้มีผลตั้งแต่ 26 พฤษภาคมเป็นต้นไป
สำหรับเมนูแนะนำ 10 รายการ ได้แก่ ข้าวไข่เจียวธรรมดา ข้าวราดแกง 1 อย่าง ข้าวราดแกง 2 อย่าง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวกะเพรา ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ผัดซีอิ๊ว ข้าวขาหมู และขนมจีน โดยแยกราคาเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ห้างที่เป็นดิสเค้าทน์สโตร เช่น บิ๊กซี โลตัส และท็อป ราคาเริ่มที่ 25 บาท ไม่เกิน 40 บาท ส่วนกลุ่มที่ 2 ห้างสรรพสินค้าทั่วไป เช่น เดอะมอลล์ เซ็นทรัล ราคาเริ่มที่ 25 บาท ไม่เกิน 45 บาท
"การปรับขึ้นราคาครั้งนี้ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อาทิ ไข่ไก่ เพิ่มจากฟองละ 2.83 บาท เป็น 3.70 บาท หมูเนื้อแดงจากกิโลกรัมละ 115 บาท เป็น 160 บาท และแก๊สหุงต้มขนาด 15 กิโลกรัม เพิ่มจากถังละ 295 บาท เป็น 362 บาท"นายสันติชัยกล่าว
ทั้งนี้ หากพบว่าร้านจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จ ยังจำหน่ายเกินราคาแนะนำใน 10 รายการ จะใช้กฎหมายว่าด้วยสินค้าและบริการ มาตรา 29 มาบังคับใช้ มีโทษจำคุก 7 ปี หรือปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ กรมการค้าภายใน ร่วมกับห้างบิ๊กซี และเทสโกโลตัส จัดทำโครงการฟูดคอร์ทธงฟ้า ลดราคารายการอาหารที่ขายในปัจจุบัน โดยบิ๊กซีกำหนดจัดแคมเปญลดราคาพิเศษวันที่ 31 พฤษภาคม - 29 มิถุนายน 2557 ส่วนเทสโกโลตัสอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
ห้างใหญ่ยอมตรึงราคาอาหาร 6 เดือนพาณิชย์จัดเมนูแนะนำ10รายการ'ข้าวไข่เจียว'ห้ามขายเกิน25บาท
แนวหน้า : 'กรมการค้าภายใน'ขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้า ตรึงราคาอาหารในร้านฟู้ดคอร์ท 6 เดือน พร้อมจัดราคาหารแนะนำขึ้น 10 เมนู เริ่ม 26 พ.ค. นี้ เตือนหากพบผู้ฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย ยอมรับราคาจานด่วนมีราคาสูงขึ้นจานละ 5 - 10 บาท
นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ได้หารือร่วมกับตัวแทนห้างค้าปลีก โดย กรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือห้างค้าปลีก ห้างเทสโก้โลตัส, ห้างบิ๊กซี, ห้างเดอะมอลล์, ห้างเซ็นทรัล, ห้างตั้งฮั่วเส็ง และท็อปส์ ตรึงราคาอาหารในฟู้ดคอร์ทที่จำหน่ายในปัจจุบันไว้ที่เดิม เป็นเวลา 6 เดือนนับจากวันนี้เป็นต้นไป เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตอาหารทำการขึ้นราคาอาหารในฟู้ดคอร์ทขึ้นจากปัจจุบันที่มีราคาค่อนข้างสูงอยู่แล้ว
พร้อมกันนี้ ได้ขอความร่วมมือให้คงราคาอาหารเมนูแนะนำ 10 เมนู ไว้เท่ากันทุกห้าง โดยแบ่งเป็นห้าง 2 กลุ่ม คือกลุ่มห้างค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดใหญ่(ดิสเค้านท์สโตร์)อาทิ บิ๊กซี, โลตัส, ท็อปส์ ซึ่งมีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก และกลุ่มห้างสรรพสินค้า เดอะมอลล์, เซ็นทรัล ซึ่งเป็นลูกค้าเฉพาะที่มีกำลัซื้อมาก โดยทั้ง 2 กลุ่มจะมีราคาอาหารต่างกันประมาณ 5 บาทต่อจาน ซึ่งจะให้เวลาร้านค้าในฟู้ดคอร์ดเริ่มจำหน่ายในราคาแนะนำ ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม2557 เป็นต้นไป
สำหรับ ราคาอาหารแนะนำ 10 เมนู ได้แก่ ข้าวไข่เจียวธรรมดา(ไข่ 1 ฟอง) 25 บาท, ข้าวราดแกง(กับข้าว 1 อย่าง) ห้างดิสเค้าทน์สโตร ราคา 30-35 บาทต่อจาน ห้างสรรพสินค้า ราคา 35-40 บาทต่อจาน, ข้าวราดแกง(กับข้าว 2 อย่าง) ก๋วยเตี๋ยว ข้าวกะเพรา ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยวราดหน้า ผัดซีอิ๊ว ข้าวขาหมู และขนมจีน ซึ่งห้างดิสเค้าทน์สโตร จะจำหน่ายในราคา 35-40 บาทต่อจาน ส่วนห้างสรรพสินค้า หน่ายในราคา 40-45 บาทต่อจาน
ส่วนราคาจำหน่ายอาหารทั่วไปจะอยู่ที่ ประมาณ 25-35 บาทต่อจาน สำหรับการที่ราคาอาหารมีราคาสูงขึ้นจานละ 5 - 10 บาท เมื่อเทียบจากเมื่อ 2 ปีก่อน เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ทั้ง เนื้อหมู ไข่ไก่ แก๊สหุงต้ม เป็นต้น การให้คงราคาไว้ตามเดิมอาจเป็นการเอาเปรียบผู้ค้าเกินไป และการให้จำหน่ายในราคาดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นการค้ากำไรเกินควร
ทั้งนี้ กรมการค้าภายในจะมีการดูแลปัญหาราคาอาหารอย่างใกล้ชิด และหากตรวจพบการกระทำผิด หรือพบมีการค้ากำไรเกินควร ทางกรมฯจะเรียกผู้ประกอบการเข้าพบ เพื่อให้ชี้แจงเหตุผลการจำหน่ายในราคาดังกล่าว หากไม่สามารถให้คำอธิบายที่สมเหตุสมผลได้จะมีการดำเนินตามกฎหมายว่าด้วยสินค้าและบริการมาตรา 29 มาบังคับใช้ โดยจะมีโทษจำคุก 7 ปี หรือปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรมการค้าภายในได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบราคาอาหารอย่างต่อเนื่อง หากพบการฝ่าฝืนก็จะเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดขึ้น เช่น กำหนดราคาอาหารปรุงสำเร็จเป็นสินค้าควบคุม
ส่วนความคืบหน้าการดูแลเรื่องขนาดบรรจุผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานเดียวของสินค้า 3 ชนิดประกอบด้วย สบู่ แชมพู ผงซักฟอกนั้น ทางกรมฯได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทำหนังสือถึงสมาคมผู้ประกอบการสินค้าในกลุ่มชำระล้างให้จัดส่งรายละเอียดเกี่ยวกับขนาดบรรจุภัณฑ์และขนาดจำหน่ายแต่ละชนิดมาให้กรมตรวจสอบว่ามีขนาดและราคาที่จำหน่ายเหมาะสมหรือไม่ ในสิ้นเดือนนี้จะได้รับรายละเอียดการกำหนดแนวทางร่วมกัน
โดยก่อนหน้านี้มีการร้องรียนว่า มีการปรับลดขนาดผลิตจภัณฑ์ลงมา เพื่อเลี่ยงการปรับขึ้นราคา
โทษการเมืองยืดเยื้อ 3 กรมภาษีผลงานแย่รีดต่ำเป้า 8.1หมื่นล.
ไทยโพสต์ : ไทยโพสต์ * คลังจัดเก็บรายได้ 7 เดือน 1.07 ล้านล้านบาท 3 กรมภาษีผลงานสุดแย่ ต่ำเป้า 8.14 หมื่นล้านบาท พิษการเมืองยืดเยื้อ เศรษฐกิจซึม ฉุดบริโภคชะลอ ส่งออกยังซึม บัญชีกลางฟุ้งเบิกจ่ายงบฉลุย
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ปัจจัยทางการเมืองยังคงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการใช้จ่ายในประเทศ รวมถึงภาคการค้าระหว่างประเทศที่ยังคงหดตัว ทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนแรกปีงบประมาณ 2557 (ต.ค.56-เม.ย.57) อยู่ที่ 1.07 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 3.23 หมื่นล้านบาท หรือ 2.9% เนื่องจากภาษีที่จัดเก็บจากฐานการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เป็นผลมาจากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้า
สำหรับ ภาษีที่จัดเก็บจากฐานการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตรถยนต์และภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากอุปสงค์รถยนต์ในประเทศที่หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการขยายระยะเวลาการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน ส่วนการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาห กิจและการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นที่สูงกว่าประมาณการยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้รวม 8.16 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 3.6 หมื่นล้านบาท หรือ 4.2% โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย 2.27 หมื่นล้านบาท หรือ 5.2% ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย 7.71 พันล้านบาท หรือ 4.3% ภาษีเงินได้นิติบุคคล จัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมาย 6.33 พันล้านบาท หรือ 3.4% กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 2.38 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 3.09 หมื่นล้านบาท หรือ 11.5% กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 6.2 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 1.45 หมื่นล้านบาท หรือ 18.9%
ทั้งนี้ 3 กรมภาษีเก็บรายได้ต่ำเป้ารวมกัน 8.14 หมื่นล้านบาทสำหรับรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ 1 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 2.35 หมื่นล้านบาท หรือ 30.9%
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า การเบิกจ่ายเงินงบประมาณปี 2557 ณ วันที่ 9 พ.ค.2557 อยู่ที่ 1.45 ล้านล้านบาท หรือ 57.50% สูงกว่าเป้าหมาย 1.5% การเบิกจ่ายงบลงทุน 1.77 แสนล้านบาท หรือ 41.55% ต่ำกว่าเป้าหมาย 7.83% ส่วนการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 1.27 ล้านล้านบาท หรือ 60.75%