- Details
- Category: พาณิชย์
- Published: Thursday, 18 September 2014 22:49
- Hits: 2583
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าวาง 3 ขั้นตอนเร่งพัฒนาศักยภาพธุรกิจให้บริการสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ
นางสาวพิกุล ทักษิณวราจาร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวถึงธุรกิจให้บริการขนส่งและขนถ่ายสินค้า บริการคลังสินค้า และธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ว่าธุรกิจเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ให้กับธุรกิจภาคอื่นๆ เป็นธุรกิจหลักที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบการค้าและเศรษฐกิจของประเทศ เป็นสาขาธุรกิจที่เร่งรัดเปิดเสรีภายใต้ความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (AFAS) โดยตั้งแต่ปี 2556 ผู้ประกอบธุรกิจในอาเซียนสามารถถือหุ้นในประเทศสมาชิกได้ถึง 70% กรมฯได้ส่งเสริมพัฒนาธุรกิจของคนไทยให้มีศักยภาพ โดยยกระดับคุณภาพธุรกิจของคนไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล สามารถแข่งขันได้
"ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ 19,332 ราย มีทุนจดทะเบียนรวม 811,525.96 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 31 ส.ค. 2557) สามารถสร้างรายได้กว่า 700,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี และอยู่ในภาคการขนส่งที่มีการแข่งขันสูงคิดเป็น 75.45%"
อย่างไรก็ตาม กรมฯ จึงได้ส่งเสริมพัฒนาธุรกิจด้วยกลยุทธ์บันได 3 ขั้น ประกอบ การสร้างองค์ความรู้และเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจ การยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจและมาตรฐานสากล และการสร้างโอกาสทางการตลาด และเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจสู่สากล สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ฉบับที่ 2 (2556-2560) ที่เน้นส่งเสริมพัฒนาธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง มีมาตรฐานทัดเทียมสากล ขณะนี้มีธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ที่มีการยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพแล้ว 206 ราย
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าการลดต้นทุนภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่สะท้อนประสิทธิภาพการบริหารจัดการในภาคอุตสาหกรรม โดยในปี 2557 จากการสำรวจพบว่า ต้นทุน โลจิสติกส์ต่อยอดขายของกลุ่มอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในปี 2555 พบว่าต้นทุนโลจิสติกส์ต่อยอดขายอยู่ที่ 7.27% ลดจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 8.47% ขณะที่ปี2557คาดว่าต้นทุนโลจิสติกส์ลดลงต่ำกว่า 7% ซึ่งต้นทุนโลจิสติกส์ประกอบด้วยต้นทุนสินค้าคงคลัง ต้นทุนการขนส่งสินค้า และต้นทุนบริหารจัดการ ในส่วนของต้นทุนสินค้าคงคลังนั้นยังสามารถลดลงได้อีก
นายปณิธาน จินดาภู อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรมกว่า 30 โครงการของสำนักโลจิสติกส์ ช่วยลดต้นทุนได้กว่า 3,500 ล้านบาท พัฒนาบุคลากรกว่า 7,500 คน สามารถดึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหม่มากกว่า 500 รายเข้าร่วมโครงการต่างๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านโลจิสติกส์
สำหรับ การพิจารณาระบบโลจิสติกส์ในภาคอุตสาหกรรมไทย พบว่าอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน รองมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งมีการใช้งานระบบไอทีเข้มข้น และมีโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์กว่า แต่หากพิจารณาจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมแล้ว ไทยมีอัตราผลิตภาพที่สูง ดังนั้นหากเร่งรัดพัฒนาด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เชื่อว่าในอนาคตไทยสามารถยกระดับมาตรฐานขึ้นอยู่ในระดับผู้นำอาเซียนได้
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย