- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Friday, 19 September 2014 22:49
- Hits: 2716
ไซเตส ขีดเส้นตายไทยทำแผนป้องกันการค้างาช้างผิดกฎหมาย
ไทยโพสต์ : ประเทศภาคีของอนุสัญญาไซเตสหมดความอดทนต่อการแก้ไขปัญหาการควบคุมการฟอกงาช้างผิดกฎหมายในประเทศไทย ที่ถึงแม้ว่าจะถูกแจ้งเตือนมาเป็นเวลากว่า 10 ปี แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ที่เป็นรูปธรรม จึงกำหนดเส้นตายให้ไทยต้องปรับปรุงแผนปฏิบัติการ เพื่อแก้ปัญหา รวมทั้งดำเนินการตามแผนให้บรรลุผลภายในไตรมาสแรกของปี 2558 มิเช่นนั้น ไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกระงับการค้าสินค้าไซเตส
โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาไซเตส ครั้งที่ 65 เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2557 ได้ประเมินผลการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาไซเตสในเรื่องงาช้าง ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่น่าห่วงกังวลอย่างมาก (Primary Concern) มาแล้วหลายปี และในครั้งนี้ ที่ประชุมยังคงไม่พอใจต่อการดำเนินการของประเทศไทยเป็นอย่างมาก และได้กดดันให้ไทยต้องปรับปรุงตัวเองมากกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันอย่างเร่งด่วน มิฉะนั้น อาจต้องพิจารณาลงโทษไทยตามระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ
ข้อแนะนำสำหรับประเทศไทยจะต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่
1.การออกกฎหมายที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้ช้างแอฟริกาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองภายใต้กฎหมายสัตว์ป่า เพื่อให้สามารถควบคุมการค้างาช้างในประเทศและการครอบครองงาช้างได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้มีบทกำหนดโทษที่เข้มงวดกับผู้ที่ครอบครองงาช้างโดยผิดกฎหมายหรือค้างาช้างในประเทศอย่างผิดกฎหมาย
2.การออกกฎหมายที่กำหนดให้มีระบบการจดทะเบียนงาช้างในประเทศ(domestic ivory) อย่างครบวงจร (a comprehensive registration system) รวมถึงกำหนดให้มีระบบการจดทะเบียนและออกใบอนุญาต (licensing) ให้กับผู้ค้างาช้าง (ivory traders) ที่มีประสิทธิภาพ และการบังคับใช้กฎหมายและบทกำหนดโทษในกรณีของการกระทำผิดกฎหมาย
3.การเพิ่มความพยายามในการติดตามและควบคุมผู้ค้างาช้างและข้อมูลงาช้าง (ivory data) เพื่อบังคับใช้กฎหมายต่อการค้างาช้างที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการกำหนดตัวชี้วัดของการดำเนินการด้วย
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการถูกลงโทษทางการค้าในกลุ่มสินค้าภายใต้อนุสัญญาไซเตส หากไทยไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิผลภายในเดือนมีนาคม 2558
ทั้งนี้ ประเทศไทยต้องปรับปรุงแผนปฏิบัติการงาช้างของชาติ (National Ivory Action Plan) เพื่อยื่นต่อเลขาธิการอนุสัญญาไซเตสภายในวันที่ 30 กันยายน 2557 จากนั้นต้องยื่นรายงานความก้าวหน้า ในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 15 มกราคม 2558 และครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 ซึ่งหากผลการประเมิน ยังไม่เป็นที่พอใจ ไทยอาจถูกมาตรการลงโทษทางการค้า
ที่ผ่านมา มาตรการสูงที่สุดที่ประเท ศภา คีอนุสัญญาไซเตสเคยถูกลงโทษ คือ การคว่ำบาตรการค้าเชิงพาณิชย์ของสินค้าทุกประเภทที่อยู่ในความควบคุมของอนุสัญญาไซเตส การถูกลงโทษนี้ นอกจากจะก่อให้เกิดผลกระทบทางการค้าระหว่างประเทศในวงกว้างแล้ว ยังบั่นทอนความน่าเชื่อถือของประเทศในการดำเนินการตามพันธกรณีของอนุสัญญาระหว่างประเทศที่สำคัญมากฉบับหนึ่งของโลก ถึงแม้ว่าภายใต้อนุสัญญาไซเตส ไทยจะสามารถค้างาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้างได้ แต่จำกัดเฉพาะการค้าในประเทศสำหรับงาช้างและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากช้างบ้านที่ถูกกฎหมายเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำเข้าหรือส่งออกงาช้างหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้องรวมทั้งห้ามการค้างาช้างป่าหรืองาช้างแอฟริกาโดยเด็ดขาด
ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมายตามคำแนะนำของคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาไซเตสดังกล่าวให้เป็นผลสำเร็จนั้น นอกจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งรัดการจัดทำและแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ เพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินการแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมให้ทันตามกำหนดเวลาแล้ว ยังจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป รวมถึงนักท่องเที่ยว ไม่ส่งเสริมการค้างาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้าง และไม่พกพางาช้างหรือผลิตภัณฑ์จากงาช้าง ไม่ว่าจะได้มาจากงาช้างที่ถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ติดตัวเข้ามาหรือออกไปนอกราชอาณาจักรโดยเด็ดขาด
อนุสัญญาไซเตส หรืออนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora - CITES) เป็นอนุสัญญาด้านการค้าระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า และพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์หรือถูกคุกคาม อันทำให้ปริมาณร่อยหรอจนอาจเป็นเหตุให้สูญพันธุ์ได้ วิธีการอนุรักษ์กระทำโดยการสร้างเครือข่ายทั่วโลก ในการควบคุมการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ทั้งสัตว์ป่า พืชป่าและผลิตภัณฑ์โดยใช้ระบบใบอนุญาต (Permit) โดยสัตว์ป่าและพืชป่าที่อนุสัญญาควบคุมจะต้องมีใบอนุญาตในการนำเข้า (Import) ส่งออก (Export) นำผ่าน (Transit) และส่งกลับออกไป (Re-Export) ทั้งนี้ อนุสัญญาไซเตสไม่ควบคุมการค้าภายในประเทศสำหรับชนิดพันธุ์ท้องถิ่น (Native Species)ประเทศภา คีอ นุสัญญารวมทั้งไทย มีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามที่สำคัญ คือ ต้องกำหนดมาตรการมิให้มีการค้าสัตว์ป่า พืชป่าที่ผิดระเบียบอนุสัญญาฯ โดยมีมาตรการลงโทษผู้ค้า ผู้ครอบครอง ริบของกลางและส่งของกลางกลับแหล่งกำเนิด
กรณีที่ทราบถึงถิ่นกำเนิด ต้องตั้งด่านตรวจสัตว์ป่า พืชป่าระหว่างประเทศ เพื่อควบคุมและตรวจสอบการค้าสัตว์ป่า พืชป่า และการขนส่งที่ปลอดภัยตามระเบียบอนุสัญญาฯ ต้องส่งรายงานประจำปี (Annual Report) เกี่ยวกับสถิติการค้าสัตว์ป่า พืชป่าของประเทศตนต่อสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาฯ ต้องจัดตั้งคณะทำงานฝ่ายปฏิบัติการ(Management Authority) และคณะทำงานฝ่ายวิทยาการ (Scientific Authority) ประจำประเทศ เพื่อควบคุมการค้าสัตว์ป่า พืชป่า และมีสิทธิเสนอขอเปลี่ยนแปลงชนิดพันธุ์ในบัญชี Appendix I-II-III ให้ประเทศภาคีพิจารณา
สำหรับ ผู้ที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการเสนอแนะข้อคิดเห็น สามารถติดต่อกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ Call Center 0 2507 7555 หรือทาง www.dtn.go.th, www.thailandaec.com, www.facebook.com/TradeNegotiations และ http://twitter.com/dtn_thailand
ไทยมีความเสี่ยงต่อการถูกลงโทษทางการค้าในกลุ่มสินค้าภายใต้อนุสัญญาไซเตสหากไทยไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิผลภายในเดือนมีนาคม 2558